สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
นิยามความหมายของการเมือง
ชัชวาลย์ ทัตศิวัช
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้
หลายท่านอาจเคยสงสัยตั้งคำถามว่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องปกครองกัน ทำไมไม่ปล่อยให้มนุษย์อยู่กันเอง กระทั่งอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า การเมืองกับการปกครองเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนจำเพาะในกลุ่ม ผู้ที่ขาดความสนใจต่อความเป็นมาเป็นมาในกิจการทางการเมืองอาจฟังดูไม่กระจ่างนัก ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประการใด คำตอบต่อความสงสัยข้อแรกนั้นโยงใยไปถึงความข้อต่อมากล่าวคือ มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน หากมิได้กำหนดกติกาอะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการอยู่รวมกันของมนุษย์แล้วนั้น มนุษย์ด้วยกันเองยังเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ป่าเถื่อน ขาดกลัวและไม่เป็นระเบียบ
ดังที่โธมัส ฮอบส์ นักปรัชญาการเมืองโบราณได้เคยกล่าวไว้ และเมื่อมนุษย์จำต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กติกาแล้ว ก็จำเป็นอยู่ในตัวเองที่จะต้องกำหนดตัวผู้นำมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้สังคมหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เช่นที่กล่าวมานักศึกษาคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าเหตุใดจึงเกิดมีระบบการปกครองขึ้น และโดยนัยที่มนุษย์จำต้องปกครองกันนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือการจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป หลีกเลี่ยงมิได้เสียที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมือง อันมีความหมายและบริบทที่สะท้อนออกมาในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน การเมืองการปกครองซึ่งเป็นสภาพการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักศึกษาหรือผู้ใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองการปกครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (public policies) โครงการพัฒนา (development program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไปอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการ ปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นเรื่องภาคราชการทั้งหลายต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคมไทย
ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์
มุมมองที่ใช้เพ่งดูการเมืองหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการนิดหน่อยก็คือแนวการศึกษาวิเคราะห์การเมือง
(Approach to Political Analysis)
ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ใครจะเห็นว่าแนวการมองการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงต่อการอธิบายความเป็นการเมืองได้มากที่สุด
นักรัฐศาสตร์บางท่าน อาจมองว่าแท้จริงนั้น
การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการต่อสู่แย่งชิงกันของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest
Group) ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ
ในอันที่จะแย่งชิงกันเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ
หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ผลผลิตจากระบบการเมือง (Political output) อันได้แก่
นโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ โครงการหรือแผนงานพัฒนาของภาครัฐและภาคราชการ
ซึ่งผลในทางที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด
เราเรียกการวิเคราะห์การเมืองแนวทางนี้ว่าเป็นการวิเคราะห์เชิงกลุ่มผลประโยชน์
ซึ่งดูไปก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแนวการมองการเมืองเชิงอำนาจที่จะกล่าวถึงต่อไป
ความหมายของการเมืองในมุมมองนี้ จึงเป็นว่า
การเมืองการเมืองคือการที่บุคคลใดหรือกลุ่มใดในสังคม ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน
หรือขัดกันก็ตาม หรือมีความเห็นเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ตาม
มาทำการต่อสู้เพื่อสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่ในการปกครองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องของส่วนรวมได้โดยชอบธรรม
ซึ่งจัดเป็นแนวที่นักรัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมการเมือง (Political Scientist) นิยมกัน
แนวการมองหนึ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั่วไปคือ
แนวการวิเคราะห์การเมืองเชิงอำนาจ (Power Approach)
ที่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องหรือมีบริบทเกี่ยวกับการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน
ก็มักให้คำจำกัดความของการเมืองว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ในเชิงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์
ต่อผู้อยู่ใต้อำนาจซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง โดยคำนิยามเช่นนี้
สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้
มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (public policies) โครงการพัฒนา (development
program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ
รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล
และบุคคลกับรัฐ
จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไป
โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ
จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน
ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม
เมื่อพอที่จะทราบแนวทางการพิจารณาว่าการเมืองเป็นอย่างไรดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็มาดูความหมายของคำว่า การเมือง กันบ้าง
อริสโตเติล (Aristotle) ปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่ง วิชารัฐศาสตร์กล่าวไว้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมืองต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชนซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ ซึ่งอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก แต่มนุษย์ นอกจากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณแล้วมนุษย์ยังมีเป้าหมายอยู่ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมิใช่มีชีวิตอยู่ไปเพียงวันๆหนึ่งเท่านั้นหากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อจะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย จากแนวคิดดังกล่าวของอริสโตเติล ทำให้เรามองเห็นภาพของการเมืองว่า การเมือง ก็คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในชุมชนหรือสังคมเพื่อให้มีความสงบสุข ซึ่งนั่นก็เป็นแนวคิดหนึ่ง
ในสมัยต่อมา นักรัฐศาสตร์ได้ให้ความหมายของการเมืองไว้หลายแนวคิดด้วยกัน ดังจะรวบรวมคำกัดความที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างสูง มายกมากล่าวถึงสัก 2 ตัวอย่างได้แก่
1. ศาสตราจารย์ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell)
กล่าวว่า การเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่า ใคร ทำอะไร เมื่อไร และอย่างไร (Politics is, who gets "What", "When" and "How")
2. ศาสตราจารย์อีสตัน (David Easton)
กล่าวว่า การเมือง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ให้กับสังคม อย่างชอบธรรม
ความหมายหรือคำจำกัดความการเมือง (Politics) ที่น่าสนใจ โดยได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนมากได้แก่ โรแลนด์ เพนนอค และเดวิด จี สมิธ ที่กล่าวว่า การเมือง หมายถึง "ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม"
อีกหนึ่งคำนิยามการเมืองที่ถือได้ว่าครอบคลุมและช่วยให้เห็นภาพความเกี่ยวพันของการเมืองกับบุคคลในสังคมได้แก่ ดร. ณรงค์ สินสวัสดิ์ ที่กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยที่อำนาจทางการเมืองหมายถึง
(1) อำนาจในการที่จะวางนโยบายในการบริหารประเทศหรือสังคม
(2) อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ
(3) อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ
งบประมาณหรือเครื่องมือเครื่องใช้อื่นในการนำนโยบายที่วางไว้ไปปฏิบัติ
นิยามของการเมืองที่กล่าวถึงนี้ โดยสรุปอาจหมายความอย่างง่ายว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อหรือแสวงหาอำนาจซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งหมด หรือกล่าวได้ว่า อำนาจทางการเมืองถูกนำไปใช้ผ่านกระบวนการนโยบายและการแต่งตั้งคัดสรรผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ (ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ในรูปของอำนาจและการปฏิบัติงานทางการปกครอง โดยนัยนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการปกครอง จึงเป็นสิ่งที่มักถูกกล่าวถึงควบคู่กันไปอยู่เสมอ