สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
การจัดการอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน
การวางระบบการสอบสวนอุบัติเหตุ
การสอบสวนอุบัติเหตุ เป็นการดำเนินการหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว โดยบริษัทฯ กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในการประชุมสอบสวนอุบัติเหตุนั้นประกอบด้วยบุคลากรส่วนต่างๆ ของบริษัทฯ ได้แก่ คณะกรรมการความปลอดภัยฯ เจ้าหน้าที่แผนกวิศวกรรมซ่อมบำรุง หัวหน้างานแผนกที่เกิดอุบัติเหตุ พนักงานผู้ประสบเหตุหรือผู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่แผนกบุคคล โดยได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการสอบสวนอุบัติเหตุไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังต่อไปนี้
1. ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายเข้าไปดูจุดเกิดเหตุ เพื่อเก็บภาพ สอบถามข้อมูลการบาดเจ็บจากสถานที่เกิดเหตุจริง
2. เข้าประชุมพร้อมกันที่ห้องประชุมของบริษัทฯ และเริ่มทำการประชุมสอบสวนโดย
-
เขียนรายละเอียดประวัติพนักงานผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ ชื่อ นามสกุล , อายุตัว,แผนกที่สังกัด,อายุงาน,ประวัติการโยกย้ายหน้าที่
-
เรียบเรียงลำดับของการเกิดเหตุการณ์โดยละเอียดโดยใช้หลักการ 5W&1H คือ Who-What-When-Where-Why & How หรือ ใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำไม และอย่างไร ซึ่งองค์ประกอบในการสอบสวนอุบัติเหตุเหล่านี้ จะใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงได้ ตัวอย่าง เช่น เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.(When) นายสมคิด โชคสมใจ (Who) พนักงานประจำเครื่องบดรีด เบอร์ 3 แผนก อาหารเม็ด (Where)ได้สังเกตเห็นว่ามีการติดขัดของการหมุนของแกนบด (Why) จึงได้เปิดฝาครอบเครื่องออกแล้วใช้มือแหย่เข้าไปแคะเอางานที่ติดให้หลุดออก(What) ขณะที่แคะไม่ได้หยุดเครื่องจักร เกิดพลาดถูกแกนบดชิ้นงานหมุนดึงมือเป็นเหตุให้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางมือขวาถูกบดขาดละเอียด นิ้วละ ครึ่งข้อ (How) ให้วาดรูปประกอบคร่าวๆ (เขียนและวาดลงบนกระดาน)
-
ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยพิจารณาจากรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบคู่มือการทำงานหน้างานจริง (ถ้ามี) หรือถ้าไม่มีคู่มือปฏิบัติงานหน้างาน ให้พิจารณาจากการกระทำที่เป็นปกติของจุดทำงานนั้น ๆ รวมถึงพิจารณาสภาพการทำงาน เช่น สภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์สำหรับแก้ไขการติดขัดของงาน อุปกรณ์ป้อนชิ้นงาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล แสงสว่างเพียงพอหรือไม่ ระยะเวละรีบเร่งหรือไม่ ประกอบกัน แล้วจึง สรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ โดยแบ่งเป็น
- สาเหตุที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย คือ อะไรบ้าง
- สาเหตุที่เกิดจากสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย คืออะไรบ้าง
-
เมื่อได้สาเหตุที่วิเคราะห์ออกมาแล้ว จะต้องกำหนดมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีก และมาตรการที่ดีควรขยายผลเทียบเคียงต่อเนื่องไปยังลักษณะงานที่พิจารณาแล้วอาจเกิดเหตุในลักษณะเดียวกัน โดยจะต้องกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงที่ชัดเจน กำหนดระยะเวลาที่แล้วเสร็จ และกำหนดบุคคลผู้ตรวจสอบติดตามผลการแก้ไข
-
ให้วิเคราะห์ขั้นตอนของการเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องจนถึงการบาดเจ็บ 5 ขั้นตอน (5 Stair Step) เพื่อให้แน่ใจว่าสาเหตุที่วิเคราะห์ได้คือสาเหตุที่แท้จริง
-
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจึงสรุปผลการสอบสวน หาข้อเสนอแนะเพิ่มเติม หากไม่มีข้อเสนอแนะแล้วให้หัวหน้างานแผนกที่เกิดอุบัติเหตุนำรายละเอียดที่ได้จากการประชุมสอบสวนดังกล่าวบันทึกลงในใบรายงานอุบัติเหตุให้ครบถ้วนและดำเนินการตามขั้นตอนการรายงานต่อไป
หมายเหตุ : การสอบสวนอุบัติเหตุทุกกรณี ไม่ใช่การสอบสวนเพื่อจับผิดและลงโทษพนักงาน แต่ทำเพื่อให้ได้สาเหตุที่แท้จริงเพื่อจะได้แก้ไขตรงจุด ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ เว้นแต่ การกระทำที่ไม่ปลอดภัยนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศ ที่พนักงานนั้นๆ รับทราบแต่ฝ่าฝืนอย่างชัดแจ้ง จึงสามารถพิจารณาลงโทษตามขั้นตอนตามระเบียบของบริษัทฯ ได้
สาเหตุของอุบัติเหตุ
และโรคอันเนื่องมาจากการทำงาน
ความสูญเสียที่เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุ
การจัดระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุ
ผู้รับผิดชอบ
รายละเอียดการปฏิบัติงาน
วิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติ
การวางระบบการสอบสวนอุบัติเหตุ
การปฏิรูปและการฟื้นฟู
มาตรการดูแลพนักงานที่เจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องจากการทำงาน