สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย

เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยประสบความล้มเหลวต่อเนื่องกันมาหลายปี ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก แต่เราไม่ประสบความสำเร็จที่จะนำเงินทุนนั้นไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืน ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการปั่นฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวกดดันให้มีการปฏิรูปการเมืองในช่วงนั้น ก็มีพลังพอที่จะผลักดันให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปิดพื้นที่การต่อรองแก่คนกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก แต่การปฏิรูปการเมืองไม่อาจทำได้ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีเพียงฉบับเดียว ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกมาก ทั้งในเชิงการเมือง, เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งบ่อนทำลายเป้าหมายของรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ไม่เกิดพรรคการเมืองแนวใหม่, ไม่เกิดการบริหารรัฐกิจใหม่, ไม่เกิดการบริหารจัดการธุรกิจใหม่, ไม่เกิดการจัดสรรอำนาจขององค์กรทางการเมืองใหม่ ฯลฯ ความพยายามในการปฏิรูปการเมืองก็ซบเซาลงในสังคม ในขณะที่ไม่มีการศึกษาและกดดันให้เกิดการปฏิรูปด้านอื่นๆ คู่ขนานกันไปกับการปฏิรูปการเมือง

กล่าวโดยสรุปรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ไม่สามารถทำให้การแข่งขันเชิงอำนาจทั้งหมดของสังคมไทย เข้ามาอยู่ในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญได้ จึงมีการแข่งขันเชิงอำนาจที่อยู่นอกกรอบอีกมาก และในที่สุดก็นำไปสู่การล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นด้วยการรัฐประหารพ.ศ.2549 และจากนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนักในสังคม จนนำไปสู่การนองเลือดที่ไม่จำเป็นหลายครั้ง ทั้งที่เป็นไปอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ก็ไม่อาจยุติหรือบรรเทาความแตกแยกอย่างรุนแรงนี้ได้ ในขณะเดียวกันปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ก็ยังคงดำรงอยู่สืบมา ก่อให้เกิดปัญหาเชิงปรากฏการณ์ที่น่าวิตกหลายอย่างแก่ประเทศไทย เช่น สินค้าเกษตรและหัตถอุตสาหกรรมหลายตัวของไทยถูกแข่งขันจนสูญเสียตลาดของตน ส่วนใหญ่ของแรงงานไทยอยู่ในภาคที่ไม่เป็นทางการหรือนอกระบบ ซึ่งไม่มีหลักประกันด้านใดอย่างเพียงพอ คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ได้สร้างสภาวะความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน จนทำให้อำนาจต่อรองของผู้คนต่างๆ ในสังคม ที่จะปกป้องสิทธิ เสรีภาพ หรือบรรลุความเท่าเทียมกันเป็นไปได้ยาก โครงสร้างความอยุติธรรมหรือความเหลื่อมล้ำดังกล่าว คือความรุนแรงที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ความล้มเหลวของประเทศดังที่กล่าวมานี้ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เห็นว่าจำเป็นต้องค้นหาปัญหาที่เป็นเงื่อนปมสำคัญสุด ซึ่งเป็นรากเหง้าที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา และลงความเห็นว่าความเหลี่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกด้าน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นแกนกลาง อันก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านอื่นๆ ตามมาอีกมาก การปฏิรูปจึงควรจัดการกับปัญหานี้เป็นหลัก

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ
การบริหารจัดการทรัพยากร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย