สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สัมมาทิฏฐิทางการเมือง

โดย นายจรัญ ภักดีธนากุล

        คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” เป็นคำที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกรู้จักกันดีว่า หมายถึงความเห็นและความเข้าใจที่ถูกต้อง (right opinion or understanding) ตรงตามความเป็นจริงในสภาพธรรมทั้งหลาย เช่น ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในอริยสัจ 4 และในสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวง หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล รวมทั้งมูลเหตุแห่งกุศล และอกุศลเหล่านั้น เป็นต้น

ในวิถีชีวิตของคนไทย ได้มีการนำคำว่า สัมมาทิฏฐิ มาใช้แยกแยะความคิด ความเห็น ความเข้าใจ และความเชื่อในเรื่องต่างๆ ทางโลกด้วยว่า กรณีใดเป็นความคิด ความเห็น ความเข้าใจ และความเชื่อที่ถูกต้อง ก็กล่าวกันว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะนำประโยชน์และความเจริญที่ยั่งยืนมาให้แก่สังคมและผู้คนเป็นอันมาก หากนำมาใช้ในการคิดค้นหาแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนทางการเมืองของประเทศ ก็อาจใช้คำว่า “สัมมาทิฏฐิทางการเมือง” หรือ “การเมืองสัมมาทิฏฐิ” ได้ ปัญหาคงอยู่ที่เนื้อหาหรือแนวทางของชุดความคิดทางการเมืองแบบไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างแท้จริง สมควรแก่การยอมรับว่าเป็นสัมมาทิฏฐิทางการเมือง ? ข้อเขียนนี้เพียงแต่ประสงค์จะนำเสนอลักษณะพื้นฐาน 4 ประการของการเมืองที่สมควรจะได้รับการยอมรับว่าเป็นการเมืองสัมมาทิฏฐิ เข้าสู่การรับรู้และการพิจารณาของสาธารณชน เพื่อหาคำตอบที่สมบูรณ์ในโอกาสต่อไปเท่านั้น

1. การเมืองสัมมาทิฏฐิมิใช่อัตตาธิปไตย ทั้งมิใช่โลกาธิปไตย แต่ต้องเป็น “ธรรมาธิปไตย” กล่าวคือ ต้องมิใช่การเมืองเผด็จการทุกรูปแบบ และมิใช่ประชาธิปไตยเพียงรูปแบบด้วย แต่เป็นระบอบการปกครองที่ถือความถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นประโยชน์แก่มหาชน ซึ่งหมายถึงสุจริตชนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันเป็นใหญ่ เป็นสำคัญ

มิใช่ถือตามความถูกใจหรือพอใจของผู้ปกครองเป็นใหญ่ มิใช่ถือประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นสำคัญ แต่ถือประโยชน์ของประเทศชาติ หรือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

2. ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิทางการเมืองนั้น มิได้ถือทรัพย์สิน คะแนนเสียง หรือตำแหน่งทางการเมืองเป็นสำคัญ อันเป็นเหตุให้ได้ความหื่นกระหาย หิวโหย และความเห็นแก่ตัวเข้ามาครอบงำสถาบันการเมืองของชาติ แย่งกันโกงกินบ้าง แบ่งกันโกงกินบ้าง โฆษณาชวนเชื่อโกหกหลอกลวง ฉ้อราษฎร์บังหลวง แย่งชิงคะแนนนิยม และยักยอกผลงานผู้อื่นมาเป็นของตน หรือพรรคของตน ใส่ร้ายป้ายสี และทำลายล้างศัตรูคู่แข่งทางการเมือง โดยไม่เป็นธรรม ตะเกียกตะกายไต่เต้าหมายเอาตำแหน่งทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลักของการทำงาน เป็นความสำเร็จของตน และพรรคพวกของตน ส่วนวิธีการจะทุจริต ฉ้อฉล ใช้กลโกงอย่างใดๆ มิได้ใส่ใจเลย บุคคลเช่นนี้ มิใช่นักการเมือง แต่เป็นวัชชะ หรือกระสือ หรือปีศาจทางการเมืองต่างหาก

ส่วนสัมมาทิฏฐิทางการเมืองนั้น ต้องเป็นเรื่องของความเสียสละ ยอมลดละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ยอมสละตำแหน่งและอำนาจทางการเมือง เพื่อให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ ประโยชน์ของหมู่คณะและของพรรคต้องใหญ่กว่าประโยชน์ของตัวเอง แม้จะเป็นหัวหน้าคณะหรือหัวหน้าพรรคก็ตาม แต่ประโยชน์ของพรรคก็ต้องยอมพ่ายแพ้ให้แก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิทางการเมืองเช่นนี้ อาจจะยากจนลงหลังการเข้ามาทำงานทางการเมือง อาจจะไม่ได้รับตำแหน่งทางการเมืองที่ควรจะได้ แต่ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในการเป็นนักการเมืองที่แท้จริง เพราะไม่ถนัดในการแย่งชิง

นักการเมืองผู้เสียสละ กับนักเลือกตั้งผู้หิวกระหาย จึงต่างกันตรงนี้และจุดนี้นี่เอง ที่แบ่งแยกระหว่างสัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

3. การเมืองสัมมาทิฏฐิมิใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง เพราะยังมีภารกิจสำคัญอีกมากมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการชนะเลือกตั้ง ผู้ที่ชนะเลือกตั้งจึงเพียงได้รับสมญาว่า “นักเลือกตั้ง” เท่านั้น ยังหาสมควรแก่ชื่ออันทรงเกียรติว่า “นักการเมือง” ไม่ เพราะยังมิได้ทำอะไรให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนด้วยความเสียสละประโยชน์ตน (dedication) เพื่อส่วนรวม ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แต่อย่างใดเลย

แม้ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง บางครั้งบางคนก็ยังหาควรแก่ชื่อนักเลือกตั้งไม่ ถ้าการที่เขาชนะเลือกตั้งนั้นเป็นชัยชนะที่เกิดมีขึ้นจากการทุจริตซื้อสิทธิ ซื้อเสียง เป็นชัยชนะในการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งเช่นนี้ คือผู้ที่ทำลายสถาบันการเมือง ทำลายระบอบประชาธิปไตย และทำร้ายนักการเมืองที่สุจริตและเสียสละ ส่วนพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนการเลือกตั้งสกปรกแบบนี้ พรรคการเมืองนั้น หาใช่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ และนี่ก็คืออีกความหมายหนึ่งของการเมืองสัมมาทิฏฐิที่ชี้ชัดถึงรากเหง้าของความชั่วร้ายในระบบการเมืองไทยว่าอยู่ที่การทุจริตซื้อสิทธิซื้อเสียงในการเลือกตั้งนั่นเอง ทำอย่างไรการเมืองไทยจึงจะพัฒนาผ่านพ้นสภาพที่ตกต่ำนี้ไปได้ ?

4. สัมมาทิฏฐิทางการเมืองต้องถือเรื่องศีลธรรม และจรรยาบรรณเป็นหลักใหญ่อีกข้อหนึ่งในการตัดสินใจและการดำเนินงานทางการเมือง เรื่องใดที่ล่อแหลมต่อการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนต้องไม่ทำเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าการดำเนินงานในเรื่องนั้นจะถูกกฎหมายและมีผลประโยชน์ทางทรัพย์สิน เงินทองอยู่บ้างก็ตาม การเมืองสัมมาทิฏฐินี้จะยึดเอาความถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักเพียงข้อเดียวในการคิด การทำ และการพูด โดยไม่ใส่ใจถึงมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมเลยหาได้ไม่ เพราะหากนักการเมืองพากันทำเช่นนั้น สถาบันการเมือง และสถานะของนักการเมืองเองนั่นแหละที่จะถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายไปเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะลุกลามเป็นแบบอย่างที่ชั่วร้ายให้ประชาชนและผู้คนในสถาบันอื่นประพฤติปฏิบัติตามในวงกว้างเป็นอันดับต่อไป

     ถ้าเราสามารถลงหลักปักเสาทั้งสี่ต้นดังกล่าวให้มั่นคงในวงการเมืองของไทยได้เมื่อใด ย่อมมั่นใจได้ว่าการเมืองไทยต้องได้ชื่อว่าเป็นการเมืองสัมมาทิฏฐิที่เป็นหลักชัย และเป็นที่พึ่งให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนได้เมื่อนั้น การเมืองไทยจึงจะมั่นคงสถาพร หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ได้ และพลอยเป็นเหตุปัจจัยให้เศรษฐกิจมั่งคั่ง สังคมพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย