สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

สมุนไพรบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

อริศรา แวววรรณจิตร

ในพืชทุกต้นมีสรรพคุณที่เป็นยา ในยาแผนปัจจุบันที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคอย่างได้ผลจริง แต่ก็มียาบางชนิดที่ใช้แล้วเกิดผลข้างเคียงกับร่างกาย เพราะสารเคมีบางอย่างไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

แต่ก็มีหลายคนที่ได้หันมาพึ่งยาสมุนไพร เป็นการรักษาแบบแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ทางเลือก โดยใช้สมุนไพรและการรักษาที่ต้องกลับไปพึ่งพาธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณอื่นๆที่แตกต่างกันไป ก่อนอื่นเรามารู้จักกับอาการปวดประจำเดือนกันก่อน

ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งมักจะเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องพักงาน ในรายที่ปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ ๓๕ ปี ก็อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

ปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ๒ ชนิด ได้แก่

ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea)

จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน ๓ ปี หลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ ๑๕-๒๕ ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อย ๆ ลดลงบางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนผู้ป่วยจะไม่พบว่ามีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ออกมามากผิดปกติซึ่งกระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว เกิดอาการปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea)

มักจะมีอาการปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า ๒๕ ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) ซึ่งมักทำให้มีบุตรยาก เนื้องอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรังมดลูกย้อยไปทางด้านหลังมาก

เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง ๒ ชนิด เช่น พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี

อาการของการปวดประจำเดือน

จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง ๒-๓ วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอ หงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือ เท้าเย็นได้

สมุนไพรแก้ปวดประจำเดือน

สมุนไพรเหล่านี้จะช่วยลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อมดลูกลง ทำให้ช่วยบรรเทาปวดในขณะมีประจำเดือน ทั้งหมดเป็นสมุนไพรไทย หาได้ง่ายและใกล้ตัว ไม่มีพิษหรือผลช้างเคียง จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสนิทใจ

  • ขิง ใช้เหง้ามาต้มกิน ในขิงมีสารที่มีรสเผ็ดซึ่งช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้
  • ตะไคร้ ใช้ต้นและเหง้าสด ๑ กำมือ ผึ่งให้แห้งแล้วชงดื่มตะไคร้นอกจากแก้อาการแน่นในท้องแล้วยังช่วยขับลม ทั้งยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงช่วยลดบวมไปในตัว
  • บัวบก ใช้ราก ต้น และใบ คั้นเอาแต่น้ำดื่ม
  • หอมใหญ่ ใช้หิว กินสดเช้าเย็น อาจจะคั้นแต่น้ำผสมน้ำผลไม้จะดื่มง่ายกว่า
  • ข่อย ใช้ใบแห้งมาคั่วแล้วชงดื่มต่างน้ำในวันที่มีประจำเดือน

สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนและสรรพคุณอื่นๆ
วิธีบรรเทาอาการปวดประจำเดือนไม่ต้องพึ่งยา
ยาแผนปัจจุบันแตกต่างกับสมุนไพรอย่างไร

บรรณานุกรม

  • กระปุกดอทคอม. ๒๕๕๕. ปวดท้องเมนส์บรรเทาได้ไม่ง้อยา (ออนไลน์). สืบค้นจาก:
    http://health.kapook.com/view48367.html [๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖]
  • ภาณุทรรศน์ (นามแฝง). ๒๕๔๖. ตำรับยาแผนโบราณ รักษาโรคยอดนิยม. กรุงเทพฯ: ไพลินบุ๊คเน็ต
  • วิบูรณ์ เข็มเฉลิม. ๒๕๕๐. ประโยชน์ของไพล (ออนไลน์). สืบค้นจาก:
    http://www.samunpri.com/?p=3099#sthash.nCbv4Vxz.dpuf [๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๖]
  • วุฒิ วุฒิธรรมเวช. ๒๕๔๒. หลักเวชกรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: แนเชอรัล พัลช์ จำกัด
  • หมอแดง และหมอนัท ดิ อโรคยา. ๒๕๕๕. ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น ฉบับสมุนไพรห่างไกลโรค.
    พิมพ์ครั้งที่๑. กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊ค

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย