สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์>>
นางประนอม ทาแปง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) พุทธศักราช 2553
นางประนอม ทาแปง ปัจจุบันอายุ 56 ปี เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2497
ที่จังหวัดแพร่ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทอผ้าเป็นเลิศ
ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือ การทอผ้าตีนจกที่สวยงาม มีชีวิตชีวา ตลอดระยะเวลา 28 ปี
ได้อุทิศตนและเวลาให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะลายผ้าดั้งเดิมทำให้ผลงานมีความประณีตเชิงศิลป์อย่างลึกซึ้งและสามารถคิดค้นพัฒนาลวดลายใหม่ได้อย่างประณีตงดงามเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากสาธารณชนทั่วไปจนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม
สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปหัตถกรรม เครื่องถักทอ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
และได้รับเกียรติให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยภาคเหนือ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน
และพัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทำเส้นฝ้าย
ทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งการออกแบบตัดเย็บ
สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนจนกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง
มีคุณภาพชีวิตที่ดีสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นางประนอม ทาแปง
ได้เผยแพร่ผลงานผ้าทอตีนจกอันงดงามทั้งในประเทศและต่างประเทศและเล็งเห็นถึงคุณค่าของศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นที่ใกล้จะถูกลบเลือนด้วยกระแสของการพัฒนาชาติสู่ยุคสมัยใหม่
ต่อมาได้ดัดแปลงบ้านให้เป็นแหล่งการเรียนรู้การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยได้ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าเชิงอนุรักษ์ลวดลายไทยโบราณและพัฒนาลวดลายผ้าให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละยุค
จึงนับว่านางประนอม ทาแปง
เป็นต้นแบบของช่างฝีมือพื้นบ้านที่ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยสืบต่อไป
นับเป็นผู้มีคุณูประการต่องานหัตถศิลป์ไทย
ประวัติชีวิตและผลงาน
นางประนอม ทาแปง ปัจจุบันอายุ 56 ปี เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.
2497 ณ บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง
4 คน ของนายพัน ทาแปง และนางแก้วมูล ทาแปง สมรสแล้ว มีบุตรชื่อนายสุทธิพจน์ อุดทา
ประวัติการศึกษา
นางประนอม ทาแปง เป็นผู้สนใจใฝ่ศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย
เริ่มเรียนรู้การปั่นเส้นฝ้าย ทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือนโดยรับการถ่ายทอดจากครูคนแรก
คือ แม่แก้วมูล ผู้เป็นมารดา ตั้งแต่นางประนอมอายุเพียง 12 ปี นอกจากนั้น
ยังได้เรียนรู้การทอผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง จากนางบุญยวง อุปถัมภ์
ผู้เป็นป้าซึ่งนางประนอม ทาแปง เคารพเป็นครูคนที่สองผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้
ด้านการศึกษาระดับประถมศึกษาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน
แต่ด้วยปัญหาสุขภาพและฐานะทางบ้านที่ยากจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน
จึงต้องหยุดเรียนหนังสือเมื่อเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
แต่เมื่อมีโอกาสที่เอื้ออำนวยประนอมก็พากเพียร ใฝ่เรียนรู้
ทั้งในระบบการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตามอัธยาศัย นางประนอม
ทาแปง ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นนักเรียนศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมป์
ทำให้ได้รับการศึกษาศิลปะเชิงช่างทอ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่
จากนั้นยังคงพากเพียรกับการเรียนการศึกษาจนกระทั่งจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
และระดับอุดมศึกษา โดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน
จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์
และจากผลงานความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกที่งดงามยอดเยี่ยมในเชิงช่างศิลป์และความสำเร็จในด้านหน้าที่การงาน
ทำให้นางประนอม ทาแปง ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์)
จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. 2546
ประวัติการทำงาน
หลังจากที่นางประนอม เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ที่โรงเรียนบ้านไผ่ล้อม (นามนวิทยาคาร) ก็ไม่ได้เข้าเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นอีก
