สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์-นักแสดง) พุทธศักราช 2553

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ ปัจจุบันอายุ 71 ปี เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2482 ที่ตรอกสุเหร่า บางลำพู กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ เป็นนักแสดงและครูสอนศิลปะการแสดง เริ่มแสดง ละครเรื่อง ราชาธิราช ขณะนั้นอายุ 10 ปี ต่อมาได้แสดงเป็นนางเอกและพระเอกในละครอีกหลายเรื่อง พ.ศ. 2501 เริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่อง การะเกด และมีฉากการแสดงรำฉุยฉายพราหมณ์ เป็นที่กล่าวขานว่ารำได้อ่อนช้อยงดงามและประทับใจผู้ชม ทำให้โด่งดังติดอันดับนางเอกแถวหน้าของเมืองไทยในทันที และครองความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปี จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ การรำฉุยฉาย ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของไทยเป็นที่เผยแพร่และรู้จักกันอย่างกว้างขวาง ต่อมามีผลงานการแสดงภาพยนตร์อีกกว่า 300 เรื่อง ได้แสดงทุกบทบาทและทุกเรื่องที่แสดงได้รับความนิยมจากผู้ชม จนได้รับฉายาว่าดาราเงินล้านและราชินีจอเงิน และมีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์กว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงหนาวตัก และร่วมขับร้องเพลงในคอนเสิร์ตต่าง ๆ

จากผลงานดังกล่าวจึงได้รับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลดาราทองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ดวงตาสวรรค์ รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำพระราชทาน ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ในฐานะนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เงินเงินเงิน รางวัลเมขลา ในฐานะผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง ปีกมาร รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากละครเรื่อง การะเกด รางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ ในฐานะบุคคลเกียรติยศ ที่อุทิศตนให้กับวงการกภาพยนตร์ไทยและสังคมอย่างสม่ำเสมอ

ประวัติชีวิต

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ ปัจจุบันอายุ 71 ปี เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2482 ที่ตรอกสุเหร่า บางลำพู กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายหงวน วิไลศักดิ์ อาชีพค้าขาย มารดาชื่อ นางปุย วิไลศักดิ์

ประวัติการศึกษา

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร

ประวัติการทำงานและการสร้างสรรค์ผลงาน

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ เริ่มแสดงละครเรื่อง ราชาธิราช ขณะนั้นอายุ 10 ปี แสดงเป็นตัวทหารยืนเสาธรรมดา ที่โรงละครเก่าติดกับกำแพงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาได้เป็นดาราประจำโรงเรียนนาฏศิลป

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ ได้แสดงเป็นนางเอกละคร เรื่อง แว่นแก้ว ในขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก ในปีต่อมา ได้แสดงเป็นพระเอก โดยแสดงเป็นพระสังข์ ตอนหาปลา หลังจากนั้น เริ่มมีชื่อในการรำฉุยฉายพราหมณ์ เป็นที่ขึ้นชื่อลือชา สิ่งที่เป็นเคล็ดลับสุดยอดของฉุยฉายพราหมณ์ คือ นัยน์ตาที่แสดงความรู้สึกออกมาตามเนื้อหาของบทเพลง ซึ่งครูอัมพร ชัชกุล เป็นผู้บอก ท่านเป็นครูอีกท่านหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและได้มีโอกาสแสดงให้แขกต่างประเทศที่เดินทางมา ณ ทำเนียบรัฐบาล อยู่บ่อยครั้ง

ผลงานการแสดงภาพยนตร์

พ.ศ. 2501 นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ แสดงภาพยนตร์เรื่อง การะเกด เป็นเรื่องแรกรับบทเป็นนางเอก คู่กับลือชัย นฤนาท และชนะ ศรีอุบล โดยการชักนำของนักเขียนชื่อดัง ครูศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) เป็นที่กล่าวขานและโด่งดังในช่วงข้ามคืนจากฉากรำฉุยฉายพราหม์ ว่ารำได้อ่อนช้อยงดงามเป็นที่สุด ภาพยนตร์ฉายติดต่อกันประมาณ 2 เดือน ทำรายได้มากกว่า 2 ล้าน นับเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ทำให้ชื่อพิศมัย วิไลศักดิ์ ติดอันดับนางเอกแถวหน้าของเมืองไทยในทันที และยังครองความนิยมอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายสิบปี จนได้รับฉายาว่า เป็นราชินีจอเงิน จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ การรำฉุยฉาย ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของไทย เป็นที่เผยแพร่และรู้จักกันอย่างกว้าวขวางยิ่งขึ้น นับเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอีกทางหนึ่งด้วย

ต่อมามีผลงานการแสดงภาพยนตร์กว่า 300 เรื่อง ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่แสดง ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับแฟน ๆ จนเชิด ทรงศรี ตั้งฉายาให้ว่า ดาราเงินล้าน แสดงมาแล้วทุกบทบาท แต่ที่ชอบมากคือบทตลก เล่นแล้วไม่เหนื่อย ผลงานภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น สองฝั่งฟ้า ดรรชนีนาง จำเลยรัก ดวงตาสวรรค์ เล็บอินทรีย์ ทับเทวา ละอองดาว และในจำนวนภาพยนตร์หลายเรื่อง ได้ใช้ความสามารถพิเศษการรำไทยรับบทในการแสดงด้วย เช่น โนห์รา เมขลา สีดา หนึ่งนุช ค่าของคน สักขีแม่ปิง ระห่ำลำหัก

ผลงานแสดงละครโทรทัศน์

พ.ศ. 2527 นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ ได้เริ่มแสดงละครเป็นครั้งแรกจาก เรื่อง ห้องที่จัดไม่เสร็จ แสดงทางทีวีช่อง 3 ต่อมาได้แสดงอีกกว่า 200 เรื่อง อาทิ แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา มงกุฎดอกส้ม ไฟอมตะ ผู้กองเจ้าเสน่ห์ 3 หนุ่ม 3 มุม บัวแล้งน้ำ ลูกรักลูกชัง ผ้าทอง ปีกมาร ไม้เมือง ทิพยดุริยางค์ หนึ่งมิตรชิดใกล้ ยอดกตัญญู ไทรโศก กุหลาบไร้หนาม ผมอาถรรพ์ ทุกเรื่องได้รับบทบาทที่ได้รับความนิยมทั้งสิ้น เป็นผลทำให้มีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานขับร้องเพลง

พ.ศ. 2504 ได้ขับร้องเพลง หนาวตัก เป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง ดรรชนีนาง ประพันธ์คำร้อง โดย ครูสมาน กาญจนผะลิน และ ครูศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) และพ.ศ. 2511 ได้บันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมากทำให้ได้รับเชิญให้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตช่วยการกุศลอยู่เนือง ๆ เช่น คอนเสิร์ตแพรวพราวด้าวค้างฟ้าของ นางเชอร์รี่ เศวตนันทน์ (สวลี ผกาพันธุ์) ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2532 คอนเสิร์ตชรินทร์โชว์ ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2541 คอนเสิร์ตที่นี่มีดาวประดับใจ คอนเสิร์ตเพราะคิดถึง ของมูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส ฯลฯ

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ ได้ยึดหลักในการทำงานเสมอมา คือ ตรงต่อเวลา อยู่ในวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มากว่า 50 ปี เป็นผู้มีอัธยาศัยที่ดีกับผู้ร่วมงาน เอาใจใส่ต่อบท ไม่เคยมีข่าวในทางเสื่อมเสีย รักในอาชีพนักแสดง มีเพื่อนร่วมแสดงหลากหลายรุ่น เป็นที่รักใคร่ของดารานักแสดงด้วยกัน นักแสดงรุ่นใหม่เรียกว่าแม่ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ถ่ายทอดการแสดงให้นักแสดงรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดรุ่นแรก คือ นางสาวจินตหรา สุขพัฒน์ จากการรับบทเป็นนางเอกละครเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ต่อมาทำให้กลายเป็นนักแสดงที่มีฝีมือและมีรางวัลมากมาย ต่อมาได้ถ่ายทอดการแสดงให้กับนักแสดงอีกหลายคน เช่น กมลชนกและน้ำฝน โกมลฐิติ หลังจากนั้นค่ายละครต่าง ๆ ได้เชิญไปแนะนำเทคนิคในการแสดงอย่างต่อเนื่อง ในการสอนจะไม่ค่อยรับค่าแรง และในปี พ.ศ. 2553 นี้ ก็ได้รับเชิญจากนายกสมาคมคนไทยที่อาศัยอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ให้ไปสอนรำฉุยฉายพราหมณ์ให้กับคนไทยในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม 2553 ณ ประเทศออสเตรเลีย

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2506 ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ครั้งที่ 6 จากภาพยนตร์เรื่อง ดวงตาสวรรค์
  • พ.ศ. 2510 ได้รับรางวัลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลดาราทอง โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานจะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ น้ำใจ ไมตรี
  • พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำพระราชทาน ในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ครั้งที่ 1 จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา และรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ในฐานะนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม ครั้งที่ 7 จากภาพยนตร์เรื่อง เงินเงินเงิน
  • พ.ศ. 2539 ได้รับรางวัลเมขลา ในฐานะผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากละคร เรื่อง ปีกมาร
  • พ.ศ. 2540 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากละครเรื่อง การะเกด
  • พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ในฐานะนักแสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม ครั้งที่ 20 จากภาพยนตร์เรื่อง กำแพง
  • พ.ศ. 2543 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม จากละครเรื่องไม้เมือง
  • พ.ศ. 2546 ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำเกียรติยศ คนทีวี ในฐานะบุคคลตัวอย่างและอุทิศตนให้กับวงการโทรทัศน์ เป็นบุคคลหนึ่งในจำนวนหลายคนที่เป็นแรงสำคัญในการพัฒนาให้กับงานของโทรทัศน์อย่างเต็มความสามารถ
  • พ.ศ. 2550 ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์เกียรติยศ ในฐานะบุคคลเกียรติยศ ที่อุทิศตนให้กับวงการภาพยนตร์ไทยและสังคมอย่างสม่ำเสมอ บุคคลในวงการให้การยอมรับและมีจิตวิญญาณรักวงการบันเทิง

นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์ เปรียบเสมือนต้นแบบ เป็นครู เป็นบุคลากรที่เคารพ ของคนในวงการบันเทิง ยังเป็นดาราที่ผู้จัดละครต่างติดต่อให้มาร่วมงานด้วยมากที่สุดคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นศิลปินอาวุโสที่ให้ความเมตตาชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ดารารุ่นหลัง จึงเป็นที่เคารพรักใคร่ของบรรดาศิลปินรุ่นน้องและรุ่นลูกหลานทั้งหลาย ที่สำคัญคือเป็นดาราผู้มีภาพพจน์ดีงาม เป็นที่ชื่นชมของแฟน ๆ ภาพยนตร์และละครทั่วประเทศทุกเพศทุกวัยมาเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักแสดงอื่น ๆ และประชาชนทั่วไปอีกด้วย

นางประนอม ทาแปง
นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์
นายควน ทวนยก
นายสมบัติ พลายน้อย
นายสุประวัติ ปัทมสูต
นายสุรชัย จันทิมาธร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย