สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>
นายสมบัติ พลายน้อย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2553
นายสมบัติ พลายน้อย ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2472
ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) และ
ได้รับทุน ให้ไปอบรมการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ N.H.K. ประเทศญี่ปุ่น
เริ่มรับราชการครั้งแรก เป็นเสมียนสรรพากรและเปลี่ยนอาชีพไปรับราชการครู
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย
และได้ลาออกจากราชการเพื่อเขียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว
นายสมบัติ พลายน้อย หรือ ส. พลายน้อย
เป็นนักประพันธ์ที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลากว่า 6
ทศวรรษและผลงานเขียนกว่า 100 เรื่อง เป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นความเป็นนักเขียนอาชีพ
ซึ่งเหลือเพียงน้อยคนแล้วในปัจจุบัน
แม้โลกปัจจุบันจะก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารจนผู้คนนิยมค้นคว้าหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ต
แต่เชื่อมั่นได้ว่าผลงานวรรณกรรมของ ส. พลายน้อย จะเป็นหนังสือที่ให้สาระความรู้
ความเพลิดเพลิน จนถึงเป็นหนังสืออ้างอิงของผู้อ่านไปอีกยาวนาน
ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเปิดโลกแห่งความรู้ ความคิด
และจินตนาการแก่ผู้อ่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ ส. พลายน้อย
ได้รับการยกย่องจากองค์กรวรรณกรรมและองค์กรวัฒนธรรม
ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ส.
พลายน้อยก็ยังมิได้วางมือจากการอ่านและการเขียน
ชีวิตประจำวันของ ส. พลายน้อย
อยู่กับการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือราวกับเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ
จึงกล่าวได้ว่า ส. พลายน้อยได้อุทิศตนเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม
และเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยด้วยผลงานสารคดีที่มีวรรณศิลป์อันมีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย
ผลงานได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
และยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างสม่ำเสมอจนได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาวรรณศิลป์
(สารคดี ) ประจำปี พ.ศ. 2539 รางวัล นักเขียนอมตะ คนที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2551
และได้รับประกาศยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พุทธศักราช 2552
ประวัติชีวิต
ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2472
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ นายผล พลายน้อย มารดาชื่อ นางผิว พลายน้อย
ภรรยาชื่อนางจงกล พลายน้อย มีบุตรชาย 1 คน ชื่อนายอภิจัย พลายน้อย (ภรรยาชื่อ
นางเพลินจันทร์ มีบุตร 2 คน ชื่อธนานันต์และธนัญญา)
ประวัติการศึกษา
ชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนประชาบาล วัดประดู่ทรงธรรม ชั้นมัธยมศึกษา
ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.)
ได้รับทุนการศึกษาไปอบรมการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ณ สถานีวิทยุ N.H.K
ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2511
ประวัติการทำงาน
เริ่มทำงานเป็นเสมียนสรรพากรจนอายุได้ 18 ปี รับราชการครู
ที่ว่าการอำเภออุทัย เป็นเวลา 5 ปี ข้าราชการพลเรือน กองเผยแพร่การศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ บรรณาธิการวารสารวิทยุศึกษาของสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
และวารสารจันทรเกษม ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน
รับราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม
กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2527 บรรณาธิการวารสารวัฒนธรรม เกษียณอายุราชการ
พ.ศ. 2528 เมื่ออายุ 56 ปี ในตำแหน่งหัวหน้างานเลขานุการ นักวิชาการ ระดับ 6
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
หลังลาออกจากราชการแล้ว ทำงานด้านการประพันธ์เต็มตัว เขียนบทความให้แก่นิตยสารต่าง
ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ศิลปวัฒนธรรม สารคดี เมืองโบราณ ต่วยตูน
ทั้งยังเป็นอนุกรรมการ ราชบัณฑิตยสถาน
อนุกรรมการสำนักงานสร้างเสริมเอกลักษณ์ของชาติ และวิทยากรพิเศษบรรยาย
ให้ความรู้ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
เกียรติคุณที่ได้รับ
- พ.ศ. 2517 หนังสือเรื่อง พฤกษนิยาย ได้รับรางวัลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2532 หนังสือเรื่อง ยาขอบ ชีวิตและงานของผู้แต่งอมตนิยายผู้ชนะสิบทิศ ได้รับรางวัล ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2535 หนังสือเรื่อง อัญมณีนิยาย ได้รับรางวัลในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
- พ.ศ. 2536 หนังสือเรื่อง สัตว์หิมพานต์ ได้รับรางวัลของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ
- พ.ศ. 2537 หนังสือเรื่อง เกร็ดย่อยร้อยเรื่อง ได้รับรางวัลของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ
- พ.ศ. 2538 หนังสือเรื่อง เกิดในเรือ ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และหนังสือเรื่อง จันทรคตินิยาย ได้รับรางวัลของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ
- พ.ศ. 2539 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี ) ประจำปี พ.ศ. 2539
- พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
- พ.ศ. 2544 หนังสือชุดนิทาน ได้รับการคัดเลือกจากอาจารย์วิทยากร เชียงกูลและคณะ ให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่เยาวชนไทยควรอ่าน ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยเป็นหนังสือเหมาะสำหรับกลุ่มเด็กวัย 7 11 ปี
- พ.ศ. 2547 ได้รับประกาศเชิดชูเกียรติคุณเป็น นักเขียนสารคดีเกียรติยศ จากรายการ ฅนค้นฅน หนังสือเรื่อง เกร็ดภาษาหนังสือไทย และ แลไปข้างหน้า ได้รับรางวัลจากเซเว่นบุ๊ค อวอร์ดส์
- พ.ศ. 2551 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็น ผู้สืบสานอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย ในงานเชิดชูครูกวีศรีสุนทร
- พ.ศ. 2551 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานเขตคลองสานในกิจกรรมเผยแพร่ภูมิปัญญาผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร สาขาภาษาและวรรณกรรม ประจำปีพุทธศักราช 2551
- พ.ศ. 2552 ได้รับรางวัล นักเขียนอมตะ คนที่ 4 จากมูลนิธิอมตะ
- พ.ศ. 2552 ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 จากกระทรวงวัฒนธรรม
- พ.ศ. 2553 ได้รับรางวัล นราธิป ประจำปี พ.ศ. 2552 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
นายสมบัติ พลายน้อย ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี
ของการเป็นนักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้นามปากกาว่า ส. พลายน้อย
ผลงานประพันธ์ได้รับการพิมพ์ เป็นรูปเล่มแล้วกว่า 100 รายการ
บางเรื่องได้รับการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ผลงานประพันธ์ของ ส. พลายน้อย
แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้หลากหลาย จนแทบกล่าวได้ว่าไม่มีเรื่องประเภทใดที่ไม่ได้เขียน
ดอกผลแห่งความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเปิดโลกแห่งความรู้
ความคิด และจินตนาการแก่ผู้อ่านมาเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ในวัย 80 ปี ส. พลายน้อย
ก็ยังมิได้วางมือจากการอ่านและการเขียนทำให้ ส. พลายน้อย
ได้รับการยกย่องจากองค์กรวรรณกรรมและองค์กรวัฒนธรรม
ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ดังคำพูดของ ส. พลายน้อย ที่ว่า
ชีวิตของคนเรานั้น เขาว่าพระพรหมเป็นผู้กำหนดว่าจะดำเนินไปอย่างไร
ชีวิตของผมจะอยู่ในข่ายนี้ด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมา
มีความล้มเหลวที่น่าท้อถอยอยู่มากพอสมควร หากมีสิ่งหนึ่งซึ่งผมไม่ได้ทอดทิ้ง
สิ่งนั้นก็คือ .... หนังสือ
นางประนอม ทาแปง
นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์
นายควน ทวนยก
นายสมบัติ พลายน้อย
นายสุประวัติ ปัทมสูต
นายสุรชัย จันทิมาธร