สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย

ความเป็นมาของการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย

ความเป็นมาของการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น 3 สมัย คือ

1. สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1780 – 1993)
2. สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310)
3. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2425 – ปัจจุบัน) สามารถแบ่งออกได้ 2 ระยะ คือ
- สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2425 – 2475)
- สมัยกรุงรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน)

สมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1780 – 1993)

จากหลักฐานที่ค้นพบแสดงให้เห็นว่า งานพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการมาแล้วอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1820 – 1960) เชื่อได้ว่า เป็นยุคทองของงานพัฒนาในสมัยนั้น อาจจำแนกแต่ละประเภทกิจกรรม ได้ดังนี้

  • การพัฒนาด้านวัตถุ มีการสร้างบ้านเรือน สร้างค่ายคูประตูหอรบ และสร้างวัดวาอาราม พระพุทธรูป
  • การพัฒนาด้านจิตใจ มีการส่งเสริม เร่งเร้า สนับสนุนให้ประชาชนมีความอดทนขยันขันแข็งในการทำงาน มีความรอบรู้เฉลียวฉลาดทันต่อเหตุการณ์ จัดให้มีการอบรมศีลธรรมเป็นประจำ และสร้างพระพุทธรูปปางลีลาให้เห็นสัญลักษณ์เตือนจิตใจประชาชนให้รักความก้าวหน้า เป็นต้น
  • การพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษา และสาธารณสุข ส่งเสริมประเพณีไทย เช่น ประเพณีการลอยกระทง ประดิษฐ์คิดค้นรูปแบบกระทงต่าง ๆ จนกระทั่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน มีการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง มีการส่งเสริมกิจการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนมีร่างกายสมบูรณ์เข้มแข็ง
  • การพัฒนาด้านการเกษตร การชลประทาน และการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมให้ประชาชนทำนา โดยจัดระบบชลประทานด้วยการฝังท่อระบายน้ำเข้านา ส่งเสริมให้ปลูกป่าหมาก ป่าพลู โดยให้ความมั่นใจว่า สิ่งที่ได้ปลูกสร้างไว้จะเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความท้อแท้ ปลูกฝังให้ขยันขันแข็งและพึ่งตนเอง
  • การพัฒนาด้านคมนาคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการตัดถนนหนทางเชื่อมระหว่างเมือง ขุดลอกคูคลอง เพื่อการไปมาติดต่อค้าขาย
  • การพัฒนาด้านการพาณิชย์ สนับสนุนส่งเสริมการค้าอย่างเสรี โดยประชาชนทำการค้าภายใน ส่วนรัฐทำการค้ากับต่างประเทศ เช่น จีน ชวา อินเดีย เป็นต้น และหากประชาชนใดทำการค้ากับต่างประเทศด้วยก็ไม่เก็บภาษี
  • การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมการทำอุตสาหกรรม โดยได้เชิญชาวจีนที่มีความสามารถในด้านการปั้นถ้วยชามมาสอนและประกอบเป็นอุตสาหกรรมส่งขายทั้งภายในและต่างประเทศด้วย

สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310)

การดำเนินงานพัฒนาชุมชนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกเหนือจากการสร้างบ้านแปลงเมืองในรูปของการชี้นำโดยรัฐ และโดยการเสียสลุรวมทั้งการอาสาสมัครทำกันเองในแต่ละชุมชนแล้ว จุดเด่นสำคัญซึ่งมองเห็นได้อย่างเด่นชัด ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. 1991 – 2031) ก็คือ พระองค์ได้ทรงแบ่งส่วนราชการบริหารงานแผ่นดินออกเป็นสัดส่วน เรียกว่า จตุสดมภ์ มีกรมเวียง (เมือง) กรมวัง กรมคลัง และกรมนา อีกทั้งพระองค์ได้ทรงกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบกันคนละด้าน โดยเฉพาะกรมเวียง (เมือง) ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปกครองและพัฒนาท้องถิ่น บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปในพระราชอาณาเขต

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2425 – ปัจจุบัน)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2425 – 2475)

การดำเนินงานพัฒนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของการดำเนินงานพัฒนาในช่วงต่อ ๆ มา นอกเหนือจากการสร้างและทำนุบำรุงบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว จุดเด่นสำคัญเกี่ยวกับงานพัฒนาชุมชน ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ตามแบบนานาอารยประเทศ (พ.ศ. 2435) โดยจัดแบ่งงานราชการออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม ให้รับผิดชอบงานเป็นสัดส่วนไม่ซ้ำซ้อนกัน พระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการปกครองและการพัฒนาท้องถิ่นบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนสมัยนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดี พระองค์มีจุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับประชาชนอยู่ 2 ประการ คือ การปกครองประชาชนและการบูรณะบ้านเมือง หน้าที่ประการแรก เป็นความรับผิดชอบที่ทางฝ่ายราชการจะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานฝ่ายปกครอง และได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ให้บังคับใช้ แต่ส่วนใหญ่จะขอความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้ช่วยกันเสียสละแรงงาน เงิน และวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ต่อกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นในชุมชนของตน อันเป็นการปลุกความคิดให้มีจิตสำนึกว่าท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นของประชาชนเอง การดำเนินงานในระยะแรก ๆ ยังไม่ได้กำหนดออกเป็นรูปแบบแผนงานหรือโรงการของรัฐ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน)

การดำเนินงานพัฒนาชุมชนเริ่มมีความสำคัญขึ้น รัฐบาลได้มองเห็นความจำเป็นและความสำคัญของการบูรณะบ้านเมืองให้เจริญรุดหน้าอย่างมีแบบแผนและมีขั้นตอนการดำเนินงาน จึงได้กำหนดแผนการบูรณะชนบทขึ้นในปี พ.ศ. 2485 และในปี พ.ศ. 2494 ซึ่งพัฒนารูปแบบและวิธีการก้าวหน้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดตามลำดับ ดังนี้

แผนการบูรณะชนบท (พ.ศ. 2485 และ 2494)

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2485 โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดแผนการบูรณะชนบทขึ้น แผนบูรณะชนบท 2485 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

- สร้างสรรค์ชีวิตจิตใจของประชาชนในชนบทให้เหมาะสมที่จะเป็นพลเมืองดี อันเป็นวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางด้านจิตใจ ดังจะเห็นได้จากมีการกำหนดเรื่องการปกครองหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2486 คือ นอกจากตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว ยังมีการเลือกตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เรียกว่า ผู้ช่วยฝ่ายการทำงาน เป็นชาย 1 หญิง 1 ทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยนี้ รวมเรียกว่า กรรมการหมู่บ้าน แผนการบูรณะชนบท 2485 นี้ต้องการฝึกฝนประชาชนให้รู้จักสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองดี โดยเรียนรู้ถึงสิทธิการเลือกตั้ง มีการตรวจตราตักเตือน และอบรมประชาชน มีการประชุมเป็นครั้งคราว ซึ่งก็เป็นการสอนประชาชนรู้จักปรึกษาหารือกันแบบประชาธิปไตย เป็นการยั่วยุให้ประชาชนมีความสนใจและกระตือรือร้นในกิจกรรมของท้องถิ่นและชุมชนของตน

- ส่งเสริมให้ประชาชนมีการครอบชีพดีขึ้น อันเป็นวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาทางด้านวัตถุ โดย กรรมการหมู่บ้าน นอกจากจะมีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการอำเภอกำหนดมอบหมายแล้ว ยังมีหน้าที่จะช่วยเป็นหน่วยส่งเสริมเกี่ยวกับอาชีพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยการดำเนินงานตามโครงการนี้ นอกจากจะมีคณะกรรมการดังกล่าวแล้ว ยังได้คัดเลือกบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมงานด้วย เรียกว่า ปลัดอำเภอประจำตำบลหรือปลัดตำบล ปลัดตำบลต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนจัตวา และมีคุณสมบัติพิเศษที่กำหนดไว้อีก คือ ต้องเป็นผู้ที่รักที่จะทำงานให้หมู่บ้านและเป็นผู้ที่เข้ากับประชาชนได้ดี แผนการบูรณะชนบท 2485 นี้ดำเนินไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องยุบเลิกด้วยเหตุผลบางประการ ดังต่อไปนี้

1. มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ไม่ส่งเสริมแผนบูรณะชนบท เพราะขณะนั้นกำลังเกิดสงคราม
2. คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของหลักการและวิธีการปฏิบัติงานอย่างดีพอ
3. การเร่งรัดในโครงการ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
4. รัฐบาลไม่ให้เงินอุดหนุนในการทำงาน ประชาชนต้องออกเงินเอง
5. มีลักษณะเป็นการบังคับต่อประชาชน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 – 2501 กรมประชาสงเคราะห์และกรมมหาดไทย ต่างก็มีการเคลื่อนไหวในการดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2501 กรมมหาดไทยได้ทำโครงการพัฒนาการท้องถิ่นทดลองขึ้น โดยได้คัดเลือกปลัดอำเภอเข้ามารับการอบรมเพื่อเป็นปลัดอำเภอพัฒนากร ได้ส่งปลัดอำเภอพัฒนากรอีก 47 คนไปเนินงานพัฒนาอีก 29 จังหวัด

ในระหว่างที่กรมมหาดไทยกับกรมประชาสงเคราะห์กำลังดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น โดยส่งปลัดอำเภอพัฒนากรออกไปปฏิบัติงานในเขตพัฒนานั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้วางโครงการมูลสารศึกษา (Fundamental Education) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมนักศึกษาผู้ใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ณ ศูนย์ฝึกอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี เรียกโดยย่อว่า ศ.อ.ศ.อ. ทำการผลิตนักศึกษา เรียกว่า สารนิเทศน์ ใช้หลักสูตรฝึกอบรม 2 ปี ดังนั้น ระยะปี พ.ศ. 2499 – 2502 ก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและของกระทรวงมหาดไทยดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น ต่างคนต่างทำไปพร้อม ๆ กัน มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน แต่มีเขตดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น ต่างคนมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและของกระทรวงมหาดไทยดำเนินงานแตกต่างกัน เพราะการนิเทศน์ทำงานเป็นทีม ทีมละ 6 คน ส่วนปลัดอำเภอพัฒนากรทำงานคนเดียว

ใน พ.ศ. 2502 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการวางแผนและบริหารงานพัฒนาการท้องถิ่นด้วยความอนุเคราะห์จากองค์การสหประชาชาติ ผลของการสัมมนาได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ประการ ดังนี้

1. ให้กรมมหาดไทยรับนโยบายไปปฏิบัติ
2. เห็นควรโอนสำนักงานคณะกรรมการกลางพัฒนาการท้องถิ่นจากระทรวงมหาดไทยไปขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่วางนโยบาย
3. กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่
4. ให้องค์การอิสระเป็นผู้วิจัยและประเมินผล

จากข้อเสนอดังกล่าวนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมมหาดไทยรับโอนสารนิเทศและงานจากกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดทั้งเป็นเจ้าของเรื่องการดำเนินงานไม่เพียงพอ สำหรับการผลิตสารนิเทศ ดังนั้น จึงให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น

เมื่อกระทรวงมหาดไทยรับหน้าที่ดำเนินงานพัฒนาการท้องถิ่น ก็ได้ปรับปรุงโครงการพัฒนาการท้องถิ่นแห่งใหม่ แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะรับมนตรีก็ได้รับเอาโครงการพัฒนาการท้องถิ่นแห่งชาติเข้าบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 โดยระบุวิธีดำเนินงานที่สำคัญไว้ 4 ประการ คือ

  1. ให้ประชาชนรู้จักช่วยตนเอง โดยจะใช้วิธีแนะนำกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเป็นฝ่ายริเริ่มก่อนเพื่อช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
  2. อบรมผู้นำท้องถิ่นให้ถูกทาง เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงท้องที่และนำประชาชนให้ทำงานร่วมกันกับพัฒนากรและเจ้าหน้าที่วิชาการ
  3. รัฐจะให้ความช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนทางวิชาการ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ หรือเงินเท่าที่จำเป็นมาสมทบกับแรงงานที่ประชาชนอุทิศให้
  4. ใช้หลักการประสานงานในการดำเนินงาน โดยการดำเนินงานตามโครงการต้องอาศัยความร่วมมือและประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่วิชาการต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคกับพัฒนาการซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการร่วมงานกับผู้นำท้องถิ่นจัดตั้งส่วนพัฒนาการท้องถิ่น (พ.ศ. 2503)

ในปี พ.ศ. 2503 สำนักงานพัฒนาการท้องถิ่น ได้รับการยกฐานะเป็นส่วนพัฒนาการท้องถิ่น ซึ่งขึ้นกับกรมมหาไทย ในขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยโดยกรมมหาดไทยได้ฝึกอบรมปลัดอำเภอพัฒนากรเพิ่มเติมร่วมกับ ศ.อ.ศ.อ. ซึ่งผลิตสารนิเทศให้ทำหน้าที่พัฒนาการเพื่อจะให้เพียงพอในการเข้าปฏิบัติงานตามเขตพัฒนาที่เปิดดำเนินการ ในเวลาเดียวกัน สำนักงาน ก.พ. ได้มี กฎ ก.พ. ออกมาตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้อราชการพลเรียน พ.ศ. 2497 เทียบตำแหน่งเรียกชื่ออย่างอื่นในกรมมหาดไทย รวมเรียกปลัดอำเภอพัฒนาการและสารนิเทศว่า “พัฒนากร” (C.D. Worker หรือเรียก C.D. Organizer) ดำเนินงานใน 11 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ 4 จังหวัดภาคใต้ รวมเป็น 15 จังหวัด และในปี พ.ศ. 2505 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมฉบับที่ 10 พ.ศ. 2505 แยกงานพัฒนาชุมชนออกจากกรมมหาดไทย โดยตั้งขึ้นเป็นกรมใหม่จากส่วนพัฒนาการท้องถิ่น เรียกว่า กรมการพัฒนาชุมชน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ได้ดำเนินงานพัฒนาชุมชนมาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้มีการเปลี่ยนชื่อกรมมหาดไทย เป็นกรมการปกครอง ให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการปกครอง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย