สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กระบวนทัศน์ในแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

พระพุทธศาสนา : กระบวนทัศน์ในแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะ

พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันโดษ สันโดษ ความหมายตามตัวอักษรหมายถึง "ความยินดีในของของตน" (โดยไม่แย่งชิงกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น) คำว่าสันโดยที่นำเอามาใช้เป็นภาษาไทย มาจากภาษาสันสกฤตว่า สํโตษะ คือความยินดี ความพอใจพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมาย คำว่าสันโดษว่า "ความยินดีหรือความพอใจเท่าที่ตนมีอยู่; มักน้อย" (อัปปิจฉตา) ซึ่งตรงข้ามกับมหิจฉตา ที่แปลว่า "มักมาก" ในของของผู้อื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่นคำว่า สันโดษ หากเป็นภาษาบาลี มาจากศัพท์ว่า สนฺโตสะ และมีอีกศัพท์หนึ่งว่า สนฺตุฏฺฐิ (สันตุฎฐี) ซึ่งก็หมายถึง "ยินดีด้วยของของตน" เช่นกัน จะเห็นได้ พบได้ในพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า "สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ" แปลตามที่ท่านแปลกันมาว่า "ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง" และอีกบทหนึ่งว่า "ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ" แปลว่า "ได้สิ่งใดพึงพอใจในสิ่งนั้น"มีข้อน่าสังเกตว่า "ตุฎฺฐพฺพํ" ที่แปลว่า "สันโดษ" แปลว่า "พอใจ" ก็ได้ ส่วนในปทานุกรมบาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (หน้า 774) มีว่า "สันโดษที่เป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า สนฺตุฏฺโฐ ภาษาสันสกฤตว่า สํตุษฺฎิ ก็มีความหมายเช่นเดียวกับที่ได้ยกนำมาเสนอ ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ในภาษาอังกฤษ คำว่า Contenment* และ Satisfaction** สำหรับ Contentedness ตรงกับคำว่า สันโดษ ซึ่งให้ความหมายว่า "พอใจ; สันโดษ; พอความต้องการ" ตามความหมายที่ผ่านมา คำว่า "สันโดษ" ไม่ได้แปลหรือมีความหมายว่า ไม่ให้พัฒนาตน สังคม หรือประเทศชาติ แต่ประการใด คำสอนเรื่อง "สันโดษ" เท่ากับสอนให้ "รู้จักพอ" คำว่า "สันโดษ" ทางพระพุทธศาสนามี 3 ประการ คือ

1) ยถาลาภสันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนได้มา โดยชอบด้วยศีลธรรมและนิติธรรม
2) ยถาพลสันโดษ ยินดีตามสมควรแก่กำลังกายและกำลังสุขภาพของตน ไม่ยินดีจนเกินกำลัง
3) ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร ตามที่เหมาะสมแก่ตน แก่ภาวะ ฐานะ และแนวทางในการดำเนินชีวิตของตน

สันโดษทั้ง 3 เป็นไปในปัจจัย 4 (สำหรับบรรพชิตคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลาน เภสัชช์/สำหรับคฤหัสถ์ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) จึงรวมเป็นสันโดษ 12 (3x4=12) สันโดษมีปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์อรรถกถาและฎีกามากมาย ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง การสอนเรื่องสันโดษ เป็นการสอนมิให้มีความปรารถนามาก อยากมีมาก (มหิจฉตา) โลภมาก ในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตนอันที่จริงมีรถ 10 คัน ก็ใช้ได้ทีละคัน มีบ้าน 10 หลัง ก็นอนได้คืนละหลัง จะโลภมาก มักมาก ไปทำไมกัน คำสอนทางพระพุทธศาสนามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น 3 ปิฎก คือ

1) พระวินัยปิฎก 21,500 พระธรรมขันธ์
2) พระสุตตันตปิฎก 21,500 พระธรรมขันธ์
3) พระอภิธัมมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงสอนให้สันโดษเท่านั้น ยังมีคำสอนที่ให้ขยันหมั่นเพียร (อุฏฐานะ) มีความเพียร (วิริยะ/วายามะ) ให้มีการเก็บรักษา (อารักขา) คบเพื่อนดี (กัลยาณมิตร) เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพพอสมควร ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ฝืดเคืองเกินไป (สมชีวิตา) เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัว พอเหมาะพอสม สันโดษ มิได้หมายความว่า สอนให้งอมืองอเท้า ไม่ขวนขวายศึกษาเล่าเรียน ไม่ประกอบการงานอาชีพแต่อย่างไร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้อีกว่า ต้องมีอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)คือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มีคำสอนที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) เช่นจักร 4 คือธรรมะที่นำชีวิตไปสู่ความรุ่งเรือง ดุจล้อรถนำรถไปสู่ที่หมายฉะนั้น (มีปฏิรูปเทสวาส อยู่ที่ในถิ่นที่ดี สัปปุริสปัสสยะ สมาคมกับสัตบุรุษ คือคนดี อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ทำดีไว้ก่อน) จักร 4 นี้ เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า "พุทธธรรม" คือธรรมอันมีอุปการะมาก (Virtues of great assistance) ช่วยให้ชีวิตประสบความก้าวหน้า เจริญงอกงามไพบูลย์ตลอดไป วุฒิธรรม 4 คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ 4 มี (สัปปุริสสํเสวะ คบคนดีเป็นสัตบุรุษ สัทธัมมัสสวนะ ฟังพระสัทธรรม เอาใจใส่ในการศึกษาหาความรู้ โยนิโสมนสิการ คิดหาเหตุผลโดยถูกวิธี พิจารณาในใจโดยวิธีอันแยบคาย/แยบยล ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม) พระพุทธศาสนามีภาษิตว่า มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ ความรู้จักประมาณ (ความรู้จักพอ) จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เรามีมัชฌิมา ความรู้จักประมาณ ปฏิบัติแบบสายกลาง มีอัตตัญญุตา ให้รู้จักประมาณตนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติ มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง พัฒนาสังคม ประเทศชาติให้เจริญพัฒนามีมากมายครับ เพราะฉะนั้นมองอะไรอย่ามองด้านเดียว ต้องมองอย่างขึ้นที่สูงมอง หรือต้องมองอย่างนกมอง (bird's eye view) คำว่าสันโดษนี้ อาจได้แปลว่า "พอ, ความพอ, ความรู้จักพอ" คนรู้จักพอ จึงจะเป็นคนร่ำรวย คนไม่รู้จักพอจึงเป็นคนจนอยู่ตลอดกาล คนไม่รู้จักพอ จึงเท่ากับเป็นคนมีไม่พอ พอไม่มีนั่นเอง หากบุคคลในสังคมมีคำว่าพอแล้วย่อมไม่ก่อสร้างปัญหาใดๆ ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ

วิกฤติทางการเมือง
วิกฤติด้านเศรษฐกิจ
วิกฤติด้านสังคม
วิกฤติสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอแนะ
บทสรุปและวิเคราะห์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย