สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

นอนไม่หลับ

ลักษณะอาการผู้ป่วยที่พบมากขึ้นคือ การนอนไม่หลับในประเภทที่มีโอกาสนอนแต่ไม่ยอมนอน อีกพวกคือมีโอกาสนอนแต่ตั้งใจจะไม่นอน

"โรคนอนไม่หลับ" นับเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต เพราะที่ผ่านมาการรักษาส่วนหนึ่งใช้ยานอนหลับซึ่งมีผลกระทบต่อคนไข้ ทำให้สุขภาพแย่ลง ปัจจุบันมีการรักษาวิธีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้คนไข้ปลอดภัยจากผลกระทบต่าง ๆ

นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า ปัญหาการนอนไม่หลับ ส่วนใหญ่คนไข้จะมีลักษณะอาการคือ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่ลึก นอนไปแล้วตื่นเร็วกว่าปกติ พอตื่นมาแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ทำให้หลับน้อยลง และตื่นมาตอนเช้าไม่สดชื่น

ลักษณะอาการผู้ป่วยที่พบมากขึ้นคือ การนอนไม่หลับในประเภทที่มีโอกาสนอนแต่ไม่ยอมนอน อีกพวกคือมีโอกาสนอนแต่ตั้งใจจะไม่นอน สองกลุ่มนี้ต้องแยกออกจากกัน พวกที่ตั้งใจอดนอนมีมากในปัจจุบัน เพราะมัวแต่ทำงาน เล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนังสือสอบ ทำการบ้านส่งครู สิ่งตามมาคือ การอดนอน โดยจะนอนน้อยลงกว่าธรรมชาติ

ธรรมชาติของการนอนควรมีระยะเวลา 7–8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย มีบางคนที่ต้องการนอนน้อยหรือต้องการนอนมากกว่านั้นแล้วแต่บุคคล เพราะบางคนนอนแค่ 5 ชั่วโมงก็เพียงพอ แต่บางคนนอน 8 ชั่วโมงแล้วไม่เพียงพอ เวลานอนพอหรือไม่พอวัดกันที่เวลาตื่นมาแล้วสดชื่น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนั้นตัวเลขชั่วโมงการนอนไม่ใช่เครื่องยืนยันตายตัว

ปัญหาการอดนอนคือ จะง่วงกลางวัน ความสามารถในการดำเนินชีวิตแย่ลง สมาธิอารมณ์ขุ่นมัว และยังมีผลต่อสรีระของร่างกายที่เจอบ่อยในระยะยาวเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น และคนที่นอนไม่หลับจะมีปัญหาเรื่องไข้หวัดเพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง

ทางการแพทย์พบว่ายิ่งอดนอนร่างกายยิ่งอ้วน เพราะระบบการเผาผลาญในร่างกายไม่ดี บางคนอดนอนแล้วกินก็มี แต่เบาหวานความดันไม่ใช่เรื่องกะทันหันแต่จะเป็นระยะกว่า 10 ปีถึงจะแสดงผล
การวิจัยคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ และพวกที่นอนไม่หลับเกือบทุกคืนเป็นประจำ มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด แต่ถ้านาน ๆ ทีไม่เป็นไร

การรักษายิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าปล่อยให้เรื้อรัง การรักษายิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้บางคนนอนไม่หลับมา 10 ปี เช่น อาทิตย์หนึ่งเจ็ดวันไม่หลับสักห้าวัน หรือมีหลับบ้างแต่หลับไม่ลึก ถ้ารีบรักษาอาการจะไม่มีผลกระทบระยะยาว

สิ่งที่ต้องทำกับคนไข้เกือบทุกคนคือ จะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยไม่ใช้ยา อันดับแรกพิจารณาจากการที่มนุษย์จะนอนต้องมี 2 สัญญาณคือ 1.ความมืด ถ้าคนไข้มัวเล่นคอมพิว เตอร์หรือไอโฟน สัญญาณการนอนจะผิดปกติทำให้นอนไม่ได้ 2.ความสงบ ที่จะทำให้การนอนประสบผลสำเร็จ ถ้าคนไข้ไม่มีสองสัญญาณนี้การนอนหลับจะยากมาก ต้องจัดการ 2 สัญญาณนี้ให้แข็งแรงก่อน โดยต้องดูพฤติกรรมเพื่อกำจัดสิ่งเร้า

มีคนไข้บางรายจัดการทั้ง 2 สิ่งแล้ว แต่ยังนอนไม่ดีอีกอาจเป็นเพราะศูนย์นอนไม่ดี ต้องใช้ยาเข้าไปช่วย ยุคเก่ามียานอนหลับที่ช่วยเป็นกลุ่มยานอนหลับแบบเก่า มีข้อเสียในการดื้อยาได้ง่ายมาก ต้องกินเพิ่มขนาดไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญเวลาหยุดการนอนไม่หลับจะกลับมารุนแรงกว่าเก่า คนไข้ก็กลับไปใช้ใหม่ ถ้ากินปริมาณมากความทรงจำหลังกินยาจะหายไปช่วงหนึ่ง

ปัจจุบันมียาอีกกลุ่มที่เริ่มใช้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เวลาร่างกายมีทั้งสองศูนย์ที่จะช่วยในการ หลับ สารนี้จะหลั่งออกมาในร่างกาย กินยานี้แล้วไม่ทำให้ติดเหมือนแบบเก่า และไม่มีผลให้เกิดความจำเสื่อม สามารถใช้ได้ติดต่อกัน 2–3 เดือน

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหานอนไม่หลับ การทานยาไม่ใช่คำตอบเดียว แต่ต้องปรับพฤติกรรมการนอนด้วย ถ้ากินยาลองกินไปสัก 3 เดือนแล้วค่อยหยุดยา เพราะสาเหตุการนอนไม่หลับ มีทั้งที่หาสาเหตุได้กับหาสาเหตุไม่ได้ บางคนไม่มีปัญหาอะไรแต่เครียดที่ตัวเองนอนไม่หลับ กับอีกกลุ่มที่มีปัญหาให้คิดสารพัด เกินครึ่งมาจากวิตกกังวลและซึมเศร้าซึ่งแพทย์ต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ตอนแรก

คนนอนไม่หลับในไทยมี 30 เปอร์เซ็นต์จากประชากรที่มีปัญหาบ้าง ถ้าเป็นคนที่มีผลกระทบต่อการงานและชีวิตประจำวันอยู่ที่ 6–10 เปอร์เซ็นต์

วัยรุ่นการตั้งใจไม่หลับไม่นอนมีปัญหามากในปัจจุบัน ถ้านอนไม่หลับเดือนหนึ่งแสดงว่าเริ่มมีปัญหา ถ้านอนไม่หลับแค่วันสองวันยังไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะวัยรุ่นสมัยนี้มีกิจกรรมมากขึ้น จะเจอมากพวกที่ไปหลับที่โรงเรียน และพวกที่ต้องนอนเยอะกว่าปกติ ซึ่งมีการนอนถึง 9–10 ชั่วโมง มากกว่าปกติถึงจะพอ ด้วยต้องการนอนมากกว่าคนอื่น แต่ถ้าอดนอนเข้าไปอีกยิ่งมีปัญหา

ส่วนวัยกลางคนมีปัญหานอนไม่หลับเกิดจากความเครียด และเรื่องจิตเวช ผู้สูงวัย การนอนไม่แข็งแรงเหมือนวัยเด็ก ระยะเวลารักษาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าโดยเฉลี่ยดีขึ้นประมาณเดือนหนึ่ง การจะกลับมานอนไม่หลับอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วย

ส่วนคนไข้ที่ใช้เวลานอนมากเกินไปมีหลายสาเหตุ เช่น คนที่ขาดลมหายใจระหว่างหลับ เพราะอ้วน นอนกรน สำลักอากาศตอนกลางคืน จะง่วงนอนตอนกลางวัน เพราะการที่เขาสำลักกลางคืนทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ ตื่นมาไม่สดชื่น ต้องมาตรวจดูการหายใจกลางคืนเป็นอย่างไร หรือบางคนเป็น โรคลมหลับ จะหลับง่ายกว่าปกติ บางคนนั่งยืนก็หลับ คนไข้บางคนสอนหนังสือยังหลับ แต่อันตรายถ้าหลับในกิจกรรมที่เสี่ยง ต้องทานยาเพื่อให้ตื่นตัว

ปัญหาการนอนไม่หลับแม้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเรื้อรังอาจส่งผลต่อชีวิตได้.

ที่มา - เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 พ.ย.56

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย