สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

        นับแต่เริ่มการทำงาน คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เห็นว่า ปัญหานานัปการที่เกิดในประเทศไทยขณะนี้ ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเองอย่างสลับซับซ้อน ทั้งนี้เพราะรากเหง้าของปัญหาไม่ใช่ความบกพร่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งอาจแก้ไขได้เป็นเรื่องๆ ไป แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันเอง การปฏิรูปประเทศจะไม่ได้ผลอะไร หากไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างซึ่งมีข้อบกพร่องเหล่านี้ทั้งระบบ

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เสนอภาพรวมของปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเชื่อมโยงกันเอง อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย กล่าวโดยสรุปก็คือตัวโครงสร้างของการจัดสรรอำนาจกีดกันมิให้คนจำนวนมากเข้าถึง "ทรัพยากร" หรือเข้าถึงได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน คำว่า "ทรัพยากร" ที่ใช้ในที่นี้ มีความหมายกว้างกว่าทรัพยากรที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโอกาสและพลังที่เพิ่มพูนขึ้นในการใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองด้วย ซึ่งในที่นี้รวมเรียกว่า "ทรัพยากร" ทั้งหมด หากไม่ปรับโครงสร้างของการเข้าถึงทรัพยากรตามที่กล่าวนี้ ก็ไม่มีทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งนับวันจะเลวร้ายลงยิ่งขึ้น และเป็นสาเหตุแห่งการชะงักงันในเกือบทุกด้านของสังคมไทยเวลานี้

ทรัพยากรเหล่านี้นอกจากมีความสำคัญในตัวเองแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก แม้เป็นคนละด้านกันก็ตาม เพื่อสะดวกแก่ความเข้าใจ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เสนอแผนภูมิของภาพรวมการปฏิรูปที่ตั้งใจจะทำไว้ต่อจากนี้

คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เจตนาจะศึกษาและทำข้อเสนอว่า ควรจะปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านี้อย่างไร แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด (10 เดือน) คณะอนุกรรมการที่ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและทำข้อเสนอเรื่องต่างๆ สามารถทำได้สำเร็จจนเป็นที่รับรองของ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เพียง 5 เรื่อง อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาเพื่อรอรับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) อีก 14 เรื่อง ในขณะที่มีอีก 11 เรื่อง ที่ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ยังไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นศึกษาเลย

ดังนั้นในรายงานสรุปที่นำเสนอแก่สาธารณชนครั้งนี้ หัวเรื่องที่นำเสนอจึงประกอบด้วยเรื่องที่มีสถานะไม่เท่ากันทั้งสามประเภท ประเภทแรกคือเรื่องซึ่งเขียนขึ้นจากรายงานฉบับเต็มที่ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ให้ความเห็นชอบแล้ว และในรายงานนี้จะอ้างถึงเอกสารที่ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เป็นผู้รับผิดชอบ ประเภทที่สองเขียนขึ้นจากเอกสารของกรรมการและอนุกรรมการทั้งคณะหรือบางท่าน ซึ่งรายงานฉบับนี้จะอ้างเอกสารว่าอยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการด้านนั้นๆ หรือของบุคคลผู้เสนอรายงาน ประเภทสุดท้ายคือเรื่องที่ยังไม่ได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษา เป็นข้อเสนอของกรรมการและอนุกรรมการรายบุคคล รวมและพูดถึงไว้แต่เคร่าๆ เพื่อให้สาธารณชนพอมองเห็นแนวทางในภาพรวมของการปฏิรูปเท่านั้น

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ
การบริหารจัดการทรัพยากร

 ที่มา : สำนักงานปฏิรูป (สปร.)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย