สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ และการกระทำการรุกราน
มาตรา 39
คณะมนนตรีความมั่นคงจักกำหนดว่าการคุกคามต่อสันติภาพ
การละเมิดสันติภาพหรือการกระทำการรุกรานได้มีขึ้นหรือไม่
และจักทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยว่าจะใช้มาตรการอันใดตามมาตรา 41 และ 42
เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมา ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
มาตรา 40
เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ทวีความร้ายแรงยิ่งขึ้น
คณะมนตรีความมั่นคงอาจเรียกร้องให้คู่กรณีที่เกี่ยวข้อง
อนุวัติตามมาตรการชั่วคราวเช่นที่เห็นจำเป็นหรือพึงปรารถนา
ก่อนที่จพทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39
มาตรการชั่วคราวเช่นว่านี้ จักไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิ
อำนาจเรียกร้องหรือฐานะของคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง
คณะมนตรีความมั่นคงจักต้องคำนึงถึงการไม่อนุวัติตามมาตรการชั่วคราวเช่นว่านั้น
มาตรา 41
คณะมนตรีความมั่นคง อาจวินิจฉัยว่าจะต้องใช้มาตรการอันใดอันไม่มีการใช้กำลังอาวุธ
เพื่อยังผลให้เกิดคำวินิจฉัยของคณะรัฐมนตรี
และอาจเรียกร้องให้สมาชิกแห่งสหประชาชาติใช้มาตรการเช่นว่านั้น
มาตรการเหล่านี้อาจรวมถึงการตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมทางรถไฟ
ทางทะเล ทางอากาศ ทางไปรษณีย์ ทางโทรเลข ทางวิทยุ และวิถีทางคมนาคมอย่างอื่น
โดยสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน และการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
มาตรา 42
หากคณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเห็นว่า มาตรการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41
น่าจะไม่เพียงพอ หรือได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอ
คณะมนตรีก็อาจดำเนินการใช้กำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน
เช่นที่เห็นจำเป็นเพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
การดำเนินการเช่นนี้ อาจรวมถึงการแสดงแสนยานุภาพ การปิดล้อม
และการปฏิบัติการอย่างอื่น โดยกำลังทางอากาศ ทางทะเล หรือทางพื้นดิน
ของบรรดาสมาชิกสหประชาชาติ
มาตรา 43
1. เพื่อได้มีส่วนร่วมในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติ รับที่จะจัดสรรกำลังอาวุธความช่วยเหลือและความสะดวก
รวมทั้งสิทธิในการผ่านดินแดนตามที่จำเป็น
เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงเมื่อคณะมนตรีเรียกร้อง
และเป็นไปตามความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับ
2. ความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับเช่นว่านั้น จักกำหนดจำนวนและประเภทของกำลัง ขั้นแห่งความเตรียมพร้อม และตำบลที่ตั้งโดยทั่วไปของกำลัง และลักษณะความสะดวกและความช่วยเหลือที่จัดหาไว้ให้
3. ให้ดำเนินการเจรจาความตกลงฉบับเดียวหรือหลายฉบับนั้น
โดยความริเริ่มของคณะมนตรีความมั่นคงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความตกลงเหล่านี้จักได้ลงนามกันระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและสมาชิก
หรือระหว่างคณะมนตรีความมั่นคงและกลุ่มสมาชิก
และจักต้องได้รับสัตยาบันโดยรัฐที่ลงนามตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของรัฐเหล่านั้น
มาตรา 44
เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงได้วินิจฉัยที่จะใช้กำลังแล้ว
ก่อนที่จะเรียกร้องให้สมาชิกซึ่งมิได้มีผู้แทนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงจัดส่งกำลังทหารเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อผูกพันที่ได้รับไว้ในมาตรา
43
คณะมนตรีจะต้องเชิญสมาชิกนั้นให้เข้าร่วมในการวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคงเกี่ยวกับการใช้หน่วยแห่งกำลังทหารของสมาชิกนั้น
หากสมาชิกนั้นประสงค์เช่นนั้น
มาตรา 45
เพื่อที่จะทำให้สหประชาชาติสามารถดำเนินมาตรการทางทหารได้โดยด่วน
สมาชิกจักต้องจัดสรรหน่วยกำลังทางอากาศแห่งชาติไว้ให้พรักพร้อมโดยทันที
สำหรับการดำเนินการบังคับระหว่างประเทศโดยรวมกัน
กำลังและขั้นแห่งการเตรียมพร้อมของหน่วยกำลังเหล่านี้
และแผนการณ์สำหรับการดำเนินการโดยรวมกัน
จักได้กำหนดโดยคณะมนตรีความมั่นคงด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร
ทั้งนี้ภายในขอบจำกัดที่วางไว้ในความตกลงพิเศษฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อ้างถึงในมาตรา
43
มาตรา 46
แผนการณ์สำหรับการใช้กำลังทหาร จักได้จัดทำโดยคณะมนตรีความมั่นคง
ด้วยความช่วยเหลือของคณะกรรมการเสนาธิการทหาร
มาตรา 47
1. ให้จัดสถาปนาคณะกรรมการเสนาธิการทหารขึ้น
เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคณะมนตรีความมั่นคง
ในปัญหาทั้งปวงที่เกี่ยวกับความต้องการทางทหารของคณะมนตรีความมั่นคง
สำหรับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ในการใช้และการบังคับบัญชากำลังทหารที่มอบให้คณะมนตรี
ในกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ และในการลดอาวุธอันจะพึงเป็นไปได้
2. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจักประกอบด้วย เสนาธิการกลาโหมของสมาชิกประจำของคณะมนตรีความมั่นคง หรือผู้แทนของบุคคลเหล่านี้ คณะกรรมการจักต้องเชิญสมาชิกสหประชาชาติ ที่มิได้มีผู้แทนประจำอยู่ในคณะกรรมการเข้าร่วมงาน กับคณะกรรมการด้วย เมื่อใดที่การปฎิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการให้ประสิทธิผล เรียกร้องให้สมาชิกนั้น เข้าร่วมในงานของคณะกรรมการ
3. คณะกรรมการเสนาธิการทหารจักต้องรับผิดชอบภายใต้คณะมนตรีความมั่นคง สำหรับการอำนวยการทางยุทธศาสตร์ เกี่ยวกับการใช้กำลังทหาร ซึ่งได้มอบไว้ให้กับคณะมนตรีความมั่นคง ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับบัญชากำลังทหารเช่นว่านั้น จักได้พิจารณาดำเนินการในภายหลัง
4. คณะกรรมการเสนาธิการทหาร อาจสถาปนาคณะอนุกรรมการส่วนภูมิภาคขึ้นได้
ทั้งนี้โดยได้รับอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคง
และหลังจากได้ปรึกษาหารือกับทบวงการส่วนภูมิภาคที่เหมาะสมแล้ว
มาตรา 48
1. การดำเนินการที่พึงประสงค์เพื่อปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะมนตรีความมั่นคง
ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
จักได้กระทำโดยสมาชิกสหประชาชาติทั้งปวง หรือแต่บางประเทศ
ตามแต่คณะมนตรีความมั่นคงจะพึงกำหนด
2. คำวินิจฉัย เช่นว่านั้นจักต้องปฎิบัติโดยสมาชิกสหประชาชาติโดยตรง
และโดยผ่านการดำเนินการของสมาชิกเล่านั้น ในทบวงการระหว่างประเทศที่เหมาะสม
ซึ่งตนเป็นสมาชิกอยู่
มาตรา 49
สมาชิกสหประชาชาติ จักร่วมกันอำนวยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในการปฎิบัติมาตรการที่คณะมนตรีความมั่นคง ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
มาตรา 50
หากคณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินมาตรการป้องกัน หรือบังคับต่อรัฐใด
รัฐอื่นไม่ว่าจะเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติหรือไม่
ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาพิเศษทางเศรษฐกิจ เนื่องมาแต่การปฎิบัติมาตรการเหล่านั้น
ย่อมมีสิทธิที่จะหารือกับคณะมนตรีความมั่นคง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
มาตรา 51
ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันอันจักรอนสิทธิประจำตัว
ในการป้องกันตนเองโดยลำพังตน หรือโดยร่วมกัน
หากการโจมตีโดยกำลังอาวุธยังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ
จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะได้ดำเนินมาตรการ ที่จำเป็นเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
และความมั่นคงระหว่างประเทศมาตรการที่สมาชิกได้ดำเนินไปในการใช้สิทธิป้องกันตนเองนี้
จักต้องรายงานให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบโดยทันที และจักไม่กระทบกระเทือนอำนาจ
และความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคง ภายใต้กฎบัตรฉบับปัจจุบันแต่ทางหนึ่งทางใด
ในอันที่จักดำเนินการเช่นที่เห็นจำเป็น
เพื่อธำรงไว้หรือสถาปนากลับคืนมาซึ่งสันติภาพ
และความมั่นคงระหว่างประเทศในขณะหนึ่งขณะใด
หมวดที่ 1 ความมุ่งหมายและหลักการ
หมวดที่ 2 สมาชิกภาพ
หมวดที่ 3 องค์กร
หมวดที่ 4 สมัชชา
หมวดที่ 5 คณะมนตรีความมั่นคง
หมวดที่ 6 การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
หมวดที่ 7 การดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ
และการกระทำการรุกราน
หมวดที่ 8 ข้อตกลงส่วนภูมิภาค
หมวดที่ 9 ความร่วมมือระหว่างประเทศ
หมวดที่ 10 คณะมนตรีเศรษฐกิจและการสังคม
หมวดที่ 11 ปฏิญญาว่าด้วยดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง
หมวดที่ 12 ระบบภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ
หมวดที่ 13 คณะมนตรีภาวะทรัสตี
หมวดที่ 14 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
หมวดที่ 15 สำนักเลขาธิการ
หมวดที่ 16 บทเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 17 ข้อตกลงเฉพาะกาลเกี่ยวกับความมั่นคง
หมวดที่ 18 การแก้ไข
หมวดที่ 19 การสัตยาบันและการลงนาม