วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

สามัคคีเภทคำฉันท์

ชิต บุรทัต

(เรื่องย่อ)

ในกาลโบราณมีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงครอบครองแคว้น มคธ มีราชคฤห์เป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงมีอำมาตย์ที่สนิทคนหนึ่งชื่อว่า วัสสการพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์และเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชประสงค์จะปราบแคว้นวัชชีอันมีพวกกษัตริย์ลิจฉวีปกครอง แต่พระองค์ยังลังเลพระทัยเมื่อได้ทรงทราบว่ากษัตริย์ลิจฉวีทุก ๆ พระองค์ล้วนแต่ทรงตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 คือธรรมอันเป็นไปเพื่อเหตุแห่งความเจริญฝ่ายเดียว มีทั้งหมด 7 ประการ

ดังนั้นพระองค์จึงปรึกษาโดยเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์ว่าควรจะกระทำอย่างไรจึงจะหาอุบายทำลายเหตุแห่งความพร้อมเพรียงของพวกกษัตริย์ลิจฉวีได้ เมื่อได้ตกลงนัดแนะกับวัสสการพราหมณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการ จึงดำรัสเป็นเชิงหารือกับพวกอำมาตย์ในเรื่องจะยกทัพไปรบกับแคว้นวัชชี มีวัสสการพราหมณ์เพียงผู้เดียวที่กราบทูลเป็นเชิงทักท้วงและขอให้พระองค์ทรงยับยั้งรอไว้ก่อนเพื่อเห็นแก่มิตรภาพและความสงบ ทั้งทำนายว่าถ้ารบก็จะพ่ายแพ้ด้วย

พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงฟังวัสสการพราหมณ์กราบทูลเป็นถ้อยคำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นนั้น ก็ทรงแสร้งแสดงพระอาการพิโรธ และมีพระราชโองการสั่งเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายนครบาลพร้อมด้วยราชบุรุษ ให้นำตัววัสสการพราหมณ์ไปลงโทษตามคำพิพากษาในบทพระอัยการ คือ เฆี่ยน โกนผม ประจาน แล้วขับไล่ไปเสียไม่ให้อยู่ในพระราชอาณาเขต

วัสสการพราหมณ์ยอมทนรับราชอาญาด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัสถึงแก่สลบ เมื่อถูกเนรเทศออกจากแคว้นมคธก็เดินทางมุ่งตรงไปเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีและเที่ยวผูกไมตรีกับบรรดาชาวเมือง จนข่าวนี้ทราบไปถึงกษัตริย์ลิจฉวี จึงได้ตีกลองสำคัญขึ้นเป็นสัญญาณ เชิญกษัตริย์ทั้งปวงมาชุมนุมปรึกษาราชการ เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีประชุมกันแล้วก็ได้ตกลงกันว่าควรให้พราหมณ์ผู้นั้นเข้ามาเพื่อจะได้เห็นท่าทางและฟังความดูก่อนว่าจะจริงเท็จอย่างไร

 

ภายหลังที่วัสสการพราหมณ์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวีและกราบทูลข้อความต่าง ๆ ด้วยความฉลาดลึกซึ้ง ประกอบกับมีรอยถูกโบยฟกช้ำให้เห็น กษัตริย์ลิจฉวีทุกพระองค์ต่างก็ทรงหมดความฉงนสนเท่ห์ว่าจะเป็นกลอุบาย จึงทรงตั้งให้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่บรรดาราชกุมารและกระทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย วัสสการพราหมณ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจและเอาใจใส่ จนเป็นที่ไว้ใจในหมู่กษัตริย์ ลิจฉวี เมื่อวัสสการพราหมณ์คาดคะเนว่าพวกกษัตริย์ลิจฉวีวางใจตนจนหมดความสงสัย วัสสการพราหมณ์จึงได้ดำเนินอุบายเพื่อทำลายความพร้อมเพรียงเป็นอันเดียวกันของกษัตริย์ ลิจฉวี โดยการแต่งอุบายลับชวนให้ฉงนสนเท่ห์ต่าง ๆ ขึ้น เป็นเครื่องยั่วยุราชกุมารทั้งหลายผู้ เป็นศิษย์ให้แตกร้าวกัน และวัสสการพราหมณ์คอยส่งเสริมเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทให้บังเกิดขึ้น ในหมู่ราชกุมารอยู่เนืองนิตย์ จนกระทั่งที่สุดราชกุมารทุกพระองค์ก็แตกความสามัคคีกันเป็นเหตุให้วิวาทกันขึ้น ครั้นแล้วต่างองค์ก็นำความนั้นขึ้นกราบทูลชนกของตนตามเรื่องที่เป็นมา เมื่อเป็นเช่นนั้นความแตกร้าวก็ลามไปถึงบรรดาชนกผู้ซึ่งเชื่อถ้อยคำโอรสของตนโดยปราศจากการไตร่ตรอง

จนกระทั่งเวลาล่วงไปสามปี สามัคคีธรรมในระหว่างพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ถูกทำลายสิ้น วัสสการพราหมณ์เห็นว่ากษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์แตกสามัคคีกันแล้ว ก็ให้คนลอบนำความไปกราบทูล พระเจ้าอชาตศัตรู

พระเจ้าอชาตศัตรูก็กรีธาทัพสู่เมืองเวสาลี พวกชาวเมืองเวสาลีตกใจกลัวภัยอันเกิดแต่ ข้าศึก มุขมนตรีจึงได้ตีกลองสำคัญขึ้นเป็นอาณัติสัญญาณให้ยกทัพมาต่อสู้ แต่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ก็หาไปเข้าร่วมประชุมไม่ ต่างองค์ทรงเพิกเฉยเสีย แม้แต่ประตูเมืองทุกทิศก็ไม่มีใครสั่งให้ ปิด พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้แคว้นวัชชีโดยง่าย ไม่ต้องเปลืองแรงรี้พลเพราะการรบเลย เมื่อจัดการ บ้านเมืองราบคาบแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็ยกกองทัพเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ดังเดิม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย