สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน

ดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนา

เป็นการยากที่จะจัดลำดับว่า ชุมชนใดหรือสังคมใดมีความเจริญก้าวหน้า มีความทันสมัย หรือมีการพัฒนาสูงกว่าหรือต่ำกว่ากัน ทั้งนี้ เพราะบางชุมชนหรือบางสังคมมีความก้าวหน้าในด้านหนึ่งในระดับสูง แต่มีความด้อยหรือก้าวหน้าน้อยกว่าอีกด้านหนึ่ง เช่น ประเทศอินเดีย มีความก้าวหน้าทางด้านการเมือง ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง รัฐเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองอย่างกว้างขวาง แต่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ มีความอดอยากยากจนมาก เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาสังคมจึงอยู่ที่ว่าจะเลือก เครื่องชี้วัดอันใด จึงจะเหมาะสมกับสภาพชุมชนสังคมนั้น ๆ เป็นเครื่องชี้ที่แม่นยำเที่ยงตรงและเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

เครื่องชี้วัดหรือดัชนีการพัฒนานั้นมี 2 ระดับ คือ ระดับจุลภาคและระดับมหภาค ซึ่งจะกล่าวต่อไป ดังนี้

1. ดัชนีการพัฒนาในระดับจุลภาค

ดัชนีการพัฒนาในระดับจุลภาคนี้ ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาและบ่งชี้ระดับของการพัฒนาได้ คือ ดัชนีสร้างสัญลักษณ์ (Symbolic Structures) ของ ศาสตราจารย์ Frank W. Young สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่า

“ในสังคมหนึ่ง ๆ จะประกอบด้วยระบบย่อย ๆ แต่ละระบบจะมีลักษณะโครงสร้างที่แตกต่างกัน ความแตกต่างของโครงสร้างนี้สามารถวิเคราะห์ได้จากสิ่งต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและสัญลักษณ์ทางสังคมเหล่านี้จะเป็นเครื่องชี้แต่ละระบบที่ประกอบขึ้นเป็นระบบใหญ่ขึ้น จะมีปริมาณของสิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันแตกต่างกัน ระบบใดมีปริมาณสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันน้อย ถือได้ว่ามีระดับทางโครงสร้างต่ำ ระบบใดมีปริมาณหรือจำนวนสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันมาก ถือว่ามีระดับความแตกต่างโครงสร้างสูง”

โดยนัยแห่งทฤษฎีนี้ ดัชนีของการพัฒนาจึงมีอยู่ที่ระดับความแตกต่างทางโครงสร้างของชุมชนหรือสังคมเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยที่ทำให้ลักษณะโครงสร้างในระบบย่อยเหล่านี้แตกต่างกัน หรือมีปริมาณสิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันไม่เท่ากัน ได้แก่ การติดต่อสัมพันธ์และการเข้าถึงบริการจากศูนย์กลางหรือระบบใหม่ (Relative Centrality) ของระบบย่อยเหล่านั้น
การวิเคราะห์ดัชนีการพัฒนาในระดับจุลภาค ใช้ตัวแปรดังต่อไปนี้

1. ความแตกต่างทางโครงสร้าง (Structural Differentiation) หมายถึง ระดับหรือปริมาณหมู่บ้านที่เป็นระบบย่อย เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบันที่ปรากฏในชุมชน เช่น โรงเรียน วัด สถานีอนามัย ร้านค้า เป็นต้น

2. การติดต่อกับศูนย์กลางหรือระบบใหญ่ (Relative Centrality) หมายถึง ระดับหรือปริมาณของหมู่บ้านที่เป็นระบบย่อย ได้มีการติดต่อหรือรับบริการจากสถาบันหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนภายนอกมากน้อยเพียงใด สิ่งที่เป็นเครื่องชี้วัด คือ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ถนน ยานพาหนะ และผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

3. ความเป็นปึกแผ่นของชุมชน (Solidarity) หมายถึง ระดับหรือปริมาณการแพร่กระจายของสื่อที่กำหนดให้เป็นสัญลักษณ์แทนสถาบัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปริมาณทักษะ ความรู้ความสามารถของชุมชน เช่น กิจกรรมการรวมกลุ่ม การร่วมประกอบกิจกรรม กลุ่มสหกรณ์ พิธีกรรมชุมชน รวมทั้งจำนวนครั้งในการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมด้วย

2. ดัชนีการพัฒนาในระดับมหภาค

การใช้ดัชนีการพัฒนาในระดับมหภาคชี้วัดการพัฒนา มีความสำคัญและสามารถบ่งบอกถึงภาพรวมของการพัฒนาในระดับกว้างได้ว่า มีการพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหนและถ้าใช้ดัชนีการพัฒนาในระดับจุลภาคควบคู่ไปด้วย จะทำให้มองเห็นภาพของการพัฒนามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พิจารณาดัชนีการพัฒนาในระดับมหภาค ได้ดังนี้

1. การใช้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติต่อหัวเป็นดัชนี (GNP Per Capita) ซึ่งได้ถูกนำมาใช้จัดลำดับการพัฒนาประเทศ โดยมีความเชื่อว่าประเทศไทยจะมีความทันสมัยหรือมีการพัฒนาในระดับใดนั้น วัดจากรายได้ต่อบุคคลของประชากร ประเทศใดมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าอีกประเทศหนึ่ง แสดงว่าประเทศนั้นมีการพัฒนาในระดับสูงกว่า ซึ่งรายได้ต่อหัว คิดคำนวณจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product) หารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด ประเทศไทยใช้คำว่า GNP Per Capita

2. การใช้ระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นดัชนี โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมายถึง คุณภาพของมนุษย์ ได้แก่ พลังงาน ทักษะ พรสวรรค์ และความรู้ของประชาชน เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นประโยชน์ ประเทศใดมีการสะสมทรัพยากรมนุษย์ไว้มาก ประเทศนั้นก็มีโอกาสเจริญก้าวหน้าสูง ทั้งนี้ ทรัพยากรมนุษย์นั้นจะต้องมีคุณภาพด้วย โดยการคำนวณจาก

  • จำนวนผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา คิดเป็นร้อยละของประชากรในกลุ่มอายุ 15-19 ปี คูณด้วยระยะเวลาของการเรียน คือ 5 ปี
  • จำนวนผู้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา คิดเป็นร้อยละของประชากรในกลุ่มอายุที่ควรศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือ 20-24 ปี คูณด้วยระยะเวลาของการเรียน คือ 5 ปี

3. การใช้ดัชนีคุณภาพทางกายภาพของชีวิต (The Physical Quality of Life Index, PQLI) การใช้ดัชนีรายได้ต่อบุคคล บ่งชี้ระดับการพัฒนาประเทศนั้น เป็นสิ่งที่สรุปได้ยาก ในการที่จะจัดลำดับว่าประเทศพัฒนาหรือไม่ เพราะเป็นการจัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ดัชนี PQLI จะวัดในด้านการอ่านออกเขียนได้ การมีชีวิตรอดของทารกแรกเกิด และอายุขัยของชีวิต ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึง คุณภาพชีวิตของประชากรแต่ละประเทศ ประเทศใดประชากรมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง ก็ย่อมเจริญกว่าประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพชีวิตในระดับต่ำกว่า

ดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนาที่ประเทศไทยใช้วัดระดับของการพัฒนาในระดับหมู่บ้าน ตำบล หรือในชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนาในระดับจุลภาคอย่างหนึ่ง คือ เครื่องชี้วัด ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 หมวด 50 ตัวชี้วัด

แนวคิดทางสังคมวิทยา
แนวคิดทางมนุษยนิยม
แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนประชาคม
แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนในรูปแบบใหม่
ความหมายของชุมชน
ความหมายของการพัฒนาชุมชน
ความสำคัญของการพัฒนาชุมชน
จุดมุ่งหมายในการพัฒนาชุมชน
ดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนา
ดัชนีชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย