สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน

ความหมายของการพัฒนา แนวคิด และวิวัฒนาการ
ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา
ปรัชญา อุดมการณ์ของการพัฒนาชุมชน
แนวคิดและความหมายของชุมชนและการพัฒนาชุมชน
ประวัติความเป็นมาของการพัฒนาและการพัฒนาชุมชนในประเทศไทย
หลักการพัฒนาชุมชน
บรรณานุกรม

ความหมายของทฤษฎีและทฤษฎีการพัฒนา

ทฤษฎีพึ่งพา

(Dependency Theory)

เอ. โอ. เฮอร์แมน (A. O. Hirschman) ได้ศึกษาความเป็นมาของแนวคิดในประเทศกำลังพัฒนาพบว่ามีแนวคิดหลักของพวกลาตินอเมริกา ซึ่งแบ่งได้ 2 แนว คือ
แนวแรก เป็นการอธิบายภาวะด้านปรัชญาและจิตวิทยา โดยมีความเห็นว่าปรัชญาชีวิตและลักษณะประจำตัวของมนุษย์บางประการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ได้แก่ ความเกียจคร้าน ความซึมเศร้า ความถือตัว การต่อต้านวัตถุนิยม และการเชื่อในจิตและวิญญาณ เป็นต้น

แนวที่สอง เป็นการกล่าวหาประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายว่าแสวงประโยชน์และทำให้ปรเทศลาตินอเมริกาด้อยพัฒนา

ที. โดส ซานโตส (T. DosSantos) ได้ให้ความหมายของการพึ่งพาไว้ดังนี้ “การพึ่งพา หมายถึง สถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนา และขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ของประเทศอื่น” และมีลักษณะพึ่งพาทั้งในทางวัฒนธรรม สังคม การเมือง และเศรษฐกิจต่อประเทศทุนนิยมตะวันตก โดยเฉพาะทางเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ ทุน สินค้าประเภททุน และตลาดสินค้าสำหรับส่งออก เป็นต้น

ผู้นิยามแนวคิดการพึ่งพาทั้งหลายมีความเห็นว่า ความด้อยพัฒนานั้นเกิดขึ้นจากการที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกที่สามถูกดึงเข้าร่วมในระบบทุนนิยมระหว่างประเทศในฐานะประเทศบริวารของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายและทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโลกที่สามเอื้ออำนวยต่อการถูกแสวงประโยชน์โดยประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมยังไม่ส่งเสริมการพัฒนาแบบทุนนิยมอีกด้วย ไดอีเตอร์ เสงหาส (Dieter Seenghaas) เรียกประเทศเหล่านี้ว่า “ทุนนิยมง่อย” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะไม่มีสินค้าประเภททุน (capital goods) ที่ผลิตเองได้ ต้องไปอาศัยประเทศพัฒนาแล้วโดยการนำเข้า จึงกลายเป็นตลาดสำคัญของสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันก็ส่งวัตถุดิบไปให้ประเทศดังกล่าว ลักษณะเช่นนี้ยังเกิดขึ้นภายในประเทศด้อยพัฒนาระหว่างชนบทกับเมืองด้วย
การศึกษาทฤษฎีพึ่งพามีอยู่ 3 แนวทางด้วยกัน และทุกแนวทางต่างมีท่าทีของการต่อต้านจักรวรรดินิยมอยู่ด้วยทั้งนั้น คือ

แนวทางแรก ได้แก่ การศึกษาแบบทุนนิยม โดยรวมเอาแนวนิยมต่าง ๆ เช่น ทัศนะของการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง ความเป็นชาตินิยม โครงสร้างนิยมและพัฒนานิยมเข้าด้วยกัน แม้จะมีลักษณะของการต่อต้านจักรวรรดินิยม แต่ก็ยังมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาตามแนวทางของทุนนิยมต่อไปได้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับประเทศพัฒนาแล้วเสียใหม่ เพื่อมิให้ถูกเอาเปรียบทางผลประโยชน์หรือมูลค่าส่วนเกินไปมากนัก ทฤษฎีที่นำมาใช้วิเคราะห์ของแนวทางนี้ คือ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม ซึ่ง ออสวัลโด ซังเกล (Osvaldo Sunkel) ได้ทำการศึกษาทั้งปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและระบบทุนนิยมโลก เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความพัฒนาและความด้อยพัฒนานั้น คือ แต่ละด้านของเหรียญเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนา ความด้อยพัฒนา การพึ่งพา ความตกต่ำ และความแตกต่างทางพื้นที่ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและอยู่ในกระบวนการขยายตัวของทุนนิยมโลกเดียวกัน

การแก้ไขอยู่ในกระบวนการขยายตัวของทุนนิยมโลกนี้ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วเป็นศูนย์กลางและบริวารทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ มีการได้เปรียบแบบพึ่งพาเกิดขึ้น
แนวทางที่สอง คือ การศึกษาแบบมาร์กซิสต์ โดยเน้นความสำคัญของภาวะนามธรรม เพราะเชื่อว่าการทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้น จำเป็นจะต้องกำหนดตัวแบบหรือสมมติฐานขึ้นมาก่อน แล้วจึงทำการรวบรวมตัวเลข ข้อมูล และหลักฐานต่าง ๆ ของสภาพที่เป็นจริงมาอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นนักทฤษฎีคนสำคัญที่ได้ทำการศึกษาตามแนวมาร์กซิสต์นี้ ได้แก่ อังเดร จี. แฟรงค์ (Andre G. Frank) ซึ่งสรุปความคิดได้ดังนี้

(1) การพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนต่อเนื่องแบบเดียวกัน ประเทศด้อยพัฒนาขณะนี้ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยผ่านมาก่อน และประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่เคยด้อยพัฒนาแบบนี้มาก่อน แม้จะเคยเป็นประเทศที่ไม่พัฒนามาก่อนก็ตาม

(2) ความด้อยพัฒนามิได้สะท้อนถึงโครงสร้างของประเทศด้อยพัฒนา แต่เป็นผลทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศศูนย์กลางอันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการขยายระบบทุนนิยมโลกอันทำให้มีการแสวงประโยชน์จากแรงงานของประเทศบริวารผ่านทางการค้าที่ผูกขาด มีการทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เลี้ยงตัวเองได้ (Self-subsistence) ของประเทศด้อยพัฒนาและเปลี่ยนประเทศด้อยพัฒนาเป็นแหล่งการสะสมทุนของประเทศศูนย์กลางและการพัฒนาของประเทศศูนย์กลาง

(3) แฟรงค์ได้ตั้งสมมติฐานของการศึกษาไว้ดังนี้

  • สิ่งที่แตกต่างกันในการพัฒนาระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ก็คือ ประเทศพัฒนาแล้วไม่เคยเป็นบริวาร แต่ประเทศด้อยพัฒนากำลังเป็นบริวารและมีข้อจำกัดหลายประการ
  • ประเทศบริวารจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทุนนิยมดั้งเดิม ถ้ามีความผูกพันกับประเทศศูนย์กลางน้อยที่สุด
  • ภูมิภาคที่ด้อยพัฒนาและมีลักษณะของสังคมศักดินามากที่สุดอยู่ในขณะนี้ก็เพราะเคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกับเมืองหลักหรือประเทศศูนย์กลางมาก่อน

แฟรงค์ได้เสนอให้ประเทศในลาตินอเมริกาแยกตัวอย่างเด็ดขาดออกจากความสัมพันธ์แบบศูนย์กลางกับบริวาร โดยการปฏิวัติทางสังคมนิยม

แนวทางที่สาม คือ การศึกษาที่ใช้ทั้งแนวแรกและแนวที่สอง ใช้แนวทางโครงสร้างทุนนิยมสำหรับวิเคราะห์และอธิบายสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมของการพึ่งพา และใช้แนวทางมาร์กซิสต์สำหรับกำหนดภาวะหรือตัวแบบนามธรรมของการพึ่งพา แนวคิดหลัก ก็คือ สภาพเฉพาะของสิ่งหนึ่งจะถูกกำหนดเงื่อนไขโดยสภาพทั่ว ๆ ไป และใช้แนวคิดนี้กำหนดลักษณะที่แตกต่างกันของการพึ่งพา ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก (ลักษณะการพึ่งพาเป็นสภาพเฉพาะ ส่วนกระบวนการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกเป็นสภาพทั่วไป)

เนื่องจากทฤษฎีพึ่งพานี้มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันเป็นกลุ่ม ๆ ยังไม่เป็นทฤษฎีที่เป็นแนวเดียวกันในหลาย ๆ ประเด็น แต่ก็พอจะกล่าวถึงแนวคิดร่วมได้ว่ามีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง ดังนี้
ประการแรก ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจของประเทศบริวารอยู่ในภายใต้สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศหรือเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลก การวิเคราะห์และทำความเข้าใจเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศศูนย์กลางด้วย ซึ่งมักจะเป็นความสัมพันธ์ที่เสียเปรียบ

ประการที่สอง ความสัมพันธ์ของชนชั้นนำในประเทศบริวารกับประเทศศูนย์กลาง นอกจากจะมีลักษณะในการกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศบริวารแล้ว ชนชั้นนำยังมีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการเลียนแบบการดำรงชีวิตจากกันด้วย

ประการที่สาม ความไม่เท่าเทียมกันของประเทศสองกลุ่มจะมีมากขึ้น ทั้งในระดับประว่างประเทศ ชนชั้น ภาค และกลุ่มชน คนรวยก็ยิ่งรวย คนจนจะจนมากขึ้น มีความแตกแยกและขัดแย้งกันภายในสังคม

ทฤษฎีการพัฒนา
กลุ่มทฤษฎียุคก่อนสมัยใหม่
ทฤษฎีในสมัยอาณานิคม
ทฤษฎีสมัยใหม่
แนวความคิดกระแสหลักหรือปฏิฐานนิยม
ทฤษฎีการทำให้ทันสมัย
ทฤษฎีโครงสร้าง
ทฤษฎีการแปลงรูป
ทฤษฎีการแผ่กระจาย
ทฤษฎีการพัฒนาทวิภาค
ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม
ทฤษฎีความเป็นเหตุเป็นผล
ทฤษฎีการแก้ปัญหา
ทฤษฎีการสะสมทุน
ทฤษฎีแรงผลักดันสำหรับการพัฒนา
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างสมดุล
ทฤษฎีความเจริญเติบโตอย่างไม่มีดุลยภาพ
ทฤษฎีจักรวรรดินิยม
ทฤษฎีพึ่งพา
ทฤษฎีความด้อยพัฒนา
ทฤษฎีความพอใจในความต้องการพื้นฐาน
ทฤษฎีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สรุปเกี่ยวกับแนวความคิดและทฤษฎี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย