สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคกระเพาะอาหาร
หน่วยโรคทางเดินอาหาร ฯ ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคกระเพาะอาหาร คือโรคที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็นนานๆ ถ้าไม่รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะมีมากมายแต่เชื่อกันว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีกรดในกระเพาะอาหารมาก และเยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง
1. สาเหตุที่กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น เกิดขึ้นเนื่องจาก
- กระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์
- การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง
- การดื่มกาแฟ
- การสูบบุหรี่
- การกินอาหารไม่เป็นเวลา
2. มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดจาก
- การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอนต่างๆ
- การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัดจากน้ำส้มสายชู
- การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบี้ย ยาดอง
อาการที่พบ
1. ปวดท้อง ลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ
- ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี
- ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่างเมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวด บางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือนมจะหายปวด บางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือปวดกลางดึกก็ได้
2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
3. อาการโรคแทรกซ้อน ได้แก่
- อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
- ปวดท้องรุนแรงและช็อก เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ
- ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดต้นของกระเพาะอาหาร
ข้อควรจำ
อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้
การตรวจเพื่อให้รู้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ทำได้ดังนี้
1. แพทย์จะวินิจฉันได้ถูกต้องจากการซักประวัติอาการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะ เช่น โรคถุงน้ำดี โรคตับ
2. จากการเอกซเรย์ โดยการกลืนแป้งดูกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก หรือไม่ อาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น สามารถตรวจพบว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กหรือไม่
3. การส่องกล้อง เพื่อตรวจดูกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก จะสามารถมองเห็นเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กว่ามีการอักเสบมีเลือดออก หรือมีแผลหรือไม่ ตลอดจนสามารถตัดเนื้อเยื่อออกมาตรวจพิสูจน์ได้ด้วย
การรักษา
1. กำจัดต้นเหตุของการเกิดโรค ได้แก่
- กินอาหารให้เป็นเวลา
- งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- งดดื่มเหล้า เบียร์ หรือยาดอง
- งดดื่มน้ำชา กาแฟ
- งดสูบบุหรี่
- งดเว้นการกินยา ที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร
- พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายคลายตึงเครียด
2. การให้ยารักษา โดยกินยาอย่างถูกต้อง คือต้องกินยาให้สม่ำเสมอ กินยาให้ครบตามจำนวน และระยะเวลา ที่แพทย์สั่งยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย ดังนั้นภายหลังกินยา ถ้าอาการดีขึ้นห้ามหยุดยา ต้องกินยาต่อจนครบ และแพทย์แน่ใจว่าแผลหายแล้ว จึงจะ ลดยาหรือหยุดยาวได้
3.การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบัน มียาที่รักษาโรคกระเพาะอาหารอย่างดีจำนวนมากถ้าให้การรักษาที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดอาจทำให้เป็นกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่
- เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก โดยไม่สามารถทำให้หยุด เลือดออกได้
- แผลกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กเกิดการทะลุ
- กระเพาะอาหารมีการอุดตัน
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
- กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง หรือหิว ถ้าหิวก่อนเวลาให้ดื่มนม หรือน้ำเต้าหู้ น้ำข้าว น้ำผลไม่ได้
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จากน้ำสมสายชู
- งดดื่มเหล้า เบียร์ กาแฟ ยาดอง
- งดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด แก้ไข้ที่มีแอสไพริน หรือยาชุดต่างๆ รวมทั้งยาแก้ปวดกระดูก และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอน ยาหม้อต่างๆ
- ควรพักผ่อนให้มากเพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบานผ่อนคลายเครียดวิตกกังวล และไม่หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย
- กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ากินยาแล้วอาการดีขึ้น ต้องกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ ไม่ควรหยุดยาก่อน เพราะอาการปวดท้องจะกำเริบได้อีก
- ควรออกกำลังกาย แต่ไม่ควรมากเกินไป
- อย่าซื้อยากินเอง
- มีโรคอื่นควรปรึกษาแพทย์