ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

ไวรัส

(Virus)

ไวรัสมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน ซึ่งมีความหมายว่า “เป็นพิษ” (poison/toxic) เนื่องจากไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก (ขนาดที่ไม่สามารถมองเห็นได้แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง) ที่ก่อโรคในมนุษย์ และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์ปีก ปลา แมลง ต้นไม้ หรือแม้แต่แบคทีเรีย มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ระบุว่ามนุษย์ถูกไวรัสทำร้ายมานานกว่าสองพันปีนั่นคือ บันทึกการระบาดโรคฝีดาษของจีนและโปลิโอในอียิปต์ แต่มนุษย์เริ่มศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสเบื้องต้นในช่วงปี 1886-1892 ที่มีการค้นพบไวรัสใบด่างในยาสูบ (TMV : Tobacco Mosaic Virus) ซึ่งนับได้ว่าเป็นไวรัสชนิดแรกที่มนุษย์เราสังเกตพบ หลังจากนั้นมีการศึกษาอีกมากมายทำให้ค้นพบไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ชนิดแรกในปี 1898 ซึ่งก็คือ ไวรัสปากเท้าเปื่อย และพบไวรัสชนิดแรกที่ทำให้แบคทีเรียตายในปี 1917 (Twort (1915) และ d’ Herelle (1917)) และเรียกไวรัสกลุ่มนี้ว่าฟาจ (Phage หรือ Bacteriophage) และเมื่อ W. M. Stanley (1935) สามารถแยกไวรัสออกมาจากสิ่งมีชีวิตได้ครั้งแรก นักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสนใจกับไวรัสมากขึ้นจนเกิดเป็นสาขาวิชา ไวรัสวิทยา (Virology) ขึ้น

ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นทั่วไปตรงที่ไวรัสไม่มีส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มเซลล์ของตัวเอง ไวรัสไม่มีเมตาบอลิซึมเมื่ออยู่นอกเซลล์เจ้าบ้าน (host cell) แต่ไวรัสยังมีคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตที่สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวน และเมื่ออยู่ใน host ไวรัสหลาย ๆ ชนิดสามารถสร้างเอนไซม์และเกิดเมตาบอลิซึมบางอย่างได้ ดังนั้นการมีชีวิตของไวรัสจึงเป็นเพียง “อนุภาคที่มีชีวิต” (Living particle หรือ Virion) เท่านั้น ความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นอีกประการของไวรัสคือ ในการจัดจำแนกไวรัสโดย International Committee on Taxonomy of Virus (ICTV) จะแบ่งไวรัสเป็นเพียง 1 order 71 families 11 subfamilies 164 genera นอกจากนั้นนักไวรัสวิทยาส่วนใหญ่จะเรียกชื่อไวรัสตาม host หรือลักษณะของโรคมากกว่าจะเรียกเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ตามหลัก Binomial อย่างสิ่งมีชีวิตอื่น

จากการทดลองของ Adolph Mayer และ Iwanowsky ซึ่งระบุได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่าแบคทีเรียเป็นตัวการในการก่อโรคใบด่างในยาสูบ ซึ่งต่อมาสามารถตรวจสอบรูปร่างลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นได้ใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน

Inquiry Activities :

1. เหตุใดเมื่อเรารับประทานมะละกอดิบที่เป็นโรคจุดวงแหวนซึ่งเกิดจากไวรัส PRSV (papaya ring spot virus) เราจึงไม่ปรากฏอาการตัวด่างเป็นวง แต่หากเรารับประทานไข่ดิบที่ได้จากแม่ไก่ที่ติดเชื้อ bird flu เราจะมีโอกาสที่จะเป็นโรค bird flu สูง

2. นอกจากปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว ไวรัสยังสร้างปัญหาด้านอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

ลักษณะทั่วไปของไวรัส
ส่วนประกอบของไวรัส
รูปร่างและขนาดของไวรัส
การจัดหมวดหมู่ของไวรัส
การเพิ่มจำนวนของไวรัส
วงชีวิตของไวรัส
ประโยชน์ของไวรัส

แหล่งที่มา

  • http://www.bioquest.org/bedrock/problem_spaces/prion/assets/prion_structure.jpg
  • http://www.northwestern.edu/neurobiology/faculty/pinto2/pinto_1big.jpg
  • http://www.pinkmonkey.com/studyguides/subjects/biology-edited/chap14/
  • http://www.thebody.com/content/art14193.html#attachment
  • http://www.uni-bayreuth.de/departments/ddchemie/umat/bse/bse.htm
  • http://www.virology.net/Big_Virology/BVFamilyGroup.html
  • http://www.virology.net/Big_Virology/BVunassignplant.html
  • http://www.who.int/zoonoses/diseases/prion_diseases/en/
  • นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ และปรีชา สุวรรณพินิจ. (2548). จุลชีววิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 5. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. 735 หน้า.
  • ธัญญรัตน์ ดำเกาะ. (2544). เอกสารประกอบการอบรมโอลิมปิควิชาการ สาขาชีววิทยา ค่าย 1 ระหว่างวันที่ 5-20 ตุลาคม 2544 ภาคชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • เรื่อง ไวรัสและอาณาจักรเห็ดรา. 15 หน้า.
  • Mader S. Sylvia. (2007). Biology. The ninth edition. The McGraw-Hill Companies, Inc.
  • McGraw-Hill International edition. USA. 1016 p.
  • Wolfgang K.J. and Phil D. (1988). Virology. The third edition. Prentice-Hall International

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย