ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ประวัติความเป็นมากีฬายิมนาสติกในประเทศไทย
หลักฐานความเป็นมาของยิมนาสติกในเมืองไทยสมัยเริ่มแรกนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยใด และผู้ที่นำเข้ามาเผยแพร่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอน ซึ่งจะปรากฎแต่เป็นเพียง ข้อสันนิษฐานและเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงสมัยที่มีการเขียนจดบันทึกจนสามารถยึดถือเป็นหลักฐาน จากการตั้งข้อสันนิษฐานว่าในสมัยโบราณนั้นชาติไทยของเราได้มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศตั้งเเต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งสมัยนั้นจะติดต่อกันในเรื่องการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
ของไทยได้มีความสัมพันธิ์กับชาวต่างประเทศอย่างแน่นเฟ้น
และได้มีการส่งข้าราชการไทยไปศึกษาในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป
ซึ่งนิยมการออกกำลังกายประกอบอุปกรณ์ ราวคู่ ราวเดี่ยว ม้ากระโดด เมื่อ
ข้าราชการไทยสำเร็จการศึกษากลับมาก็ได้นำเอาวิธีการออกกำลังกายเข้ามาเผยแพร่ในประเทศ
ซึ่งรูปแบบของการออกกำลังกายประกอบอุปกรณ์ต่างมักนิยมเรียกกันว่า ยิมนาสติก
โดยเริ่มแรกเข้ามาเผยแพร่ในหน่วยงานของตน
จากนั้นก็นำมาฝึกเพื่อเป็นการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายในเหล่าทหารของกองทัพไทย
จนหน่วยงานราชการอื่น ๆ เห็นดีด้วย จึงส่งเสริมและฝึกหัด จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย
การสาธิตกีฬายิมนาสติกสากลหรือการจัดการแข่งขันกีฬายิมนาสติกกีฬาสากล
ได้ถูกจัดขึ้นในการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี พ.ศ. 2477
ที่สนามโรงเรียนราษฎร์บูรณะ ( มัธยม ) ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบ
โดยกิจกรรมในครั้งนั้นประกอบด้วย
- การแสดงกายบริหาร โหนราว การไต่บันไดโค้ง หกคะเมนหน้า หกคะเมนหลัง
ม้าเดี่ยว เล่นห่วง เล่นชิงช้า และหัดแถว
- การแข่งขันด้วยกำลังกาย มีการชักเยอ กระโดดสูง วิ่งข้ามรั้ว วิ่งเก็บของ กระโดดไกล วิ่งทาง 2 เส้น วิ่งสวมกระสอบ วิ่งทน 10 เส้น ปิดตาหาของ ซึ่งในสมัยนั้นการเรียกชื่อยิมนาสติกยังไม่ปรากฎ ให้เห็นเด่นชัด แต่มักจะใช้ชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นมากกว่า เช่น ดัดตน ห้อยโหน โหนราว หกคะเมนหน้า หก คะเมนหลัง เป็นต้น ซึ่งพอจะจินตนาการได้ว่าการเคลื่อไหวในลักษณะดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวในยิมนาสติกแทบทั้งสิ้น
จากนั้นกรมพลศึกษาได้ส่ง นายสวัสดิ์ เลขะยานนท์
