สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
หลักการพูดในที่ชุมนุมชน
สมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
พูดดีเป็นศรีแก่ตัว เป็นสุภาษิตของไทยที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ยิ่งปัจจุบันโลกเราแคบเข้าด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยให้เราสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว มิตรภาพที่พลโลกมีต่อกันก็แผ่ไพศาลไปทั่ว ภาษาพูดและวิธีการพูดก็นับวันทวีความสำคัญยิ่งขึ้น การพูดดีนอกจากเป็นศรีแก่ตัว ยังเป็นศรีต่อประเทศและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอีกด้วย
การพูดในที่ชุมนุมชน หมายถึง การสื่อสารความคิดจากผู้พูดไปยังผู้ฟัง
โดยมีภาษาและอากัปกิริยาเป็นสื่อ เพื่อให้บังเกิดผลตามที่ผู้พูดต้องการ
การพูดในที่ชุมนุมชนจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เราจึงมีคำว่า วาทวิทยา
และ วาทศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นยิ่ง
คนเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด การพูดดีพูดเป็น
จะเป็นทั้งอาวุธและอาภรณ์ประดับตัว และจะเป็นเครื่องส่งเสริมความก้าวหน้าความสำเร็จ
ทั้งในทางสังคมและการงานอย่างแน่นอน
เพราะการพูดดีจะประหยัดเวลาทำให้มีความเข้าใจดีต่อกัน
ช่วยให้อยู่ในสังคมโดยได้รับมิตรไมตรีจิต ดังบทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่ว่า
วาทการนั้นเป็นเช่นของสูง เป็นเครื่องจูงใจคนดั่งมนต์ขลัง
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ทรงพลัง อีกเป็นทั้งศาสตราแลอาภรณ์
เราจะใช้วิชาล้ำค่านี้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีเป็นนุสรณ์
เพื่อเทิดธรรมพัฒนาประชากร เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนแผ่นดินไทย
สุนทรภู่ กวีเอกของไทยได้กล่าวถึงความสำคัญของการพูดไว้มาก
ดังความตอนหนึ่งจาก นิราศภูเขาทอง
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
อีกตอนหนึ่งว่า.....
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้พูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
ทำไมจึงต้องฝึกพูด
การพูดเป็น การพูดดี หรือที่เรียกว่า วาทศิลป์ นั้น
เป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้อย่างไม่ต้องสงสัย จากการศึกษาประวัตินักพูดเอกของโลก
เรายิ่งเห็นว่าศิลปะการพูดเป็นสิ่งที่หัดได้
เดมอสเธนิส นักพูดฝีปากเอกของกรีก ได้พูดปลุกปลอบใจทหารที่กำลังระส่ำระสาย
ให้ต่อสู้กองทัพอันเกรียงไกรของพระเจ้าฟิลลิปแห่งแคว้นเมซิโตเนีย จนได้รับชัยชนะ
ตามประวัติแต่เดิม เดมอสเธนิสเป็นคนพูดติดอ่าง
ไปพูดในที่ชุมนุมชนก็ถูกเย้ยหยันเหยียดหยามมาแล้ว
เขาจึงหลบจากเอเธนส์ไปฝึกอยู่นอกเมือง เป็นการฝึกด้วยตนเอง
จนพูดคล่องดีแล้วจึงกลับเข้ามา
ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้ยิ่งยงของสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะ
รัฐบาลของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชน
อันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สุนทรพจน์ของท่าน ณ เก็ตติสเบอร์ก
ได้รับเกียรติบรรจุในหนังสือเอ็นไซโคลปิเดีย
ลินคอล์น เมื่อเริ่มเป็นทนายไปว่าความครั้งแรก
ปากสั่นขาสั่นเหงื่อตกเป็นเมล็ดข้าวโพด จนศาลสงสารสั่งให้นั่งลง
หลังจากนั้นท่านก็ได้ฝึกตนเอง และประสบความสำเร็จในการพูดอย่างยอดเยี่ยม
ตัวอย่างเหล่านี้ จะเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์อย่างดีที่แสดงให้เห็นว่า
ศิลปะการพูดเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย
ส่วนที่จะมีความช่ำชองนั้นจะต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ
คนที่ยังถีบจักรยานไม่เป็น ย่อมรู้สึกว่าหัดยากอยู่
แต่เมื่อลองหัดดูแล้วก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากนัก
เมื่อเป็นใหม่ๆก็หัดแต่เพียงไม่ให้ล้ม
บางครั้งก็ต้องเลี้ยวไปตามใจของรถเพราะเรายังบังคับไม่ได้
มีอะไรกีดขวางก็ชนเอาบ้างจนกว่าจะรู้สึกถนัดมีความชำนาญแล้ว
เราก็จะบังคับรถได้ตามความต้องการ แม้จะเป็นทางแคบๆ
ถือว่าจักรยานนั้นเชื่องแล้วฉันใด การฝึกพูดก็ฉันนั้น
การฝึกพูดในที่ชุมนุมชนมีวัตถุประสงค์แบ่งได้เป็น 5 ประการใหญ่ๆ คือ
- ฝึกเพื่อให้รู้จักการสื่อสารด้วยคำพูดที่ถูกต้อง
- ฝึกเพื่อเตรียมตัวเป็น ผู้นำ ที่ดี
- ฝึกเพื่อวางรากฐานของประชาธิปไตย
- ฝึกเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์
- ฝึกเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
ข้อควรคำนึงเบื้องต้นสำหรับการเป็นผู้พูด
บุคคลซึ่งจะเป็นผู้พูดในที่ชุมนุมชนที่ดีได้ ควรต้องมีลักษณะอันจะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้พูดที่ดียิ่งๆขึ้นไปทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้เพราะการเป็นผู้พูดในที่ชุมนุมชนที่ดีต้องอาศัยการเอาใจใส่และความพากเพียรของบุคคลนั้นเป็นสำคัญ ข้อควรคำนึงเบื้องต้นของการเป็นผู้พูดที่ดี คือ
- ต้องมีความศรัทธา มีศรัทธาเลื่อมใส ต้องการเป็นนักพูดที่ดี มีแรงบันดาลใจที่จะพากเพียรพยายามในการพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ
- ต้องใฝ่ความรู้ ผู้ที่ใฝ่ความรู้ หมั่นศึกษาพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอเปรียบเหมือน แสงสว่างในหมู่บุคคลทั่วไป ในอันที่จะถ่ายทอดแสงสว่างแห่งความรู้ให้แก่ผู้ฟังจนก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง
- ต้องเป็นนักสังเกตและจดจำ คนช่างสังเกตและจดจำมักได้เปรียบผู้อื่นเสมอ มักเป็นผู้พูดที่มีเกร็ดความรู้น่าสนใจ โดยเฉพาะจากประสบการณ์แปลกๆมาเล่าสู่กันฟัง
- ต้องหมั่นฝึกฝน มีการเปรียบเทียบว่า การพูดเหมือนการว่ายน้ำ จะอ่านตำรากี่ร้อยกี่พันเล่มก็ตาม ถ้าไม่กระโดดลงไปในน้ำจริงๆ ก็ไม่มีทางว่ายน้ำเป็น การพูดก็เช่นเดียวกัน การพัฒนาตนเองในด้านนี้ จะได้ผลจากการฟังคำบรรยายเกี่ยวกับแนวทางวิธีการเพียงร้อยละ 10 ต่อเมื่อมีการแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างหรือสาธิตก็จะได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ส่วนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด อยู่ที่การฝึกฝนและหมั่นปฏิบัติถึงร้อยละ 70
แบบของการพูดในที่ชุมนุมชน
โดยถือเอาโอกาสของการพูดเป็นบรรทัดฐานการพูดในที่ชุมนุมชน อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- การพูดแบบเป็นทางการ เป็นการพูดในโอกาสที่เป็นพิธีรีตองเป็นงานเป็นการ ต้องการความแน่นอนและการเตรียมการจนหาข้อบกพร่องไม่ได้หรือได้น้อยที่สุด มักเป็นการพูดในงานพิธีการต่างๆ เช่น การกล่าวรายงาน การกล่าวเปิดพิธี การกล่าวคำปราศรัยในโอกาสอันสำคัญ ฯ ผู้พูดในโอกาสเช่นนี้ควรยึดถือความสุภาพเรียบร้อยและมารยาทอันดีงามทั้งในการพูดและบุคลิกภาพ
- การพูดแบบไม่เป็นทางการ การพูดในที่ชุมนุมชนที่เราเห็นกันอยู่เสมอๆ ส่วนใหญ่เป็นการพูดแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีบรรยากาศความเป็นกันเองในระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ขัน ลีลาการพูด หรือการวางตัวของผู้พูด การพูดแบบนี้ผู้พูดอาจเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีบทบาทมากขึ้น โดยการแสดงความคิดเห็นหรือซักถาม เช่น การอภิปราย การสอน เป็นต้น
วิธีการพูดในที่ชุมนุมชน
ผู้พูดที่ดีควรจะรู้จักเลือกใช้วิธีของการพูดให้เหมาะสมกับการพูดในแต่ละแบบ แต่ละจุดมุ่งหมาย แต่ละโอกาส มีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน
- พูดโดยการอ่านจากต้นฉบับ เป็นการพูดที่ไม่ต้องการให้มีข้อผิดพลาด มักเป็นการพูดในโอกาสที่มีความสำคัญยิ่งและเป็นทางการ โดยผู้พูดจะอ่านจากร่างที่เตรียมมาชนิดคำต่อคำเลยทีเดียว การพูดโดยการอ่านที่ดีนั้น ผู้พูดควรใช้สายตามองผู้ฟังประมาณ สองในสาม ของการพูดทั้งหมด ทั้งสำเนียงการอ่าน ควรอ่านอย่างมีจังหวะจะโคน มีการเน้นในที่ที่ควรจะเน้น
- พูดโดยการท่องจำ ผู้พูดเขียนเรื่องที่จะพูดขึ้นมาทุกถ้อยคำ ทบทวน และซักซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสามารถจำได้ขึ้นใจแล้วเอาไปพูดในที่ชุมนุมชน มักจะนิยมใช้กับผู้ที่เริ่มการพูดใหม่ๆ แต่มีข้อเสียคือ สำเนียงการพูดมักไม่เป็นธรรมชาติและอาจหลงลืมข้อความตอนสำคัญๆไป
- พูดจากความเข้าใจ โดยมีการเตรียมล่วงหน้า การพูดด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่มีผู้นิยมกันมากที่สุด เพราะเปิดโอกาสให้ผู้พูดได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวให้สอดคล้องกับบรรยากาศ ผู้พูดเตรียมเฉพาะสาระของการพูดไว้ล่วงหน้า เมื่อปรากฏตัวต่อหน้าที่ชุมนุมชน ผู้พูดจะถ่ายทอดสาระเหล่านั้นออกมาโดยใช้ถ้อยคำและลีลาการพูดที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง
- พูดแบบกะทันหัน โดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า ผู้พูดต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณและความเชื่อมั่นในตนเอง โดยพยายามพูดให้ตรงประเด็นที่มีการกำหนดขึ้น แนวทางในการสรรหาเนื้อหาสาระสำหรับการพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า มีดังนี้
ก. พูดถึงความเป็นมา พิจารณาแง่มุมเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคตของเรื่องที่จะพูด
ข. พูดเชิงวิเคราะห์ อะไรคือปัญหา แง่มุมที่สำคัญต่างๆของปัญหาโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวพันกับต้นเหตุ และผลของปัญหานั้นๆ
ค. เน้นความผูกพันต่อทุกคน พยายามชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่มีต่อทุกคนในที่นั้น พร้อมทั้งสรุปด้วยการแนะว่าทุกคนควรทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นบ้าง
จุดมุ่งหมายของการพูด
นอกจากจะต้องรู้จักเลือกใช้แบบของการพูดให้เหมาะกับกาลเทศะแล้ว ก่อนการพูดทุกครั้ง ผู้พูดที่ดีควรจะต้องรู้หรือกำหนดจุดมุ่งหมายของการพูดในครั้งนั้นๆเอาไว้ด้วยว่า ควรพูดเพื่ออะไร
- เพื่อให้ความรู้ ข่าวสาร และข้อเท็จจริง การพูดต่อที่ชุมนุมชนส่วนใหญ่เป็นการพูดเพื่อให้ความรู้ ข่าวสาร ข้อเท็จจริง เป็นการพูดที่ต้องใช้ความสามารถในการบรรยาย การอธิบาย การชี้แจง การแสดงความหมายและการสาธิตเกี่ยวกับเรื่องราวนั่นเอง
- เพื่อความบันเทิง มักเป็นการพูดแบบไม่เป็นทางการ มุ่งที่จะสร้างความบันเทิงและบรรยากาศรื่นรมย์ในหมู่ผู้ฟัง เรื่องที่พูดส่วนใหญ่เป็นการพูดเกี่ยวกับการเผชิญภัย ความรัก ความสำเร็จในชีวิต และเรื่องภูตผีปีศาจ เป็นต้น
- เพื่อจูงใจ เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามผู้พูด กระทำตามผู้พูด หรือมีความประทับใจในตัวผู้พูดและเรื่องที่พูด
- เพื่อให้เกียรติ คือการพูดในโอกาสต่างๆ ทั้งที่เป็นมงคลและอวมงคล เพื่อให้เกียรติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลเนื่องในโอกาสนั้นๆ ดังนั้นเนื้อหาสาระจึงมักประกอบไปด้วยการยกย่องสรรเสริญและการอวยพรกันและกัน
การพูดในแต่ละครั้งอาจมีจุดมุ่งหมายหลายประการก็ได้ แต่ควรยึดจุดมุ่งหมายหลักประการใดประการหนึ่ง เพื่อทำให้ผู้ฟังสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าผู้พูดต้องการอะไร
ข้อบกพร่องของการพูดในที่ชุมนุมชน เท่าที่เราเห็นอยู่ทั่วๆ ไป มีดังนี้
- พูดยาวไป ยืดยาว เยิ่นเย้อ เกินกว่าเวลาที่กำหนดให้พูด หรือเวลาอันควร ทำให้ผู้ฟังเกิดการเบื่อหน่ายไม่สนใจฟัง และยังเป็นการทำลายเวลาของส่วนรวมอีกด้วย
- พูดสั้นไป พูดน้อย ขาดสาระสำคัญ เมื่อพูดออกไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อันควร เพราะผู้ฟังได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ ผู้พูดก็จบการพูดเสียแล้ว
- พูดไม่ชวนฟัง ผู้พูดไม่ใคร่ครวญให้ดีก่อนการพูด ไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา พูดไปแล้วผู้ฟังไม่พอใจ หรือเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
- พูดไม่รู้เรื่อง ผู้ฟังจับใจความไม่ได้ เพราะผู้พูดพูดสับสนวกวน ขาดการขยายความที่ดีพอ ไม่รู้จักใช้ถ้อยคำที่ช่วยให้เข้าใจง่าย เมื่อผู้พูดพูดจบไปแล้ว ผู้ฟังยังฟังไม่รู้เรื่องว่าผู้พูดต้องการอะไรกันแน่
การสร้างความเชื่อมั่นและขจัดอาการประหม่า
การเตรียมการพูด
การเรียบเรียง
การทำหน้าที่พิธีกร