สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
กระบวนทัศน์ในแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
พระพุทธศาสนา : กระบวนทัศน์ในแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
วิกฤติด้านเศรษฐกิจ
คนเราเมื่อเกิดมาแล้ว จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันไปได้อย่างมีความสุขความเจริญ ตลอดทั้งประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของชีวิต จำเป็นต้องอาศัยเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิดอย่างน้อยก็ต้องอาศัยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคและก็ต้องมีอย่างเพียงพอที่เรียกว่า อยู่ดีกินดีถ้าแต่ละคนมีการอยู่ดีกินดี ก็ย่อมจะทำให้สังคมมีความมั่นคง แต่ถ้าแต่ละคนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมส่วนใหญ่มีความเดือนร้อนในเรื่องการกินดีอยู่ดี ก็ย่อมจะเป็นสาเหตุนำความอ่อนแอมาสู่สังคม สังคมย่อมมีแต่ความเดือดร้อน เป็นหนี้เป็นสินกันมาก มีการทำผิดกฏหมายบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายมากขึ้นปรากฎการณ์ทางสังคมเช่นนี้ สาเหตุที่แท้จริงก็เนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในชีวิตประจำวันของมวลมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ต้องดิ้นรนในแต่ละวันก็ไม่ใช่อื่นไกลก็เพื่อปากเพื่อท้องที่เรียกว่า ทำมาหากินนั่งเอง
2.1 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ
1) ปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เผชิญกับปัญหานี้ บางคนแม้มีหน้าที่การงานทำแล้ว บางคนจบการศึกษาเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนถึงกับแต่งงานแล้ว บางคนมีงานทำได้รับเงินเดือนมากพอสมควรแต่ก็ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวในทางเศรษฐกิจได้ บางคนแม้มีอายุมากถึงวัยกลางคนแล้ว หรือบางคนแม้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยแต่ก็ยังไม่สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองในทางเศรษฐกิจได้ และบางคนเคยมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างไร แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปหลายปีก็ตาม ก็ยังคงสภาพฐานะเดิม ไม่สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ บุคคลต่าง ๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมานี้เป็นผู้เผชิญกับปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้ทั้ง ๆ ที่สภาพแวดล้อมภายนอกและตัวเองก็สูงวัยพอสมควร น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ ปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้น่าจะลดน้อยถอยลงมากกว่านี้ แม้มีครอบครัวแล้วก็ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่ หรือโตแล้วก็เหมือนไม่โต ชนิดที่เลี้ยงไม่รู้จักโต สำหรับปัญหาดังกล่าว ได้มีหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นธรรมะเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครอบครัวถ้าได้นำเอาไปเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจในชีวิตประจำวันแล้ว ก็เชื่อได้ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการตั้งเนื้อตั้งตัวไม่ได้อย่างแน่นอน หลักธรรมดังกล่าว มีดังนี้
2) ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากเป็นปัญหาหนึ่งก็คือ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยก็รวยเหลือเกิน ส่วนคนจนก็จนมากเหลือเกิน หรือคนร่ำรวยมีจำนวนน้อยแต่มีรายได้มาก ขณะเดียวกัน คนจนมีจำนวนมากและมีรายได้ต่ำมาก เมื่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้คนจนมีความเดือนร้อนเป็นทุกข์และก็มีโอกาสที่จะยากจนมากยิ่งขึ้น เมื่ออยากจะทำอะไรก็มักจะติดขัดกลายเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาไปเสียหมด และโอกาสที่จะต้องกู้หนี้ยืมสิ้นก็มีมากขึ้น ความยากจนก็ดี การกู้หนี้ยืมสินก็ดี ล้วนแต่เป็นสาเหตุแห่งความเดือดร้อนทั้งสิ้น
3) ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลาง คือ เงินไวจับจ่ายใช้สอยบำบัดทุกข์บำรุงสุข เมื่อมีงานทำ ก็ย่อมจะได้เงินเป็นค่าตอบแทน ดังคำขวัญที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ก็ย่อมมีผู้ที่เป็นเจ้าของงานในฐานะนายจ้าง และผู้ทำงานในฐานะลูกจ้าง นานจ้างกับลูกจ้างนี้ ก็มักจะมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุความขัดแย้งอาจมีมากมายหลายอย่าง เช่น ลูกจ้างไม่สนใจและรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานเท่าที่ควร ขาดประสิทธิภาพในการทำงานหรือมีผลงานออกมาไม่เป็นที่พอใจของนายจ้าง ส่วนนายจ้างก็อาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน นายจ้างใช้วิธีปกครองลูกจ้างไม่เป็นธรรม หรือไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของลูกจ้างที่ต้องการเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างเนื่องจากค่าจ้างต่ำไม่เพียงพอต่อการครองชีพและนายจ้างไม่ยอมขึ้นให้เล่านี้ เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นสังเกตได้ว่าความขัดแย้งต่าง ๆ ถ้าฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งมักเสีย เช่น ถ้านายจ้างขึ้นค่าแรงค่าจ้างแก่ลูกจ้างนายจ้างก็จะรู้ว่า เป็นการเสีย เพราะต้นทุนสูงขึ้น เป็นต้น แต่ความขัดแย้งส่วนมากเกิดขึ้นเนื่องจากลูกจ้างรู้สึกว่า ถูกนายจ้างเอาเปรียบหรือปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างจึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ลูกจ้างต้องการทำให้เกิดสมาคมลูกจ้างและการนัดหยุดงาน เป็นต้น เพื่อให้มีกำลังต่อรองกับนายจ้างในการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ที่ตนต้องการ มีการรวมกำลังลูกจ้างเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างและใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น นัดหยุดงานก็เพื่อให้เกิดอำนาจการเจรจาต่อรอง กล่าวคือ ถ้าอำนาจการเจรจาต่อรองของฝ่ายใดมากว่าก็จะมีสิทธิมีเสียงมากกว่าในการเจรจา ด้วยเหตุนี้ ความขัดแย้งจึงมักจะเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะในการอุตสาหกรรมและสาขาอื่น ๆ นอกจาการเกษตร การหยุดงาน หรือการทำลายซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุการณ์ธรรมดา ในระบบเศรษฐกิจ เป็นการทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมนุษย์ ตลอดทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไปอย่างน่าเสียดายเมื่อมีการหยุดงาน
4) ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม โจรผู้ร้ายปล้นทรัพย์สินของผู้อื่น นอกจากเป็นผู้ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเป็นอาชญากรนำความเดือนร้อนมาสู่สังคมแล้วยังเป็นผู้ประพฤติผิดศีลธรรมและทำลายเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย เพราะเป็นผู้เบียดเบียนเจ้าทรัพย์และถ่วงความเจริญ คือ นอกจากตัวเองจะไม่ประกอบสัมมาอาชีวะแล้วยังขัดขวางผู้อื่นซึ่งทำการประกอบสัมมาอาชีวะเพื่อประโยชน์และความเจริญของบ้านเมืองการแก้ปัญหาโจรผู้ร้าย จะต้องแก้ให้ถูกจุดและผู้ที่จะแก้ไขได้ดี ได้แก่ผู้เป็นหัวหน้าฝูงชนผู้ปกครองหรือผู้บริหารบ้านเมืองโดยจะต้องแก้ไขที่ปัญหาเศรษฐกิจ
2.2 ผลกระทบต่อสังคมไทย
1) ในแง่ของปัจเจกบุคคล คนไทยย่อมกินอยู่อย่างแร้นแค้นอดอยาก ไม่สามารถตั้งตนได้ เป็นต้นไม่สามารถจะกระทำอะไรตามที่ต้องการ
2) ในแง่ของสังคม ย่อมก่อให้เกิดช่องว่างเหลื่อมล้ำกันระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นภาระของสังคมที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ก่อให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่มั่นคงทางสังคม ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมาเช่น ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น
3) ในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจของชาติย่อมเป็นตัววัดคุณภาพของประเทศ คุณภาพของนักปกครอง คุณภาพของประชาชน และการให้ความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ
2.3 พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า จุดประสงค์ของเศรษฐกิจนั้น ก็เพื่อบำบัดหรือสนองความต้องการของมนุษย์ให้เกิดความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ หรือจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็เพื่อให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี หรือมีมาตรฐานในการครองชีพสูงขึ้น ในทางเศรษฐกิจถือว่า ยิ่งมีการอยู่ดีกินดีด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคมากเพียงใด ชีวิตย่อมมีความสุขและสะดวกสบายมากเพียงนั้น และเชื่อว่า เมื่อมีสินค้า และมีการบริการที่ผลิตได้ให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ประชาชนก็จะมีความสุขและความเป็นอยู่ดีขึ้น ความสุขดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่าเป็นความสุขในด้านวัตถุ จะกล่าวว่าความมุ่งหมายของเศรษฐกิจก็เพื่อจะสร้างความสุขใจด้านวัตถุให้แก่มนุษย์นั่นเอง ก็ย่อมเป็นการถูกต้อง พุทธศาสนาก็มีความมุ่งหมายที่จะสร้างความสุขให้แก่มนุษย์เช่นเดียวกัน แต่พุทธศาสนาแบ่งความสุขออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ โลกิยสุข และโกุตตรสุข โลกิยสุข เป็นความสุขของปุถุชนหรือฆราวาสผู้ครองเรือน เป็นความสุขที่พัวพันกับทรัพย์สมบัติและวัตถุกามต่าง ๆ เป็นประเภทอามิสสุข คือสุขที่เจือด้วยอามิสสิ่งของ ความสุขทางเศรษฐกิจก็จัดอยู่ในความสุขประเภทนี้ เพราะเป็นความสุขของการแสดวงหาและได้สิ่งของมาบำบัดความต้องการ ส่วนโลกุตตรสุขเป็นความสุขของผู้สิ้นกิเลสาสวะ และสำเร็จอรหัตผลแล้ว เป็นความสุขที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน ไม่พัวพันอยู่กับวัตถุกามหรืออารมณ์กามใด ๆ เป็นประเภทนิรามิสสุข หรือสุขไม่เจือด้วยอามิส ซึ่งเป็นควาสุขที่เกิดขึ้นได้จากการบรรเทาความต้องการหรือทะยานอยากเสียได้ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากากรให้เสียสละ จะกล่าวว่าเป็นหลักเศรษฐกิจชั้นสูงในทางพุทธศาสนาก็ได้
- 2.3.1 หลักของการพออยู่พอกินในพระพุทธศาสนา
1) ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือหลักสร้างความสำเร็จทันตาเห็น บางทีท่านเรียกว่า หัวใจเศรษฐี (อุ.อา.กะ.สะ.) อันเป็นคำสอนให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ในทางเศรษฐกิจ 4 ประการ คือ
(1) ต้องมีความหมั่น คือ มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ประกอบอาชีพอันสุจริต รู้จักใช้ปัญญาความสามารถจัดการดำเนินการไปให้ได้ผลดี ซึ่งเป็นทางให้ได้ทรัพย์ ข้อนี้ตรงกับหลักเศรษฐกิจข้อแรกคือ Production หลักผลิตกรรม
2) ต้องการรักษา คือ ต้องรู้จักเก็บคุ้มครองทรัพย์ หน้าที่การงานและผลงานที่ตนได้มาหรือได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรนั้น ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสียโดยเฉพาะ ถ้าเป็นทรัพย์ ก็ต้องยิ่งรู้จักเก็บออม ข้อนี้ตรงกับหลัก Saving หลักเก็บออม
3) ต้องเลือกคบคนดีเป็นเพื่อน คือ เลือกคบแต่สุหทมิตร ได้แก่ มิตรแท้ เพื่อนจริง ที่มีอุปการคุณ สมานสุขทุกข์ แนะนำประโยชน์ให้และมีความรักใคร่จริงใจ ถ้าดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทหรือสหกรณ์ ก็จำเป็นต้องเลือกสมาชิกที่ดี ตรงกับหลัก Cooperation หลักสหกรณ์
4) ต้องมีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เลี้ยงชีวิตแต่พอดีมิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ตรงกับหลัก Household Budget งบประมาณประจำบ้านหรือการวางแผนการใช้จ่ายประจำครอบครัว นั่นเอง
- 2.3.2 การเว้นจากอบายมุข (เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์) 4 ประการ คือ
1) จากความเป็นนักเลงหญิงนักเที่ยวผู้หญิง (แม้แต่นักเลงชาย)
2) เว้นจากความเป็นนักเลงสุรานักดื่มนักเสพยาเสพติดประเภทต่าง ๆ
3) เว้นจากความเป็นนักเลงเล่นการพนัน
4) เว้นจากการคบคนชั่วเป็นมิตรสหาย
- 2.3.3 ต้องดำเนินตามกุลจิรัฏฐิติ
เหตุที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่งดำรงอยู่ได้นาน 4 ประการ คือ
1) ของหาย รู้จักเสาะแสวงหาคืนมา
2) ของเก่าของชำรุด รู้จักบูรณะซ่อมแซม
3) รู้จักประมาณความพอดีในการกินการใช้
4) พ่อบ้านแม่บ้านเป็นผู้มีศีลธรรม
เพียงเท่านี้ ก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจส่วนบุคคลหรือครอบครัวได้ เมื่อแก้ที่บุคคลหรือครอบครัวได้ ก็ชื่อว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติได้
- 2.3.4 หลักกตัญญุตา
คือ ความรู้จักประมาณตนหรือรู้จักความพอดีในการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบไม่โลภมากจนเกินไป และเมื่อหามาได้แล้วก็ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วยต้องไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป และต้องมีอัตตัญญุตา คือ ความเป็นผู้รู้จักตนเอง คือ ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีชาติตระกูลยศตำแหน่ง หน้าที่การงานความรู้ความสามารถแค่ไหนเพียงไร แล้วต้องประพฤติตนให้สมกับภาวะนั้น ๆ อย่าหลงตัวเอง อย่าลืมตัวเองเป็นเด็ดขาด เช่น เป็นนายจ้างจะต้องเอาใจใส่ดูแลในเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรมรวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางวิธีที่นายจ้างจะพึงปฏิบัติต่อลูกจ้างไว้ 5 ประการ คือ
(1) จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง เพศ วัย ความสามารถ
(2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
(3) ให้สวัสดิการมีช่วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ เป็นต้น
(4) มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
(5) ปล่อยในสมัย คือ เลิกงานตามเวลา และให้โอกาสพักผ่อนรื่นเริงตามสมควร
การค้าขายเป็นอาชีพที่ยอมรับกันว่า เป็นอาชีพของพลเมืองดีประเภทหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงลักษณะของพ่อค้า ที่อาจสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้แก่ตนได้ว่า ต้องประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ
1) จักขุมา มีหูตาไว้กว้างขวาง สามารถจำแนกต้นทุน กำไร สินค้าต่าง ๆ
ได้เป็นอย่างดีว่า สินค้าชนิดนี้ซื้อมาราคาเท่านี้ ขายราคาเท่านี้จะได้กำไรเท่าไร
เป็นต้น
2) วิธูโร มีความชำนิชำนาญในการค้าเข้าใจในการซื้อสินค้าเข้า จำหน่ายสินค้าออก
รอบรู้การตลาดอำนาจการซื้อของลูกค้า เป็นต้น ไม่ทำให้สินค้าของตนตกค้าง
3) นิสสยสัมปันโน เป็นคนมีหัวใจในทางการค้า และมีแหล่งเงินต่าง ๆ ให้การสนับสนุน
เช่น คุ้นเคยกับเศรษฐีคฤหบดี นายธนาคารให้ความเชื่อถือ สนับสนุนในด้านทุนดำเนินการ
เป็นต้น
2.4 หลักพุทธธรรมสำคัญ
ที่ควรจะนำมาประยุกต์ได้กับลักษณะทั่วไปเศรษฐศาสตร์
1) เน้นการพึ่งตนเอง : ความหมายในทางพุทธธรรมคือ ความสามารถในการพัฒนาตนเองด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย เห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ขณะที่ความหมายที่มักเข้าใจกันในทางเศรษฐศาสตร์คือ
2) เน้นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท : เป็นข้อที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งในแง่ความหมายทางธรรม และยังนำมาประยุกต์กับเศรษฐกิจได้
3) เน้นอหิงสา หรือการละเว้นจากการสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง : ประโยชน์ข้อนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือกันแทนที่จะเป็นการแข่งขัน ซึ่งมีทางเป็นได้ และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย แต่สิ่งที่ต้องขจัดออกไปอย่างสิ้นเชิงคือ ความโลภ
4) เน้นการดำเนินชีวิต และประกอบอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์ สุจริต มีมานะอดทน สัมมาอาชีวะ : ข้อนี้จะเน้นการผลิต-ไม่ผลิต การบริโภค-ไม่บริโภค ในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีแก่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เป็นการปฏิบัติธรรมหรือหน้าที่ที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตส่วนหนึ่ง
5) เน้นการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น : ข้อนี้ถือเป็นหัวใจของพุทธธรรม ในการดำเนินชีวิตไปตามทางสายกลางมุ่งเน้นสันติสุข ท่ามกลางในทางเศรษฐกิจ ที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ถ้าหันมาร่วมมือกันสังคมก็จะได้รับประโยชน์มหาศาล
6) พยายามละกิเลสและความโลภ : ความโลภนำไปสู่พฤติกรรมที่เน้นการเสี่ยง ที่มีผลกระทบต่อความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุสำคัญ ที่อาจจะนำความเสียหายในทางเศรษฐกิจมาสู่ตนเองและสังคม
7) การเน้นความซื่อสัตย์ สุจริต มีความละอาย และเกรงกลัวการกระทำความผิด : เน้นการมีจิตใจเป็นกุศลมีเจตนาหรือความตั้งใจดีต่อผู้อื่น จิตที่บริสุทธิ์ย่อมนำมาซึ่งจิตที่สงบและมีสติมั่นคง นำไปสู่ปัญญาและความพ้นทุกข์
เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเอาพุทธเศรษฐศาสตร์ ที่ได้จากพุทธธรรมไปประยุกต์ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ถ้าหากทำได้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมต่อไป
วิกฤติทางการเมือง
วิกฤติด้านเศรษฐกิจ
วิกฤติด้านสังคม
วิกฤติสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอแนะ
บทสรุปและวิเคราะห์