จากแผนกกีฬาโรงเรียนไปดูการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาและการสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติในประเทศฟิลิปปินส์
จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เพื่อมาปรับปรุงการกีฬา ให้เหมาะสมกับสมัย ญูญิตสู ตะกร้อ
ฟุตบอล ดัดตนส่วนห้อยโหน เนตบอล หมากรุก ดัดตนท่ามือเปล่า บาสเกตบอล วอลเลย์บอล
และกรีฑา
ปี พ.ศ. 2476 หลักสูตรโรงเรียนครูพลศึกษา กองกายบริหารได้มีการสอน
วิชากระบี่กระบอง กระโดดน้ำ ว่ายน้ำ ญูญิตสู ( ยูโด ) ดัดตนส่วนห้อยโหน
ดัดตนท่ามือเปล่า มวยไทย และมวยผร่ง ( มวยสากล )
ในปีเดียวกันนี้ก็มีหลักสูตรพลศึกษาสำหรับนักเรียน ครูประถม
กิจกรรมกำหนดให้เรียนวิชาพลศึกษาและลูกเสือ กำหนดให้เรียนพลศึกษาโดย
ให้สามารถสอนกายบริหาร และดัดตน ท่าต่าง ๆ กับส่วนห้อยโหนท่าง่าย ๆ ได้
- ปี พ.ศ. 2479
มีหลักสูตรพลศึกษาของโรงเรียนพลศึกษากลางกำหนดให้เรียนกิจกรรมพลศึกษา รวม 5
วิชา คือ มวยไทย กระบี่กระบอง ดัดตนส่วนห้อยโหน ฟันดาบ ( ดาบสากล )
- ปี พ.ศ. 2483 กรมพลศึกษาได้เปลี่ยนหลักสูตรใหม่ โดยแบ่งหมวดวิชา ออกเป็น 2
หมวด คือวิชาบังคับและวิชาไม่บังคับ ( วิชาเลือก ) ในวิชาไม่บังคับมี 4 วิชาคือ
มวยไทย มวยสากล กระบี่กระบอง ฟันดาบ ดัดตน ส่วนห้อยโหน
- ปี พ.ศ. 2484 มีหลักสูตรพลศึกษาสำหรับโรงเรียนฝึกหัดครู ประโยคครูมูล
ได้กำหนดกิจกรรมทางพลศึกษา คือ การบริหาร การเล่นในร่ม กลางแจ้ง ยิมนาสติก
กรีฑา ญูญิตสู ฟันดาบ ว่ายน้ำ
- ปี พ.ศ. 2486 หลักสูตรพลศึกษาสำหรับประโยคครูมูล กำหนดเรียนพลศึกษา คือ
กายบริหาร การเล่นกลางแจ้ง ในร่ม กรีฑา ยิมนาสติก และการเล่นกีฬาต่าง ๆ
อย่างน้อยวันละ 30 นาที ก่อนเข้าห้องเรียน
- ปี พ.ศ. 2489 มีหลักสูตรพลศึกษาสำหรับโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม
ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเรียนกิจกรรมดังนี้ การบริหารท่ามือเปล่า
หรือประกอบเครื่องมือยิมนาสติกชั้นสูง มียืดหยุ่น หีบกระโดด (ม้ากระโดด) ราวคู่
ราวเดี่ยว ห่วงไกว การเล่นกีฬาต่าง ๆ ได้แก่ ฟุตบอล บาสเกตบอล ตะกร้อ เทนนิส
แบดมินตัน
- ปี พ.ศ. 2490 มีหลักสูตรพลศึกษาสำหรับโรงเรียนครูมัธยม กำหนดกิจกรรมพลศึกษา คือ กายบริหาร การเล่นเกมส์ยิมนาสติก ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ยืดหยุ่น หีบกระโดด ราวคู่ ราวเดี่ยว กีฬาบางชนิด กรีฑา โดยไม่กำหนดเวลาที่แน่นอน
จะเห็นได้ว่ายิมนาสติกได้จัดให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447
เป็นต้น มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งการเรียกชื่อยิมนาสติกและการกำหนดอุปกรณ์ในการเรียนการสอนได้มีขึ้นใน ปี พ.ศ.
2484 2490 ซึ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการของกีฬายิมนาสติกในสมัยก่อนปี พ.ศ. 2500
จากนั้นในปี พ.ศ. 2510 ประเทศกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
ครั้งที่ 4 สหภาพพม่า ซึ่งมีนักกีฬายิมนาสติกฝีมือดี
เนื่องจากได้ไปฝึกที่ประเทศรัสเซียไว้ล่วงหน้าแล้ว
จึงทำหนังสือไปตามประเทศเครือสมาชิก
โดยขอให้ช่วยกันสนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาจัดแข่งขันยิมนาสติกเพิ่มเข้าในกีฬาซีเกมส์ด้วย
หนังสือเวียนจากสหภาพพม่า ได้มาถึงโอลิมปิกไทยราวกลางปี พ.ศ. 2509
เป็นที่เข้าใจกันดีตามข้อบังคับโอลิมปิกสากลว่า
นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศนั้น
จะต้องมาจากสมาคมกีฬาและผ่านการรับรองเห็นชอบจากโอลิมปิกแห่งชาตินั้น ๆ
ท่านอาจารย์กอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษาในสมัยนั้น
ซึ่งเป็นกรรมการโอลิมปิคไทยอยู่ด้วย เมื่อได้รับเชิญชวนจากสหภาพพม่า
จึงมีคำสั่งให้นายขวัญชัย เชาว์สุโข
ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชายิมนาสติกอยู่ที่มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (
มศว. พลศึกษาในปัจจุบัน ) ให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมยิมนาสติกและ
หาทางฝึกฝนนักกีฬาเพื่อส่งเข้าร่วมการแข่งขันในโอกาสต่อไป
นายขวัญชัย เชาว์สุโข
ได้เห็นว่ากีฬายิมนาสติกเป็นกีฬาที่แสดงความสามารถเฉพาะบุคคลโดยไม่เกี่ยวเรื่องขนาดรูปร่างหรือน้ำหนักตัว
และไม่มีการปะทะกับคนอื่นขณะแข่งขัน
จึงเหมาะแก่คนไทยซึ่งส่วนเฉลี่ยของรูปร่างที่เล็กอยู่แล้ว จึงได้รับดำเนินงาน
โดยยื่นเรื่องราวพร้อมทั้งระเบียบข้อบังคับของสมาคมขอจัดตั้งต่อกองวัฒนธรรม
กระทรวงศึกษาธิการเมื่อปลาบปี พ.ศ. 2509
แต่กว่าจะได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งก็มาถึงต้นปี พ.ศ. 2511
และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2511 ตามหนังสืออนุญาตที่ ต.9/2511
เลขที่ 9/2511 ต่อจากนั้นได้นำใบอนุญาตและเรื่องราวต่าง ๆ ไปขอจดทะเบียนที่กอง 3
กรมตำรวจ ได้รับอนุญาตการจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2511
ตามเลขทะเบียนสมาคมที่ จ 958
อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2510 กัมพูชาไม่ยอมจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์
อ้างว่าไม่มีเงิน ประเทศไทยจึงต้องเป็นภาระจัดแทน
แต่คณะกรรมการได้ประชุมพิจารณาแล้วว่ายังไม่มีความพร้อมในเรื่องยิมนาสติก
จึงยังไม่มีการจัดการแข่งขันในคราวนั้น
ในการขอตั้งสมาคมยิมนาสติกนี้ ได้มีผู้เริ่มดำเนินการ จำนวน 3 คน คือ
- นายกอง วิสุทธารมย์ ( อธิบดีกรมพลศึกษา )
- นายธนิต คงมนต์
- นายขวัญชัย เชาว์สุโข (อาจารย์วิทยาลัยพลศึกษาในสมัยนั้น)
ในปี พ.ศ. 2511 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย โดย พลเอกประภาส จารุเสถียร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ได้รับรองการอุปถัมภ์
สมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย เช่นเดี่ยวกับสมาคมอื่น ๆ
ในการแข่งขันเซียพเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2512 ที่กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า
เจ้าภาพได้บรรจุการแข่งขันกีฬายิมนาสติกเข้าไปด้วย
แต่ไทยไม่ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน
เพราะมีนักกีฬาแต่ระดับนักเรียนจึงไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันจึงมีแต่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
เข้าร่วมในครั้งนั้นและในปีต่อ ๆ มา ก็ไม่มีประเทศเจ้าภาพใดจัดขึ้นมาอีก
เป็นเวลาถึง 10 ปี
หลังจากจัดตั้งและจดทะเบียนสมาคมแล้ว
ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรกขึ้นโดยมี นายแพทย์บุญสม มาร์ติน อธิบดีกรมพลศึกษา
เป็นนายก นายขวันชัย เชาว์สุโข เป็นเลขาธิการ และมีคณะกรรมการตามข้อบังคับร่วมอีก 9
คน
ที่ประชุมได้มีมติให้เน้นการปูพื้นฐานกีฬายิมนาสติกสมัยใหม่ให้แก่เยาวชนให้ถูกต้อง
และแพร่หลายให้มากที่สุดโดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ
ในกรุงเทพ ฯ แล้วจึงขยายออกสู่ต่างจังหวัดต่อไป ปัญหาที่พบในระยะแรกนี้คือ อุปกรณ์
มาตรฐานราคาสูงมาก สมาคมจึงขอความร่วมมือวิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพฯ
ซึ่งจัดตั้งอยู่ในบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ จัดซื้ออุปกรณ์ยิมนาสติกจนครบ
ศูนย์ฝึกกีฬายิมนาสติกแห่งแรกจึงเกิดขึ้นที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ (
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา พลศึกษา และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษาตามลำดับ ) โดยเปิดทำการฝึกสอนเยาวชนระดับต่าง ๆ ทั้งชาย
หญิง ในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
ต้นปี พ.ศ. 2512 สมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย
ได้เปิดสาธิตยิมนาสติกเป็นครั้งแรกที่โรงยิม 2 กรมพลศึกษาเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์
และผู้ปกครองจากสถานศึกษาต่าง ๆ
ปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมากจึงถือโอกาสประชาสัมพันธ์ไปตามโรงเรียนต่าง ๆ
ว่าจะจัดการแข่งขันระดับนักเรียนในปลายปีต่อมา
ปลายปี พ.ศ. 2512 ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬายิมนาสติกระดับนักเรียน
โดยกองกีฬาพลศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก มีโรงเรียนส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน 7 โรงเรียน
มีนักกีฬาร่วมแข่งขัน 19 คน อุปกรณ์ที่แข่งขันมี 2 อุปกรณ์คือ ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ (
แข่งขันตามเยาวชนของเบาะคล้ายยืดหยุ่น แต่ใช้ท่าแข่งขันแบบฟลอร์ เอ็กเซอร์ไซส์ )
และม้ากระโดด ( โดยวางหีบกระโดดตามความยาวสำหรับชาย และขวางสำหรับหญิง )
การแข่งขันยิมนาสติกระดับนักเรียนได้มีต่อเนื่องกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ในด้านการเผยแพร่ยิมนาสติกนั้นมีการจัดแสดงในโอกาสต่าง ๆ
แม้กระทั่งในงานวัด งานศพ ควบคู่กับการแสดงกระบี่กระบอง จนบางคนเรียกว่า
คณะปาหี่ก็มี ในบางครั้งก็มีการแสดงแทรมโปลีนด้วย
เนื่องจากยิมนาสติกยังเป็นของใหม่สำหรับไทย
เราจึงขาดแคลนทั้งด้านอุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวก และคู่มือตำรา นายขวัญชัย
เชาว์สุโข ได้รับเอกสารชุดแรกที่เกี่ยวกับยิมนาสติกโดยตรงคือ
คู่มือยิมนาสติกท่าบังคับของสหพันธ์ยิมนาสติก ( F.I.G. ) ปี ค.ศ. 1968
จากท่านอาจารย์สวัสดิ์ เลขยานนท์ ผู้มอบให้
จึงพยายามศึกษาและดำเนินแนวการฝึกตามอุปกรณ์ต่าง ๆ
ทั้งชายและหญิงประกอบกับได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณมานิตย์ รักสุวรรณ
หัวหน้าฝ่ายข่าวกีฬาของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม
ที่กรุณาให้ยืมภาพยนต์ข่าวทุกครั้งที่มีการแข่งขันกีฬายิมนาสติกจากต่างประเทศมาประกอบการฝึกซ้อม
อย่างไรก็ดี
ปรมาจารย์ยิมนาสติกในอดีตที่เคยเป็นทั้งนักกีฬารุ่นเก่าสมัยสวนกุหลาบจัดแข่งขัน
และเคยเป็นอาจารย์สอนที่ท่านได้วางฐานไว้ให้แก่รุ่นหลังอย่างน่าสรรเสริญ มีมาก อาทิ
อาจารย์ชุณห์ อรุณโรจน์ อาจารย์สถิตย์ ตันเกษม อาจารย์สด ทุ่มสิทธิ์ อาจารย์อำพร
เหรียญสุวรรณ เป็นต้น
พ.ศ. 2512 นายขวัญชัย เชาว์สุโข
ได้แปลกติกาการตัดสินยิมนาสติกจากภาษาอังกฤษ โค้ต ออฟพ้อยท์ ( Code of Points )
ทั้งชายและหญิงของสหพันธ์ยิมนาสติกสากล ( F.I.G. ) โดยได้รับ คำแนะนำจาก ดร.โจเซฟ
อี. ทอส ( Dr. Joseph E. Toss ) อดีตนักยิมนาสติกทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัยชาวฮังการี
ซึ่งเป็นอาจารย์สอนยิมนาสติกอยู่ที่มหาวิทยาลัยสปริงฟิลด์ คอลเลจ
เพลซิลวาเนียและได้มอบต้นฉบับกติกายิมนาสติกชายให้กับองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย
( ก.ก.ท. ปัจจุบัน ) พิมพ์เผยแพร่
และมอบกติกายิมนาสติกหญิงให้กรมพลศึกษาพิมพ์เผยแพร่
จึงนับว่าเป็นกติกาการตัดสินที่ให้คะแนนยิมนาสติกที่เป็นภาษาไทยโดยสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของประเทศไทย
และจากผลที่ได้ไปศึกษากติกาการแข่งขันจึงได้เขียนตำราและคู่มือการสอนวิชายิมนาสติกทั้งชายและหญิงออกเผยแพร่เป็นแนวการสอนต่อมาอีกด้วย
พ.ศ. 2515 ( ค.ศ. 1972 ) ได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ยิมนาสติกสากล (
F.I.G. ) และได้รับการตอบรับเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ( ค.ศ.
1972 ) ตามสำเนาจดหมายตอบรับลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2515 ( ค.ศ. 1972 ) โดย
ดร.อาร์เธอร์ กันเดอร์ ( Dr. Arthur Gander ) ประธานสหพันธ์และ ดร.แมกซ์
แบงเกอร์เตอร์ ( Dr. Max Bangerter ) เลขาธิการสหพันธ์
พ.ศ. 2518 ถึง พ.ศ. 2521
กรมพลศึกษาได้รับความช่วยเหลือจากสำนักข่าวสารญี่ปุ่น
ส่งผู้เชี่ยวชาญยิมนาสติกซึ่งเคยเป็นนักยิมนาสติกมาช่วยสอน
และเผยแพร่กีฬายิมนาสติกถึง 4 ปี ซึ่งสองปีแรก คือ นายโยชิฮิโกะ ฮิชิกาวา อีก 2 ปี
หลังเพิ่มผู้เชี่ยวชาญหญิงมากอีก 1 คือ ฮิโรโกะ อิชิกาวา
โดยมาช่วยสอนที่วิทยาลัยพลศึกษา ครั้งที่ 2 ที่วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
นายธนิต คงมนต์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
จึงเห็นสมควรบรรจุกีฬายิมนาสติกในการแข่งขันกีฬาวิทยาลัย พลศึกษา ครั้งที่ 2 ณ
วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2520
และได้มีการแข่งขันกีฬายิมนาสติกในกีฬาวิทยาลัยพลศึกษาตั้งแต่นั้นมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นทั้งสองยังเป็น ผู้ดำเนินการ
ในการจัดการแข่งขันกีฬายิมนาสติกและฝึกสอนนักกีฬาไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2521 ด้วย
พ.ศ. 2521 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8
ยิมนาสติกเป็นกีฬาใหม่อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับการเรียกร้องจากประเทศสมาชิก
ให้ไทยบรรจุเข้าในรายการแข่งขันไทยจึงมีโอกาสจัดการแข่งขันกีฬายิมนาติกระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกและได้คัดเลือกนักกีฬาทั้งชาย
และหญิงจนครบทีม
และมีเวลาส่งไปฝึกเพิ่มเติมที่ประเทศไทยก็ได้รับการช่วยเหลือจากจีนโดยส่งผู้ฝึกสอนชาย
หญิงมาช่วยฝึกให้อีกคือ เล่าซือ หลิวเหยี่ยน กับเล่าซือ หันกุ้นหลาน
ซึ่งเป็นอาจารย์ในวิทยาลัย พลศึกษาปักกิ่ง จนถึงวันแข่งขัน ซึ่งมีนักกีฬาประกอบด้วย
นักกีฬาชาย
1. นายอารีกุล ณ นคร
2. นายนธี ขำวัฒนพันธ์
3. นายคำนึง อมรนรชัย
4. นายไชยยงค์ วงษาพรหม
5. นายชาญชัย ขันติศิริ
6. นายเทิดชัย เพียรชอบ
7. นายมานิตย์ หยูมาก
นักกีฬาหญิง
1. นางสาวสืบสาย บุญวีรบุตร
2. นางสาวสุพัตรา บุญหลี
3. นางสาวลัดดา เรืองมโนธรรม
4. นางสาวกรุณา ผ่องผิวกาย
5. นางสาวกัลยา วรรณ คำลือ
6. นางสาวอุษากร พันธ์วานิช
การแข่งขันครั้งนั้นนักยิมนาสติกไทยจะทำคะแนนได้ไม่สูงนัก
แต่ก็นับว่าเป็นนักยิมนาสติก
รุ่นแรกและครั้งแรกที่มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันถึงระดับสากล
พ.ศ. 2525 การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 9 ณ กรุงนิวเดลลี
ประเทศอินเดีย และ ครั้งที่ 10 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2529
ประเทศไทยก็ส่งนักกีฬายิมนาสติกเข้าร่วมแข่งขันด้วยแต่แม้ว่าจะยังไม่ได้รับเหรียญใด
ๆ มาก็ตาม แต่ก็เป็นโอกาสที่นักกีฬาไทยได้พบประสบการณ์และ
วัดความสามารถว่ามาตรฐานยิมนาสติกของไทยเราก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด
และควรจะปรับปรุงอย่างไรซึ่งก็ได้ข้อพิสูจน์ว่ามาตรฐานยิมนาสติกชายของเราดีขึ้นเรื่อย
ๆ ส่วนหญิงนั้นต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
ภายหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 เป็นต้นมา
สมาคมยิมนาสติกก็ได้ให้มี การจัดแข่งขันประจำปีของสมาคม เพื่อเตรียมนักกีฬาชาย
หญิง ไว้สำหรับส่งเข้าร่วมการแข่งขันระหว่างประเทศเรื่อยมา
- กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2525 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ทีมชายและหญิงไทย ได้ครองเหรียญทอง ทั้งนี้ภายใต้การสอนของอาจารย์คำนึง
อมรนรชัย และอาจารย์ไกรพล บุญประเสริญ ซึ่งมีคณะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้
อาทิ อาจารย์จิรภา สุวรรณษา แห่งโรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ (
ปัจจุบันสอนที่วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ) อาจารย์งามพล สุขเกษม
แห่งโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยจังหวัดลำปาง อาจารธีรจิตร จันทรเสน
แห่งศูนย์ฝึกกีฬาไทย-ญี่ปุ่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
- กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2528 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นักกีฬายิมนาสติกไทยก็คงความเป็นเจ้าซีเกมส์ไว้ได้อีกเช่นกัน
เพราะสามารถพิชิตเหรียญทองได้จำนวน 8 เหรียญ
- กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2530ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ทีมยิมนาสติกชายพบความสำเร็จเช่นเดียวกับครั้งก่อน ๆ
ส่วนการแข่งขันกีฬายิมนาสติกภายในประเทศ นับตั้งแต่ก่อนการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 8 จนถึงปัจจุบันนั้นมีการจัดการแข่งขัน ดังนี้
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกนักเรียนกรมพลศึกษา
จัดโดยกรมพลศึกษาและมีการแข่งขันทุก ๆ ปีจนถึงปัจจุบัน
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกวิทยาลัยพลศึกษาแห่งประเทศไทย
จัดโดยวิทยาลัยพลศึกษามีการแข่งขันครั้งแรกในกีฬาวิทยาลัยพลศึกษาแห่งประเทศไทย
เดิมเรียกกีฬาวิทยาลัยพลศึกษาหรือกีฬาวอพอ (ว.พ.) ครั้งที่ 2
ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2520
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย
จัดโดยสมาคมยิมนาสติกแห่งประเทศไทย ประจำทุก ๆ ปี เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ.
2522 และต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้รับถ้วยรางวัล
พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในการจัดการแข่งขันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกในกีฬาแห่งชาติ จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย
ซึ่งเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 20
ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปี พ.ศ. 2529
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย
ซึ่งเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 5
ที่จังหวัดราชบุรี ในปี พ.ศ. 2532
- การแข่งขันกีฬายิมนาสติกนักเรียน นักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดโดยกรมพลศึกษา ซึ่งเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในกีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 ที่จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2539
ประวัติความเป็นมาของยิมนาสติกของไทย จะเห็นได้จาก อาจารย์ ขวัญชัย เชาว์สุโข เป็น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมยิมนาสติกยุคใหม่มาโดยตลอด ซึ่งผลสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในวงการยิมนาสติก ต่างพากันขนานนามให้ถือเป็น บิดายิมนาสติกเมืองไทย