สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคชอบกินของแปลก
นางสาวศจี แซ่ตั้ง
นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต
เมื่อไม่นานมานี้หลายท่านคงเคยได้อ่านข่าวเกี่ยวกับหญิงสาวชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ติดการรับประทานสบู่และผงซักฟอก แม้จะรู้ว่าทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่ไม่สามารถหักห้ามใจที่จะรับประทานได้ จนต้องพบจิตแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานพฤติกรรมของคนที่กินสิ่งแปลกๆ อีกหลายอย่าง เช่น การกินเส้นผม ดิน โคลน อุจจาระ แมลง เศษผ้า น้ำแข็ง ตะกั่ว ลวด ยางลบ หัวไม้ขีดที่ไหม้แล้ว ทำความสงสัยให้หลายคนว่าผู้ที่มีพฤติกรรมแปลกนี้เป็นโรคอะไรแน่ ซึ่งความผิดปกติทางการรับประทานนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pica ชื่อโรคนี้อาจไม่คุ้นหูเหมือนกับโรคความผิดปกติด้านการรับประทานอื่นอย่าง Anorexia nervosa และ Bulimia nervosa
โรค Pica เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วโลก และเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชายเท่าๆ กัน ยังไม่มีตัวเลขทางระบาดวิทยาที่แน่นอน ส่วนใหญ่พบการเกิดโรคนี้ในเด็กและพบร่วมกับภาวะบกพร่องทางสติปัญญามากกว่าเด็กที่ป่วยเป็น Pica โดยไม่มีโรคหรือภาวะอื่นแทรกซ้อน ผู้ป่วย Pica ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่หาได้ยาก
อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุระหว่าง 18 เดือนถึง 2 ปี จะไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุนี้ยังไม่สามารถแยกแยะว่าสิ่งใดคือสิ่งที่รับประทานได้หรือสิ่งใดที่ไม่ใช่อาหารและเป็นอันตราย
ในบางสังคม ไม่ถือว่าการกินบางสิ่งบางอย่างเป็นพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น ชาวพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย(aborigines) ที่รับประทานดินโคลนเพื่อการเจริญพันธุ์ หรือในประเทศตุรกี ผู้หญิงสาวได้รับการสนับสนุนให้รับประทานดินโคลนเพื่อเพิ่มการเจริญพันธุ์เช่นกัน
แม้ว่าความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานเป็นปัญหาที่พบได้ไม่บ่อย แต่ก็มีความสำคัญทางคลินิก และถูกจัดอยู่ในโรคทางจิตเวช ตามเกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder (DSM IV)
เกณฑ์การวินิจฉัยโรค Pica มีดังนี้
-
ต้องรับประทานสิ่งที่ไม่มีสารอาหารต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
-
สิ่งที่รับประทานนั้นไม่เหมาะสมกับระดับของพัฒนาการของบุคคลนั้น
-
สิ่งที่รับประทานไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม
-
ถ้าพฤติกรรมเกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติด้านจิตใจ เช่น ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะบกพร่องทางพัฒนาการ จิตเภท มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก
สาเหตุของโรค
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีหลายสมมติฐานไม่ว่าจะเป็นสมมติฐานทางเคมีชีวภาพ สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจิตพลวัตร ที่พยายามจะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนี้
1. ภาวะบกพร่องทางโภชนาการ แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หนักแน่นพอเกี่ยวกับภาวะบกพร่องทางโภชนาการกับโรค Pica แต่ในปัจจุบัน สมมติฐานนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาวิธีการที่จะอธิบายลักษณะทางกายภาพ แร่ธาตุ และเคมีของโรคPica ซึ่งผู้ป่วยPicaที่รับประทานดินโคลนและดินมักถูกวินิจฉัยกับว่ามีความสัมพันธ์กับการขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รับประทานดินโคลนมักถูกวินิจฉัยเชื่อมโยงกับภาวะขาดธาตุเหล็ก
2. ปัจจัยด้านครอบครัวและวัฒนธรรม การรับประทานสิ่งแปลกๆ เด็กอาจเห็นตัวแบบจากพ่อแม่ของเขาและเรียนรู้ผ่านการได้รับแรงเสริม โดยเฉพาะการรับประทานดิน ดินโคลนและแป้ง (แป้งดิบ,แป้งสำหรับลงผ้า) ได้รับการยอมรับในหลายๆ สังคมโดยไม่ถือว่าเป็นความเจ็บป่วย เช่น กลุ่มชนทางตอนใต้ของอเมริกา ชาวพื้นเมืองของประเทศแอฟริกา และชาวพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย
3. ความเครียด เช่น การถูกแยกจากพ่อแม่ การพลัดพรากจากแม่หรือมีอาการขาดแม่ (maternal deprivation) ถูกพ่อแม่ละเลย ไม่เอาใจใส่ ถูกกระทำด้วยความก้าวร้าวรุนแรง ความสัมพันธ์ที่เหินห่างระหว่างพ่อแม่กับเด็ก เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค Pica
4. ฐานะยากจน เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมักขาดการดูแลจากพ่อแม่ซึ่งมีผลต่อการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ รูปแบบของผู้ป่วยโรค Pica ที่ครอบครัวมีฐานะยากจนพบได้บ่อยคือ การรับประทานสี (สีย้อมผ้า สีสำหรับงานวาดเขียน)
5. การไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นอาหารกับสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร มักเกิดขึ้นร่วมกับภาวะบกพร่องทางสติปัญญา การแยกแยะประกอบไปด้วย 2 กลไก ได้แก่ การรับรู้ความรู้สึกอิ่มในสิ่งที่รับประทานเข้าไปและความอยากจะรับประทานอาหารชนิดอื่นๆ และความกลัวอาหารชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน ซึ่งพบว่ากลไกทั้ง 2 อย่างของผู้ป่วยโรค Pica มีความบกพร่อง
ผลต่อร่างกายเนื่องมาจากโรค Pica คือได้รับสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะพิษจากสารตะกั่ว ส่วนความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่รับประทานเข้าไป เช่น ผู้ป่วยที่รับประทานหัวไม้ขีดไฟที่ไหม้แล้ว จะเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalemia) ผู้ป่วยที่รับประทานดินหรือโคลน อาจติดเชื้อจากปรสิตชนิดต่างๆ เช่น toxoplasmosis และ toxocariasis
ถึงแม้โรค Pica จะพบได้ไม่มากและพบในวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ผลจากโรคนี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อพัฒนาการด้านร่างกายในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคแล้ว จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ดังนั้น พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคนี้ โดยการ
-
ดูแลสุขภาพมารดาขณะตั้งครรภ์
-
การเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
-
จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ให้เด็กมีโอกาสรับประทานของที่เป็นพิษอันตราย
-
การเลี้ยงดูเอาใจใส่ให้ความรักแก่ลูกอย่างเพียงพอ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว
เอกสารอ้างอิง
-
มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สวิชาญการพิมพ์; 2539. หน้า 402-404.
-
psychiatrictimes.com. [homepage on the Internet]. UMB Medica LLC; c1996-2011[update 2008 May 1; cited 2011 Feb 25]. An Update on Pica, Contributing Causes, and Treatment; [about 2 screens]. Available from: http://www.psychiatrictimes.com/display/article/10168/
-
emedicine.medscape.com. [homepage on the Internet]. WebMD LLC; c1994-2011 [update 2009 Jun 4; cited 2011 Mar 3]. Eating Disorder,Pica.;[about 3 screens]. Available from: http:// emedicine.medscape.com/Eating Disorder, Pica eMedicine Pediatrics Developmental and Behavioral.mht
-
psychtreatment.com. [homepage on the Internet]. St. Louis Psychologists and Counseling Information and Referral; c1999[update 2006 Nov 21; cited 2011 Feb 25]. Pica Symptoms and DSM-IV Diagnosis; [about 1 screen]. Available from: http://www.psychtreatment.com/Pica Symptoms and DSM-IV Diagnosis.mht
-
sanook.com. [homepage on the Internet]. Sanook Online Limited; c2007 [update 2011 Feb 15; cited 2011 Feb 15]. ข่าวสาววัย 19 ติดกินสบู่และผงซักฟอก; [about 2 screens]. Available from: http://www.sanook.com.