สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน

การรวมกลุ่ม

ปรัชญาประการที่สาม

ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนประการที่สาม คือ “การรวมกลุ่ม” (Grouping) ปรัชญาประการนี้ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาชุมชนนั้น ต้องอาศัยการรวมกลุ่มและการทำงานในกลุ่ม การที่จะเรียกว่า รวมกลุ่มนั้นจะต้องมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมารวมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน พลังกลุ่มนี้จะดลบันดาลให้งานพัฒนาต่าง ๆ บรรจุผลสำเร็จสมความมุ่งหมายได้ การรวมกันเป็นกลุ่มและการทำงานกับกลุ่มถือว่า เป็นหัวใจของงานพัฒนาชุมชน ถึงกับมีการกล่าวพันว่า “ถ้าไม่มีกลุ่มก็จะไม่มีงานพัฒนาชุมชนเกิดขึ้น” (no group, No C.D.)

การรวมกลุ่มนั้น มีได้หลายระดับ นับตั้งแต่ระดับล่างสุดไปสู่สูงสุด คือ กลุ่ม ครอบครัว ชุมชน สังคม รัฐ หรือประเทศชาติ เป็นต้น โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่อยู่คนเดียว นอกจากไม่มีทางเลือกหรือจำเป็นเท่านั้น เช่น ถูกเนรเทศหรือหลบหลีกเหตุการณ์บางอย่าง เป็นต้น

ปรัชญาประการนี้ สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า คนเป็นสัตว์สังคม การรวมตัวกันเป็นกลุ่มและทำงานร่วมกันจะช่วยให้คนเจริญเติบโตได้เร็วที่สุด มีนักคิดในหลาย ๆ สาขา เช่น สาขาการเมือง สาขาสังคมวิทยา และสาขาจิตวิทยา ได้แสดงความคิดและให้เหตุผลของการที่มนุษย์มารวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งมีทั้งคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน แล้วแต่การมองและพิจารณาในแต่ละด้านของนักคิดในแต่ละสาขานั้น ตัวอย่างสำคัญ ๆ เช่น ในสายตาของนักปรัชญาการเมืองบางท่านเห็นว่า มนุษย์มารวมกันเป็นกลุ่ม เพราะความกลัว อธิบายได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว ไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่ มีการทะเลาะวิวาทกัน ทำสงครามกัน และพยายามจะมีอำนาจเหนือกันและกัน เช่นนี้ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าขืนปล่อยให้เป็นไปดังกล่าวนี้ ความสุขหรือความปลอดภัยในชีวิตจะไม่มี จึงต้องมารวมกันเป็นกลุ่ม นักปรัชญาที่มีความคิดเห็นในแนวนี้ ก็คือ ฮอบส์ (Hobbes)

แต่มีนักปรัชญาบางท่าน กลับเห็นว่า มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วความสงบเป็นสัตว์โลกที่ดีเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังมีมนุษย์บางคนที่ประพฤติตัวให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สิน ดินแดน จึงทำให้มนุษย์ต้องมารวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้มีการออกกฎเกณฑ์กติกามาควบคุมให้มนุษย์อยู่ในกรอบอยู่ในวินัย และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนด้วย อันทำให้เกิดความเชื่อประการหนึ่งที่เรียกว่า “ถ้าไม่มีกลุ่มก็จะไม่มีกฎหมาย” (no group, no law) กล่าวคือ การที่มนุษย์มารวมกันอยู่ในกลุ่มจะทำให้ออกกฎหมายมาควบคุมกันได้ง่ายขึ้น นักปรัชญาในกลุ่มนี้ คือ ล็อค (Locke) และรุสโซ (Rousseau)

สำหรับในสายตาของนักสังคมวิทยาบางท่านเห็นว่า ทั้งความกลัวและการมารวมกลุ่มเพื่อที่จะได้มีกฎหมายมาควบคุมดังกล่าวเท่านั้น มิใช่สาเหตุที่มนุษย์มารวมกันอย่างแท้จริง แต่มนุษย์มารวมกลุ่มกัน เพราะแรงกระตุ้นภายในบางส่วนจากธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นมาตั้งแต่เกิด อันเป็นแนวความคิดของ กองเต (Comte) แต่ในสายตาของนักสังคมวิทยาบางท่านกลับเห็นว่า วัฒนธรรมมีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม นั่นก็คือ เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์อย่างหนึ่งที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกันและต้องรวมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม การให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมนี้เป็นแนวความคิดของ สเปนเซอร์ (Spencer) นักจิตวิทยาบางท่าน คือ แม็คโดเกล (Mcdougell) มีความเห็นว่า มนุษย์รวมกันเป็นกลุ่มเกิดจากสัญชาติญาณและแรงผลักดันที่จะต้องสืบพันธุ์ แสวงหา และสร้างสรรค์ บางท่าน เช่น

ฟรอยด์ (Freud) มีความเห็นว่า มนุษย์อยู่รวมกลุ่มกัน เพราะสัญชาตญาณและการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์เอง แต่สำหรับ ทรอทเตอร์ (Trotter) เชื่อว่า มนุษย์มีความพึงพอใจที่จะอยู่เป็นกลุ่มมากกว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วที่รวมกันอยู่เป็นเผ่า

ในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชนนั้น มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนทำงานเป็นกลุ่ม มีการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เป็นต้น การรวมกลุ่มและทำงานกับกลุ่มตามกระบวนการพัฒนาชุมชน ถือว่าเป็น “โรงเรียนฝึกหัดประชาธิปไตยเบื้องต้นในหมู่บ้าน” เพราะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาช่วยกันคิด ช่วยกันตัดสินใจ ช่วยกันวางแผน และช่วยกันปฏิบัติงานตามหลักประชาธิปไตย

ยิ่งไปกว่านั้น การรวมกลุ่มยังช่วยให้ประชาชนเกิดความกระตือรือร้น สนใจเข้าร่วมพัฒนา สร้างความเจริญ เป็นการผนึกกำลังความสามารถของประชาชนซึ่งกระจัดกระจายให้มารวมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน พลังความสามารถของแต่ละคนจะแปรสภาพไปเป็นพลังกลุ่ม ซึ่งมีพลังมากกว่าพลังของคนธรรมดา ยิ่งกลุ่มมีการรวมกันอย่างเหนียวมากขึ้น ๆ จนกลายเป็นกลุ่มนั้นมีชีวิต มีจิตสำนึกแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากขึ้น นอกเหนือไปจากนี้ การรวมกลุ่มในงานพัฒนาชุมชนจะช่วยสร้างระบบต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน เช่น มีการสร้างและพัฒนาองค์กรหรือสถาบันการศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้และรับแนวความคิดใหม่ ๆ ตลอดจนเป็นแกนนำในการปฏิบัติงานเพื่อชุมชนต่อไป

สรุปได้ว่า มนุษย์และกลุ่มมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแยกออกจากกันได้ลำบากมาก มนุษย์นั้นเองที่เป็นผู้สร้างกลุ่ม ขณะเดียวกันกลุ่มก็ช่วยให้มนุษย์มีความสำคัญขึ้น ๆ โดยแสดงออกทางพลังความสามารถของกลุ่ม กลุ่มช่วยสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้กับงานต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานพัฒนาชุมชน ดังนั้น ปรัชญาของการพัฒนาชุมชนประการที่สามที่ว่าด้วยการรวมกลุ่ม จึงนับว่ามีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาชุมชนประสบความสำเร็จ

ความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ความศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวคน
การรวมกลุ่ม
ความยุติธรรม
การศึกษา
หลักประชาธิปไตย
ความสมดุลของการพัฒนา
อุดมการณ์ คุณธรรม จริยธรรมของนักพัฒนา
ความเชื่อของนักพัฒนา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย