ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
เพลงไทยสมัยต่างๆ
สมัยกรุงสุโขทัย
จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย
เกี่ยวกับเพลงไทยพบว่ามีปรากฏน้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่องดนตรี
บทเพลงส่วนใหญ่สันนิษฐานกันว่าเป็นเพลงพื้นเมืองที่ร้องเล่นเพื่อขับกล่อม
หรือพักผ่อนหลังจากการทำงาน ไม่มีการแสดงประกอบ เป็นเพลงที่มีจังหวะ
ทำนองรวดเร็วและกระฉับกระเฉง เทียบได้กับอัตราจังหวะชั้นเดียว โดยเพลงที่มีชื่อว่า
เทพทอง ถือเป็นบทเพลงที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า 700 ปี
ต่อมาเมื่อนำเพลงนี้มาใช้ขับร้องเพื่อประกอบการแสดงละคร มีวงดนตรีรับ-ส่ง
จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงสุโขทัย
สมัยกรุงศรีอยุธยา
เพลงไทยสมัยนี้มีหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่าเป็นเพลงที่มีจังหวะปานกลางไม่ช้าไม่เร็ว เทียบได้กับอัตราจังหวะ 2 ชั้น ทั้งนี้ เนื่องจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีการแสดงประเภทโขนละครและหนังใหญ่ขึ้น จึงต้องมีการสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อใช้ประกอบการแสดงให้มีความเหมาะสมกับ ท่ารำ และการบรรเลงขับกล่อมในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ประชาชนนิยมเล่นเพลงเรือ สักวา
ลักษณะเพลงไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาสามารถแยกประเภทเพลงได้ ดังนี้
1. เพลงร้องมโหรี ใช้สำหรับขับร้องและบรรเลงวงมโหรี เพื่อขับกล่อม ได้แก่
- เพลงตับ เช่น เพลงตับเรื่องพระนคร เพลงตับเรื่องนางร้องไห้ เพลงตับเรื่องเกสรมาลา เพลงตับเรื่องยิกิน เป็นต้น
- เพลงเกร็ด เช่น นางตานีร้องไห้ ศรีประเสริฐ ระส่ำระสาย มดน้อยล่องเรือละคร เป็นต้น
2. เพลงปี่พาทย์ ใช้สำหรับขับร้องและบรรเลงวงปี่พาทย์ เพื่อประกอบโขน ละคร และพิธีการต่างๆ มีดังนี้
- เพลงหน้าพาทย์ เช่น สาธุการ ตระรัว ช้าปี่ โอ้ร่าย ชมตลาด ช้าครวญ เป็นต้น
- เพลงเรื่อง เช่น เพลงเรื่องทำขวัญ เพลงเรื่องพระนเรศวร เป็นต้น
3. เพลงภาษา เนื่องจากในสมัยนี้มีการติดต่อกับต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ จึงเกิดขึ้น ด้านดนตรีได้มีการประพันธ์บทเพลงโดยเลียนสำเนียงชาติต่างๆ เพื่อบรรเลงประกอบตัวละครตามชาตินั้น เช่น เพลงมอญ ได้แก่ เพลงหงส์ลีลา หงส์ร่อนเหราเล่นน้ำ ลูกติดแม่ สามภาษา เป็นต้น เพลงจีน ได้แก่ จีนเก็บดอกไม้ จีนหลวงนางกลับเข้าที่ เป็นต้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ 1 เนื่องจากเป็นช่วงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น บทเพลงส่วนใหญ่จึงยังคงใช้ของเดิมที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
รัชกาลที่ 2 การดนตรีมีความเจริญขึ้นเป็นลำดับ มีบทเพลงพระราชนิพนธ์ ชื่อว่า บุหลันลอยเลื่อน 2 ชั้น
รัชกาลที่ 3 มีการร้องเพลง 3 ชั้นประกอบการบรรเลงดนตรีขึ้นโดยพระประดิษฐ์ ไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือครูมีแขก) นำเพลงที่มีจังหวะปานกลาง 2 ชั้น มาขยายให้มีจังหวะช้าและยาวขึ้นเป็นคนแรก ได้แก่ เพลงจีนขิมเล็ก เพลงจีนขิมใหญ่ เพลงแขกบรเทศ เพลงภิรมย์สุรางค์ เป็นต้น นอกจากนี้ เพลงสำเนียงภาษาต่างๆ ยังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะในรัชกาลนี้ เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับนานาอารยประเทศมากขึ้น
รัชกาลที่ 4 เกิดประเภทของเพลงที่เรียกว่า เพลงเถา ขึ้น เพลงเถา หมายถึง เพลงไทยที่มีลักษณะการบรรเลงติดต่อกันตั้งแต่ 3 อัตราจังหวะ ขึ้นไป เพลงเถาเพลงแรกมีชื่อว่า เพลงทยอยใน ผู้ประพันธ์คือครูเพ็ง (ไม่ทราบนามสกุล) กล่าวกันว่าเป็นญาติผู้น้องของพระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมีแขก) ความก้าวหน้าทางด้านดนตรีสมัยนี้อีกอย่างหนึ่ง คือ พระ-ประดิษฐ์ไพเราะ ได้ประพันธ์เพลงที่เรียกว่า เพลงทยอย หมายถึง การประพันธ์บทเพลงที่มีการลักจังหวะ มีการแบ่งเครื่องดนตรีในการบรรเลงก่อน บรรเลงหลัง หรือ ลูกล้อลูกขัด ขึ้นเป็น ครั้งแรก จนได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ้าแห่งเพลงทยอย นอกจากนี้ ท่านยังได้เป็นผู้ประพันธ์เพลงสำหรับอวดฝีมือนักดนตรีและทางของเครื่องดนตรีขึ้นเป็นเพลงแรก คือ เพลงทยอยเดี่ยว สำหรับเครื่องดนตรีปี่โดยเฉพาะ และกลายเป็นต้นแบบของเพลงเดี่ยวต่างๆ ในปัจจุบัน
รัชกาลที่ 5 เกิดเพลงใหม่ขึ้นหลายบทเพลงและได้รับความนิยมอย่างสูงแม้ในปัจจุบัน เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพลงเขมรไทรโยค 3 ชั้น พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพลงลาวดวงเดือน 2 ชั้น พระ-นิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เพลงลาวคำหอม 2 ชั้น ของจ่าเผ่นผยองยิ่ง หรือจ่าโคม นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังเป็นผู้พระราชนิพนธ์เพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นเป็นครั้งแรก อันเป็นต้นเค้าของเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน
รัชกาลที่ 6 เกิดเพลงทางกรอ เพลงทางเปลี่ยนและเพลงที่มีลูกนำขึ้นต้น (Intro) โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
รัชกาลที่ 7 - รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ 3 เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เพลงเขมรลออองค์ เถา และ เพลงราตรีประดับดาว เถา หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ในระยะแรกดนตรีไทยซบเซาลงเนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนการดนตรีไทย ระยะต่อมามีนักดนตรีหลายท่านเห็นว่าการดนตรีไทยใกล้ถึงจุดวิกฤติจึงร่วมกันฟื้นฟู และพัฒนาการดนตรีขึ้นใหม่ให้มีความเจริญเหมือนดังแต่ก่อนผู้ที่มีบทบาทสำคัญในครั้งนี้ ได้แก่ ครูมนตรี ตราโมท ดุริยางศิลปิน อาวุโสและศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีผลงานการประพันธ์เพลงไทยมากมาย ได้แก่ เพลง 3 ชั้น เพลงเถา เพลง 2 ชั้นและชั้นเดียว เพลงเดี่ยว เพลงประเภทร้องสอดดนตรี เพลงระบำ เพลงเบ็ดเตล็ด และเพลงไทยสากล จำนวนมากกว่า 300 เพลง หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มีผลงานการประพันธ์เพลงไทยจำนวนหลายร้อยเพลง
นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราช-สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังมีความสนพระทัยในการดนตรีไทยอย่างยิ่งทรงพระราชนิพนธ์เนื้อเพลง อันแสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย จากการตามเสด็จพระราชดำเนินแล้วบรรจุลงในเพลงลาวดำเนินทราย 2 ชั้น พระราชทานชื่อใหม่ว่า เพลงไทยดำเนินดอย 2 ชั้น