สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
หมวดที่ 10 คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม
องค์ประกอบ
มาตรา 61
1. คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักประกอบด้วยสมาชิกสหประชาชาติ 18 ประเทศ
ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยสมัชชา
2. ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในวรรค 3 แต่ละปีสมาชิกแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม 6 ประเทศ จักได้รับเลือกตั้งเป็นกำหนดเวลา 3 ปี สมาชิกที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว มีสิทธิเข้ารับการเลือกตั้งอีกทันที
3. ในการเลือกตั้งครั้งแรกให้เลือกสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม 18 ประเทศ เวลาดำรงตำแหน่งของสมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งเลือกขึ้นตามนี้ จักสิ้นสุดในปลายปีแรกและอีก 6 ประเทศ ในปลายที่สองตามข้อตกลง ที่สมัชชาได้ทำไว้
4. สมาชิกแต่ละประเทศของคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักมีผู้แทนได้ 1 คน
หน้าที่และอำนาจ
มาตรา 62
1. คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม อาจทำหรือริเริ่มการศึกษาและรายงาน
เกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ การสังคม วัฒนธรรม การศึกษา อนามัย
และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจทำคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเช่นว่านั้นเสนอต่อสมัชชา
ต่อมาสมาชิกของสหประชาชาติและต่อทบวงการชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง
2. คณะมนตรีอาจทำคำแนะนำเพื่อความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการเคารพ และการปฎิบัติตามสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคน
3. คณะมนตรีอาจตัดเตรียมร่างอนุสัญญา เพื่อเสนอต่อสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องทั้งหลาย ที่อยู่ในขอบอำนาจของคณะมนตรี
4. คณะมนตรีอาจเรียกประชุมระหว่างประเทศ
ในเรื่องทั้งหลายที่อยู่ในขอบอำนาจของคณะมนตรี ตามข้อบังคับที่สหประชาชาติกำหนดไว้
มาตรา 63
1. คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมอาจเข้าทำความตกลงกับทบวงการตัวแทนใด ๆ
ที่อ้างถึงในมาตรา 57 โดยวางข้อกำหนดสำหรับที่ทบวงการตัวแทนที่เกี่ยวข้อง
ได้เข้ามาสู่ความสัมพันธ์กับสหประชาชาติ ความตกลงเช่นว่านั้น
จักต้องได้รับความเห็นชอบของสมัชชา
2. คณะมนตรีอาจประสานกิจกรรมของทบวงการชำนัญพิเศษ โดยากรปรึกษาหารือ
และการทำคำแนะนำต่อทบวงการตัวแทนเช่นว่านั้น และโดยการทำคำแนะนำต่อสมัชชา
และต่อสมาชิกของสหประชาชาติ
มาตรา 64
1. คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม อาจดำเนินการที่เหมาะสม
เพื่อให้ได้รับรายงานโดยสม่ำเสมอ จากทบวงการชำนัญพิเศษ
คณะมนตรีอาจทำข้อตกลงกับสมาชิกสหประชาชาติ และกับทบวงการชำนัญพิเศษ
เพื่อให้ได้รับรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการที่จะยังให้บังเกิดผล
แก่คำแนะนำของตนและแก่คำแนะนำของสมัชชา ในเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจของคณะมนตรี
2. คณะมนตรี อาจแจ้งข้อสังเกตของตน เกี่ยวกับรายงานเหล่านี้ต่อสมัชชา
มาตรา 65
คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม อาจจัดหาข้อสนเทศให้แก่คณะมนตรีความมั่นคง
และจักช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคง ในเมื่อร้องขอ
มาตรา 66
1. คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักปฎิบัติหน้าที่เช่นที่ตกอยู่ในขอบอำนาจของตน
เกี่ยวกับการปฎิบัติตามคำแนะนำของสมัชชา
2. ด้วยความเห็นชอบของสมัชชาคณะมนตรี อาจปฎิบัติตามคำร้องขอของสมาชิกสหประชาชาติ และตามคำร้องขอของทบวงการชำนัญพิเศษ
3. คณะมนตรีจักปฎิบัติหน้าที่อื่น เช่นที่ระบุไว้ ณ ที่อื่นใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบัน หรือเช่นที่สมัชชาอาจมอบหมายให้
การลงคะแนนเสียง
มาตรา 67
1. สมาชิกแต่ละประเทศแห่งคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักมีคะแนนเสียง 1 คะแนน
2. คำวินิจฉัยของคณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักกระทำโดยเสียงข้างมากของสมาชิก ที่มาประชุมและลงคะแนนเสียง
วิธีดำเนินการประชุม
มาตรา 68
คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมจักจัดตั้งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ
ขึ้นในด้านเศรษฐกิจและการสังคม และสำหรับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
และคณะกรรมาธิการอื่นเช่นที่อาจพึงประสงค์ สำหรับการปฎิบัติหน้าที่ของตน
มาตรา 69
คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม จักเชิญสมาชิกใด ๆ ของสหประชาชาติให้เข้าร่วม
โดยไม่มีคะแนนเสียงในการพิจารณาของคณะมนตรีในเรื่องใด ๆ
อันมีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะต่อสมาชิกนั้น
มาตรา 70
คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม อาจทำข้อตกลงสำหรับผู้แทนของทบวงการชำนัญพิเศษ
ที่จะเข้าร่วมโดยไม่มีคะแนนเสียง ในการพิจารณาของคณะมนตรีเศรษฐกิจ
และในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ที่คณะมนตรีได้สถาปนาขึ้น
และสำหรับผู้แทนของตนที่จะเข้าร่วมในการพิจารณา ของทบวงการชำนัญพิเศษ
มาตรา 71
คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมอาจทำข้อตกลงที่เห็นสมควร
เพื่อการปรึกษาหารือกับองค์การที่มิใช่ของรัฐบาล
ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอันอยู่ภายในขอบอำนาจของตนเหล่านั้น
ข้อตกลงเช่นว่าอาจทำกับองค์การระหว่างประเทศ
และเมื่อเห็นเหมาะสมกับองค์การประจำชาติภายหลังที่ได้ทำการปรึกษาหารือกับสมาชิกของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องแล้ว
มาตรา 72
1.คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคมจักรับเอาข้อบังคับวิธีดำเนินการประชุมของตนเอง
รวมทั้งวิธีคัดเลือกประธานของตนด้วย
2. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจักประชุมกันตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของตน ซึ่งจักรวมบทบัญญัติสำหรับเรียกประชุมตามคำร้องขอของสมาชิกส่วนข้างมากของคณะมนตรีไว้ด้วย
หมวดที่ 1 ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สมาชิกภาพ
หมวดที่ 3 องค์กร
หมวดที่ 4 สมัชชา
หมวดที่ 5 คณะมนตรีความมั่นคง
หมวดที่ 6 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ
การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน
หมวดที่ 8 ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศ
หมวดที่ 10 คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม
หมวดที่ 11 ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
หมวดที่ 12 ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
หมวดที่ 13 คณะมนตรีภาวะทรัสตี
หมวดที่ 14 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หมวดที่ 15 สำนักเลขาธิการ
หมวดที่ 16 บทเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 17 ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
หมวดที่ 18 การแก้ไข
หมวดที่ 19 การสัตยาบันและการลงนาม