สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ความรู้เกี่ยวกับโรค พี อาร์ อาร์ เอส

โรค พี อาร์ อาร์ เอส (Porcine reproductive and respiratory syndrome; PRRS) มีรายงานการเกิดโรคครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 1987 โดยพบ การแท้งลูกในแม่สุกรท้องแก่ และมีจำนวน มัมมี่ ลูกสุกรตายแรกคลอด ลูกสุกรอ่อนแอ เพิ่มขึ้น ร่วมกับการแสดงอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ทั้งในแม่ และลูกสุกร แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ได้ จึงทำการเรียกชื่อโรคนี้ว่าโรค Mystery swine disease ซึ่งแปลว่า “โรคลึกลับ”

หลังจากนั้นได้มีรายงานความเสียหายในลักษณะเดียวกันในหลาย ๆ ประเทศ และมีการตั้งชื่อโรคตามลักษณะอาการที่พบ เช่น โรค Porcine epidemic abortion and respiratory syndrome (PEARS) โรค Blue ear โรค Swine infertility and respiratory syndrome (SIRV) รวมทั้งโรค พี อาร์ อาร์ เอส ต่อมาในปี 1990 จึงสามารถทำการแยกเชื้อได้สำเร็จในประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่อย่างไรก็ตามจากการศึกษาย้อนหลังในประเทศแคนาดา พบว่าสุกรในประเทศเริ่มมีการติดเชื้อตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาเริ่มแรกที่สุดเท่าที่สามารถตรวจสอบการปรากฏของเชื้อไวรัสในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรได้ ต่อมาได้มีรายงานการพบเชื้อในสุกรแต่ละประเทศแสดงถึงการแพร่กระจายไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จึงทำการจัดกลุ่มสายพันธุ์ของเชื้อเพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก ได้เป็นสองกลุ่มสายพันธุ์ คือ กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป และกลุ่มสายพันธุ์อเมริกา

ในประเทศไทยสามารถแยกเชื้อไวรัสได้เป็นครั้งแรกในปี 1996 โดยมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์อเมริกา แต่จากการศึกษาย้อนหลังของสถาบันสุขภาพสัตว์ ในช่วงปี 1988 ถึง 1999 พบว่าสุกรในประเทศไทยเริ่มติดเชื้อตั้งแต่ปี 1989 และจากรายงานการสำรวจทางซีรั่มวิทยาในปี 1995 พบว่า มีสุกรติดเชื้อกว่า 64% ในฟาร์มสุกรพ่อ-แม่พันธุ์จากภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่ามีการเพิ่มอัตราการแท้งลูกในฟาร์มสุกรที่มีความชุกต่อโรคพี อาร์ อาร์ เอส

การแพร่ระบาด

สัตว์ที่ติดเชื้อสามารถขับเชื้อไวรัสผ่านทาง สารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำเชื้อ รวมทั้งปัสสาวะ อุจจาระ และน้ำนม โดยสามารถตรวจพบการขับเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ถึง 42 วันหลังการติดเชื้อ ในน้ำมูกได้ถึง 38 วันหลังการติดเชื้อ ในปัสสาวะได้ถึง 28 วันหลังการติดเชื้อ ในอุจจาระได้ถึง 35 วันหลังการติดเชื้อ ในน้ำเชื้อได้ถึง 92 วันหลังการติดเชื้อ บริเวณต่อมทอนซิล 157 วันหลังการติดเชื้อ ในมดลูก 210 วันหลังการติดเชื้อ โดยสุกรมีช่องทางที่ไวต่อการติดเชื้อได้หลายช่องทาง ประกอบไปด้วย ช่องปาก โพรงจมูก กล้ามเนื้อ ช่องท้อง และช่องคลอด การถ่ายทอดหลักเกิดจากการสัมผัสต่อสัตว์ติดเชื้อโดยตรง แต่จากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดในรูปแบบอื่น เช่น ผ่านทางอากาศ ผ่านสัตว์ชนิดอื่น ผ่านทางแมลงดูดเลือด และผ่านพาหะไม่มีชีวิต เช่น รถบรรทุก เข็มฉีดยา รองเท้าบู๊ท เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ในฟาร์ม อย่างไรก็ตามเชื้อไวรัส สามารถถูกทำลายได้ง่ายในสภาพแวดล้อม หรือวัสดุที่พบได้ในฟาร์ม เช่น พลาสติก แสตนเลส ยาง ผ้า วัสดุรองพื้นคอก อาหารสุกร ปัสสาวะ อุจจาระ ยกเว้นแต่ในน้ำสะอาดที่มีอุณหภูมิต่ำ pH เป็นกลางเท่านั้นที่เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยาฆ่าเชื้อธรรมดาก็สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาการ

อาการทางคลินิกของโรคจะแสดงในสองระบบ คือ ระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจ ในด้านระบบสืบพันธุ์จะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในพ่อสุกร และแม่สุกรพันธุ์

ในพ่อสุกรพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการ ซึม เบื่ออาหาร ลดความต้องการทางเพศ และลดประสิทธิภาพของน้ำเชื้อ โดยจะลด ความสามารถในการเคลื่อนที่ และเพิ่มปริมาณอสุจิผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราการผสมติดต่ำลง แต่อย่างไรก็ตามมีบางการศึกษาไม่พบความผิดปกติที่เด่นชัดของน้ำเชื้อในพ่อสุกรพันธุ์หลังการติดเชื้อไวรัส

ในสุกรแม่พันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสจะลดอัตราการผสมติด เพิ่มสัดส่วนการกลับสัดหลังผสมทั้งแบบตรงรอบ และไม่ตรงรอบวงจรการเป็นสัด เกิดการแท้งทุกระยะของการตั้งท้อง โดยเฉพาะในระยะท้ายของการตั้งท้อง และเนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถติดเชื้อผ่านรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในช่วงปลายของการตั้งท้องทำให้มีจำนวน มัมมี่ ลูกสุกรตายแรกคลอด ลูกสุกรอ่อนแอหลังคลอดเพิ่มขึ้น

ในด้านของระบบทางเดินหายใจ สามารถพบความผิดปกติได้ในสุกรทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในสุกรเล็ก โดยมักพบการติดเชื้อแทรกซ้อนร่วมในระบบทางเดินหายใจ จากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสชนิดชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจซับซ้อนในสุกร (Porcine Respiratory Disease Complex หรือ PRDC)

การควบคุม และป้องกัน

จนถึงปัจจุบันโรค พี อาร์ อาร์ เอส ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั่วโลกโดยยังคงไม่มีคำแนะนำ หรือการแก้ไขปัญหาโรคที่เหมาะสมที่สุด มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มโรคในฝูงแม่สุกร อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า การใช้วัคซีนเชื้อตายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดีพอ ในส่วนของวัคซีนเชื้อสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดีกว่า แต่อาจมีผลเสียจากการใช้งาน เนื่องจากตัวเชื้อยังมีความรุนแรงตามธรรมชาติ การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดการตายของตัวอ่อนในท้อง และเกิดการแท้งได้หากทำการฉีดในแม่สุกรอุ้มท้อง และทำให้เกิดการแพร่เชื้อผ่านน้ำเชื้อในพ่อสุกรที่ถูกฉีดวัคซีน และวัคซีนเชื้อเป็นยังมีส่วนทำให้ไวรัสในสิ่งแวดล้อมมีการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การนำเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่มีชีวิต หรือเป็นไวรัสที่ตายเข้าสู่ร่างกายสุกรก็ยังสามารถทำให้เกิดกดการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายสุกรได้ และข้อด้อยที่สำคัญของการใช้งานวัคซีนก็คือ ความไม่คุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่สามารถป้องกันโรคข้ามสายพันธุ์ซึ่งจะทำให้สุกรที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังคงสามารถติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์อื่น หรืออาจเกิดการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์เดียวกันที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมค่อนข้างสูง

ข้อแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาในปัจจุบันได้แก่ การปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อลดการนำเข้าเชื้อสายพันธุ์ใหม่สู่ฟาร์ม และการ acclimatization สุกรสาวให้มีภูมิคุ้มกันที่ตรงต่อเชื้อสายพันธุ์ที่กำลังมีปัญหาในฟาร์มเพื่อ ลดความเสียหายในห้องคลอด และคอกอนุบาล นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีการสร้างฟาร์มปลอดต่อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ก็จัดเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เนื่องจากเป็นการจัดการโรคขั้นเด็ดขาด และให้ผลตอบแทนสูง ถึงแม้จะมีการลงทุนในการทำสูงก็ตาม ซึ่งปัจจุบันอุตสากรรมการผลิตสุกรแบบครบวงจรในแต่ละประเทศต่างเดินหน้าเข้าสู่เทคโนโลยีนี้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศชั้นนำในยุโรป รวมถึงประเทศไทยด้วย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย