สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคเรื้อน
(Leprosy)
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อที่เก่าแก่ ดังจะเห็นที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ทั้งของชาติและศาสนาต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะถูกแยกออกจากสังคม เพราะเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ เนื่องจากบาดแผลและความพิการ
โรคเรื้อนเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่เป็นโรคที่มีการทำลายเส้นประสาทส่วนปลายร่วมด้วย จึงมีผลทำให้เกิดความพิการติดตามมา ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเรื้อนให้ดียิ่งขึ้นจึงขอกล่าวถึงรายละเอียด ดังนี้
สาเหตุ
ในปี พ.ศ. 2416 นายแพทย์ จี. เอช. อามัวร์ เฮนเซน (G.H. Amaer Hansen) เป็นผู้ค้นพบว่า โรคเรื้อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ ไมโคแบคทีเรียม เลพแพร (Mycobacterium leprae)
การติดต่อ
โรคเรื้อนสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยเชื้อโรคเรื้อนจากร่างกายของผู้ป่วยจะเข้าสู่ร่างกายของผู้รับได้สองทางคือ
1. ทางผิวหนัง
2. ทางระบบทางเดินหายใจ
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเรื้อนมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่โรคเรื้อนเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic area) และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโรคเรื้อนชนิดเชื้อมากหรือผู้ที่สัมผัสโรคกับผู้ป่วยหลายราย โดยการสัมผัสนั้นเป็นอย่างใกล้ชิดและเป็นเวลานาน ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใดก็ตามที่ยังตรวจพบเชื้อโรคเรื้อนที่มีชีวิตก็สามารถแพร่เชื้อได้
การวินัจฉัยโรค
ในการวินัจฉัยว่าผู้ใดเป็นโรคเรื้อนหรือไม่นั้น องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงอาการสำคัญที่แสดงว่าผู้นั้นเป็นโรคเรื้อนโดยดูจากหนึ่งในสองอาการต่อไปนี้
มีรอยโรคอันเป็นลักษณะของโรคเรื้อนอยู่บนผิวหนัง และชาบริเวณรอยโรคนั้น ตรวจพบเชื้อโรคเรื้อนจากผิวหนัง
อาการและอาการแสดง
อาการทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการดังนี้
-
อาการทางผิวหนัง ผิวหนังจะเป็นวงด่างสีขาวหรือวงด่างสีแดง ผิวหนังนูนแดงหนา
-
อาการทางประสาท อาการที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับเส้นประสาทส่วนใดของเส้นประสาทส่วนปลาย (Pheripheral nerve) ถูกทำลาย เช่น
- เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerve) ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการช้าไม่รู้สึกร้อนเย็น
- เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อ (Motor nerve) ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนกำลัง กล้ามเนื้อสั่น โดยเฉพาะบริเวณมือ ซึ่งต่อไปจะเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อนิ้วมือ จะงอหยิกจีบ หรือทำไม่ได้ ข้อมือตก เดินเท้าตกและเป็นอัมพาตของใบหน้า
- เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervce) ถูกทำลาย มีอาการผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออก ขนร่วง เส้นเลือดตีบ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดไปเลี้ยง ผิวหนังตามปลายเท้าแห้งด้านแข็ง เป็นแผลเนื้อตายได้
นอกจากนี้เมื่อเส้นประสาทที่ถูกทำลายโดยการอักเสบ ภายหลังจะมีเยื่อพังผืดมาแทนที่ทำให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นจนสามารถคลำได้
-
อาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยมีอาการเยื่อบุจมูกบวม อักเสบ ทำให้คัดจมูก มีแผลในจมูก ในที่สุดทำให้ดั้งจมูกยุบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หายใจลำบากและเสียงแหบได้
อาการอื่น ๆ
อาการอื่น ๆ ที่พบได้ มีดังนี้
1. ต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้
2. ขนคิ้วร่วงโดยเริ่มจากด้านข้างก่อน
3. โลหิตจาง ถ้าเชื้อลุกลามไปถึงไขกระดูก
4. อัณฑะอักเสบ
5. หลับตาไม่ได้ ทำให้เกิดแผลที่ตาดำซึ่งทำให้ตาบอดได้
6. เยื่อบุช่องปากนูนหนาเป็นตุ่มบวม และแตกเป็นแผล
การรักษา
โรคเรื้อนเป็นโรคที่มีลักษณะอาการหลายกลุ่ม เพื่อประโยชน์ในการรักษา จึงแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. โรคเรื้อนประเภทเชื้อน้อย มักตรวจไม่พบเชื้อ การรักษาใช้การรักษาด้วยยา 2 ชนิด ได้แก่ ไรแพมพิซิน (Rifampicin) และแดปโซน (Dapsone) ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน
2. โรคเรื้อนประเภทเชื้อมาก มักตรวจพบเชื้อ การรักษาใช้การรักษาด้วยยา 3 ชนิด ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) แดปโซน (Dapsone) และคลอฟาซิมิน (Clofazimine) ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 ปี
การป้องกัน
โดยการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาโดยเร็วที่สุด และให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความพิการ และการแพร่กระจายของเชื้อโรค