เนื่องจากฐานะทางบ้านขาดแคลน เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น
ประนอมได้เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานครพร้อมเพื่อนอีกหลายคน โดยทำงานเป็นแม่บ้าน
ด้วยความที่เป็นคนขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ และอ่อนน้อมถ่อมตน
จึงทำให้นายจ้างเมตตาเอ็นดูมาก แต่เพราะร่างกายที่ไม่สู้แข็งแรง รูปร่างบอบบาง
จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน
ต่อมาได้สมัครเป็นลูกจ้างทำงานบ้านของผู้ที่รู้จักในจังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลาปีเศษ
ก็ได้ลาออก และสมัครทำงานประเภทเดียวกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ปรากฏว่าประสบความยากลำบากมาก และตระหนักแล้วว่าการเป็นลูกจ้าง
คงไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม จึงได้กลับบ้านช่วยพ่อแม่ทำนา ทำไร่ ทำสวนที่บ้าน
เมื่อมีเวลาว่างก็ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ และฝึกทอผ้าจากป้าบุญยวง อุปถัมภ์
(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ผู้สืบสานการทอผ้าตีนจกลายโบราณดั้งเดิมของอำเภอลอง
จังหวัดแพร่ ซึ่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้านติดกัน เมื่อใดที่ป้าบุญยวงพักรับประทานอาหาร
ประนอมก็จะแอบเข้าไปทอผ้า และทอได้ถูกต้องสวยงามประณีตดี ด้วยความตั้งใจและสนใจจริง
ป้าบุญยวงจึงถ่ายทอดการทอผ้าตีนจกให้
“สมัยเด็กๆ เป็นคนชอบทอผ้าอยู่แล้ว ทีนี้เห็นคุณป้า นั่งทอผ้าอยู่
ช่วงที่คุณป้าหยุดพักทานอาหารกลางวัน
เราก็ไปขโมยขึ้นกี่แอบทอผ้าจกต่อจากที่ป้าทอไว้ พอป้ากลับมาก็จะถามป้าว่าถูกไหม
ป้าก็ดูแล้ว บอกว่าทำถูกแล้ว ทำได้ดีแล้ว ก็เลยหัดทอตั้งแต่นั้นมา
ก็เป็นจุดเริ่มแรกของการทอผ้าตีนจกของป้า”
นางประนอม ทาแปง ได้ฝึกฝนการทอผ้าจากป้าบุญยวงตั้งแต่ในวัยเด็ก
จนมีฝีมือสามารถจำหน่ายได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2522
ได้นำผ้าซิ่นตีนจกลายของอำเภอลอง ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ
เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้านจังหวัดแพร่
และต่อมาคณะผู้แทนในพระองค์ ได้เดินทางมาที่บ้านและขอพบนางประนอม ทาแปง
เพื่อแจ้งให้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงสนพระทัยและมีความประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าตีนจกให้มากขึ้น
โดยคณะผู้แทนพระองค์ได้กรุณามอบทุนดำเนินการให้
ต่อมาพัฒนากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลอง และคณะกรรมการหมู่บ้าน
ได้จัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้น ชื่อ “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน” เมื่อวันที่
1 พฤษภาคม 2532 มีสมาชิกครั้งแรก 15 คน
ใช้บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้านบ้านนามนเป็นสถานที่ตั้งกลุ่มฯ โดยมีนางประนอม ทาแปง
เป็นประธานกลุ่ม ต่อจากนั้น ได้มีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม
และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชนและเงินกองทุนสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมป์ สมาชิกจึงมีเพิ่มมากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว
ทำให้กลุ่มสตรีบ้านนามนเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวางเรื่อยมา
จนถึงปัจจุบัน
จากการทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมสิ่งทอเป็นเวลา 30 ปีเศษ
นางประนอมได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะผ้าทอตีนจก
รวมถึงได้จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยมีสมาชิก 400 คน
และมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 17 จังหวัด ทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง
และยังได้รับคัดเลือกเป็นประธานศูนย์เครือข่ายของจังหวัดแพร่
มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ
แนะนำให้ความรู้แก่สมาชิกในเครือข่ายกลุ่มของสหกรณ์ตลอดมา
ในปี พ.ศ. 2543
ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด้านการบริหารจัดการปลูกฝ้าย ผลิตเส้นด้าย และการทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ
โดยเฉพาะการฟื้นฟูและพัฒนาการย้อมสีครามธรรมชาติ
ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มฯ
จนสามารถเปิดศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติขึ้น ในปี 2551
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยการนำของประนอม ทาแปง
เช่น กลุ่มสตรีแม่บ้านบ้านนามน (พ.ศ. 2522 - 2539) กลุ่มทอผ้าตีนจกบ้านประนอม (พ.ศ.
2538 - จนถึงปัจจุบัน) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร (พ.ศ. 2539 - 2540)
กลุ่มเครือข่ายสิ่งทออำเภอลอง จังหวัดแพร่ (พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน)
ตั้งศูนย์พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา (พ.ศ. 2542 -
ปัจจุบัน)จัดตั้งศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร (พ.ศ. 2542 - ปัจจุบัน)
กลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีธรรมชาติ (พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน)
สร้างศูนย์ฝึกอบรมถ่ายทอดการย้อมสีฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ (พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน)
กลุ่มเครือข่ายรับงานไปทำที่บ้าน (พ.ศ. 2546 - ปัจจุบัน)
จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติ (พ.ศ. 2550 -
ปัจจุบัน)
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน
นางประนอม ทาแปง
เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้การทอผ้าตีนจกให้แก่สมาชิกของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน
จนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นและขยายไปยังหมู่บ้านและต่างอำเภอใกล้เคียง
ตั้งแต่อำเภอเด่นชัย วังชิ้น เมืองแพร่ ขณะนั้นมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 2,000 คน
ทำให้สมาชิกของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามนสามารถสร้างรายได้หลังฤดูเก็บเกี่ยว
และทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มทอผ้าสตรีบ้านนามนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ นางประนอม ทาแปง
ยังได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนศิลปาชีพและได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม
ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ถึง 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2527 , 2529 และ 2531
ตามลำดับ จึงทำให้มีความรู้ความสามารถในการทอผ้ามากขึ้น
อยู่มาวันหนึ่ง นางประนอม ทาแปง
ได้พบเศษผ้าโบราณชิ้นหนึ่งที่มีลวดลายเพียงครึ่งเดียว จึงเกิดความสนใจ
คิดอยากจะทอผ้าลวดลายที่พบเพียงครึ่งเดียวมาทอให้สมบูรณ์
จึงได้พยายามแกะลายผ้าและศึกษาลวดลาย จนความพยายามของนางประนอมประสบความสำเร็จ
ด้วยความเป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
จึงได้คิดค้นเทคนิคใหม่มาถ่ายทอดแก่ผู้เรียนให้เข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายขึ้น
เทคนิคดังกล่าว คือ การใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “เขาฟืม”
ในการเก็บลวดลายของผ้าตีนจกที่ต้องการ
โดยทอเขาฟืมแต่ละเครือจะมีลวดลายสำเร็จอยู่บนชุดฟืม
ช่วยให้การทอลวดลายประสมกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะลวดลายโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
เช่น ลายผักแว่น ลายขอไล่ ลายงวงน้ำคุ ลายนกกินน้ำร่วมต้น ลายสำเภาลอยน้ำ ลายบ่ขนัด
ลายขากำปุ้ง ลายโก้งเก้งซ้อนนก ลายต่อมเครือ เป็นต้น
“การทอผ้าเมื่อก่อนก็จะใช้ขนเม่นหรือว่าไม้แหลม ควักเอาทีละเส้น
ทีละเส้นซึ่งกว่าจะได้แต่ละผืน ก็ใช้เวลา เป็นเดือนสองเดือน
ก็เลยมาคิดว่าจะทำยังไงให้ทอได้ไวขึ้น ชาวบ้านจะได้ทอมาขายให้มีเงินพอใช้
เขาจะได้ยังคงทอผ้าต่อไปไม่ทอดทิ้งงานทอผ้า จึงคิดเอาวิธีการยกเขา
เพื่อได้ทอได้ง่าย ไม่เสียเวลา”
นอกจากนี้ นางประนอมยังได้เริ่มคิดที่จะอนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณ
ที่คิดว่าต่อไปในอนาคตจะสูญหายไป เนื่องจากขาดผู้ที่สนใจหรือเอาใจใส่เท่าที่ควร
โดยได้ใช้ความมานะพยายามที่จะศึกษาถึงลวดลาย สีสัน และวิธีการทอแบบเก่าๆ
ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นผลแห่งความพยายามจึงประสบความสำเร็จ
มีลวดลายพื้นบ้านโบราณหลายลายที่นางประนอม ทาแปง
ได้พยายามบันทึกความทรงจำจนปรากฏเป็นผ้าลวดลายที่งดงามในหลายรูปแบบ
“ลวดลายผ้าตีนจกอำเภอลองจะมีหลากหลายลาย ถ้าดูจริงๆ จะมีนับร้อยลาย เช่น
ลายหลัก เมื่อคน โบราณ เห็นนกเขาก็จะทอลายนกกินน้ำร่วมต้น
เห็นมดแดงหรือมดส้มเขาก็จะทอลายขามดแดง ถ้าเป็นดอกไม้ ก็จะเป็นลายพุ่มดอก
ลายผักแว่น ลายดอกมะลิ ส่วนลายใหม่ๆ ที่คิดขึ้นเราก็ประยุกต์ขึ้นมา เช่น ลายหัวใจ
ดูลายเหมือนอะไรเราก็เรียกไปตามนั้นตามที่เราประยุกต์ขึ้นมา”
การผลิตงานส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตผลงานเพื่อการอนุรักษ์ผ้าแบบโบราณ
โดยศึกษาลวดลายและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่เลียนแบบของเดิม
ซึ่งมีทั้งลวดลายแท้ๆ ของชาวเมืองลองส่วนหนึ่ง และที่นำเอาลวดลายจากที่อื่นๆ เช่น
หาดเสี้ยว หาดสูง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์
เข้ามาประยุกต์ดัดแปลงจนเกิดความกลมกลืนแทบแยกกันไม่ออก
เมื่อพิจารณาจากสายตาและภูมิปัญญาอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน
จะพบว่าผลงานทอผ้าของนางประนอม ทาแปง เป็นฝ้ายเส้นเล็กเรียบเสมอกัน
สีสันคงที่ไม่เข้มหรือจางเป็นช่วงๆ ลักษณะการทอจะแน่น
ทั้งหมดนี้คือลักษณะพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะของผลงานนางประนอม ทาแปง
ผลงานการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการทำงานของนางประนอม ทาแปง
นางประนอม ทาแปง ได้ทอผ้าทองคำแท้พร้อมลวดลายจก ลายดอกบัวหงาย
ซึ่งมีคณะกรรมการของวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานีได้มอบหมายให้นางประนอม ทาแปง
ทอผ้าทองคำแท้ จำนวน 1 ผืน โดยใช้ทองคำหนัก 7 กิโลกรัม ทอเป็นผืนผ้า ลายจก
ลายดอกบัวหงาย เพื่อนำไปคลุมร่างหลวงพ่อฤษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังได้ส่งผลงานการทอผ้าเข้าประกวดในระดับประเทศ
จนได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศเป็นจำนวนมาก
ทำให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักของบุคคลทั่วไป สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่
และได้คิดค้นลวดลายผ้าโดยประยุกต์ขึ้นมาใหม่ให้มีสีสันและลวดลายที่สวยสดงดงาม
โดยคิดค้นลวดลายใหม่ ๆ
ให้เกิดความประทับใจกับผู้พบเห็นและเก็บอนุรักษ์ไว้ในพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ
การสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณะชน ในประเทศและต่างประเทศ
จากผลการสร้างสรรค์ผ้าทอตีนจกอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป โดยเฉพาะในวงการงานศิลปหัตถกรรม ทำให้ประนอม ทาแปงและกลุ่มทอผ้าได้รับโอกาสให้นำเสนอเผยแพร่ผลงานผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งในรูปแบบของการออกร้าน การสาธิต การแสดงผลงานเชิงนิทรรศการ อาทิเช่น งานศิลปาชีพบางไทร ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทย นิทรรศการวันนักประดิษฐ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ งานแสดงสินค้าระดับชาติ เช่น งานหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานของขวัญของที่ระลึกกรุงเทพ (BIG&BIH) งานประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ งานวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เช่น งานนิทรรศการผ้าฝ้ายแกมไหม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับการเผยแพร่แสดงผลงานในต่างประเทศนั้น ประนอม ทาแปง ได้รับเกียรติให้นำผลงานไปนำเสนอในรูปแบบการจัดนิทรรศการผ้าทอที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น เป็นต้น
การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม
นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานผ้าตีนจกออกสู่ตลาดอย่างมากมายแล้ว นางประนอมยังได้ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมด้วย โดยได้ย้อนคิดถึงอดีตอันทุกข์ทรมานด้วยความยากจนที่ผ่านมา ทำให้นางประนอม ทาแปง ภูมิใจที่สามารถสร้างฐานะสร้างอนาคตได้อย่างเป็นปึกแผ่น ดังนั้นจึงตั้งใจไว้ว่าจะพยายามทำงานเพื่อสร้างสังคมบ้านเกิดของตนเองให้หลุดพ้นจากความอดอยาก ให้ทุกคนมีงานทำมีอาชีพและมีรายได้เลี้ยงตนเองอย่างมั่นคงและมั่นใจ ต่อมานางประนอม ทาแปง จึงได้ประกอบกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการเป็นผู้มีส่วนช่วยให้ประชาชนมีรายได้หลังเก็บเกี่ยว โดยได้ฝึกสอนการทอผ้าตีนจกแก่กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มชาวเขาหลายแห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และฝึกสอนการย้อมสีธรรมชาติให้กับกลุ่มเครือข่าย 17 จังหวัดภาคเหนือ
การสร้างคุณประโยชน์เพื่อสังคมของ นางประนอม ทาแปง ประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย สรุปได้ดังนี้
- เป็นวิทยากรฝึกสอนย้อมสีธรรมชาติแก่เครือข่ายผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างทั้ง 17 จังหวัด
- เป็นวิทยากรถ่ายทอดการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติที่กลุ่มทอผ้าบ้านไผ่ล้อมและต่างจังหวัด แก่หน่วยงานต่างๆ และกลุ่มเครือข่ายสิ่งทอในพื้นที่ภาคเหนือ
- เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และคิดค้นวิธีการเกี่ยวกับการทอผ้าตีนจกของอำเภอลอง มีการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่นในการย้อมสี เป็นบุคคลตัวอย่างของหมู่บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง ผลผลิต (ผ้าตีนจก) ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ โดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง
- เป็นผู้ฝึกสอน วิทยากร ในเรื่องการทอผ้าตีนจกให้แก่ชุมชนต่างๆ รวมทั้งได้รับเชิญจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับอาชีพ ที่ทำให้ตนเองประสบผลสำเร็จจากผู้ที่มีฐานะความเป็นอยู่ยากจน จนกระทั่งมีความมั่นคงในปัจจุบัน หรือเป็นคนที่มีฐานะค่อนข้างดีมากในชุมชน
- เป็นประธานกลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านนามน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มสนับสนุนแก่กลุ่มต่างๆ ของหมู่บ้าน ตำบล ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในด้านอาชีพสตรี ด้านการทอผ้าตีนจก
- เป็นแหล่งอ้างอิง ผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการศึกษาและวิจัยของนักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้น ของหน่วยงานสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่างๆ
ผลจากความพยายามทำงานเพื่อสังคมของประนอม ทาแปง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง
มีความเพียรพยายาม มานะอดทนในการประกอบอาชีพ มีความรักและพอใจในงานอาชีพของตน
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแสวงหาเทคนิค และลวดลายการทอแบบใหม่ๆ
มาปรับปรุงงานของตนอยู่เสมอจนผลงานเป็นที่ยอมรับแพร่หลายอย่างกว้างขวาง
ถือได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพทอผ้าคนหนึ่งของภาคเหนือ
ด้วยความที่เป็นคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีอัธยาศัยไมตรีต่อบุคคลทั่วไป
และมีความเห็นใจผู้อื่นอยู่เสมอ นับได้ว่านางประนอม ทาแปง
เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมโดยแท้
จนได้รับความเชื่อถือมอบหมายให้รับตำแหน่งทางสังคมมากมาย เช่น
คณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อำเภอลอง จังหวัดแพร่
คณะกรรมการวัฒนธรรมอำเภอลอง จังหวัดแพร่
คณะกรรมการศูนย์แหล่งเรียนรู้ศาสนาศิลปวัฒนธรรม ตำบลหัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่
คณะกรรมการส่งเสริมองค์ความรู้ Knowledge Based OTOP จังหวัดแพร่
ผู้ช่วยนักวิจัยจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ประธานเครือข่ายสิ่งทอภาคเหนือ
และประธานกลุ่มทอผ้าบ้านไผ่ล้อม ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตั้งแต่ปี 2532
จนถึงปัจจุบัน และเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 1 ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ทอผ้า)
ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
นางประนอม ทาแปง ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา
ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกคราม ทำเส้นฝ้าย ทอผ้า
ย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งการออกแบบตัดเย็บ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
จนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป
“สืบสานการทอผ้าไว้ เพื่อตระหนักวันสูญสิ้น ฝากฝีมือไว้ในแผ่นดิน
เป็นทรัพย์สินแห่งปัญญา”
ด้วยองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ให้รู้จริงรู้แจ้งในเรื่องผ้าทอตีนจกโบราณ
ของผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเททั้งชีวิต ฟื้นฟู เรียนรู้ ปรับปรุง
พัฒนางานผ้าทอของท้องถิ่นแหล่งกำเนิดโดยไม่หยุดยั้ง
ทำให้ชิ้นงานด้านวัฒนธรรมกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรายได้เลี้ยงชีพของผู้คนมากมาย
เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาของชาวเมืองลอง จังหวัดแพร่ ปัจจุบันประนอม ทาแปง
ได้อุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ใน “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าจก เมืองลอง
และการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ” ซึ่งประกอบด้วย แหล่งเรียนรู้หลัก 3 แห่ง คือ
พิพิธภัณฑ์ผ้าทอตีนจก ซึ่งรวบรวบผ้าทอตีนจกลวดลายโบราณของอำเภอลอง
ผลงานการสร้างสรรค์ของ นางประนอม ทาแปง ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ และผ้าทอ
จากแหล่งวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
โรงย้อมครามซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉพาะการย้อมสีครามธรรมชาติ
และสวนไม้ย้อมสี “เก๊ามื่น” แหล่งรวบรวมพรรณไม้ย้อมสีนานาพันธุ์ เพื่อให้นักเรียน
เยาวชน ตลอดจนกลุ่มสตรีแม่บ้านต่างๆ ได้มาศึกษาหาความรู้
ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ เมตตาอารี ไม่เอารัดเอาเปรียบ
เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนรวม มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ
ประนอมยินดีในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด
ให้แก่ศิษย์และคนในชุมชนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
อีกทั้งยังอุทิศตนเพื่อสังคมและส่วนรวมอย่างแท้จริง
จึงทำให้มีผู้สนใจมาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติของจังหวัดแพร่เป็นประจำ
โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้เปิดอย่างเป็นทางการ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
ว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ พลายเวช และศาสตราจารย์ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับการผลิตผ้าทอพื้นบ้านย้อมสีครามธรรมชาติให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
เพื่อเป็นแหล่งให้บริการเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการผลิตผ้าทอพื้นบ้าน
ผ้าจกเมืองลอง และการย้อมสีธรรมชาติอย่างครบวงจร
เพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าตีนจกเมืองลอง
และการย้อมสีครามธรรมชาติให้คงอยู่สืบไป
เพื่อการอนุรักษ์และมุ่งหวังที่จะส่งต่อองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านที่ตนมี
ให้แก่คนรุ่นต่อไปได้สืบทอด สืบสานอยู่คู่ชุมชนและท้องถิ่นสืบไป ประนอม
ทาแปงยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานที่ตนรักต่อไป
และเสาะแสวงหาแนวทางที่จะเชื่อมโยงงานผ้าทอให้เกาะเกี่ยวกับผู้คนในชุมชน เช่น
การเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมบุญจุลกฐินขึ้นในปี พ.ศ. 2551
และตั้งใจที่จะจัดงานบุญจุลกฐินต่อเนื่องไปทุกปี เพื่อให้งานบุญเป็นสื่อนำให้เยาวชน
ช่างทอผ้า และประชาชนในชุมชนเกิดการเรียนรู้กระบวนการทอผ้า
เห็นคุณค่าและสืบสานงานผ้าทอตีนจกเมืองลองให้อยู่คู่ เมืองลอง
และเมืองไทยสืบไปตราบนานเท่านาน
ผลงานการสร้างสรรค์ผ้าซิ่นตีนจกที่ได้รับรางวัลระหว่างปีพุทธศักราช 2530
– 2550
การที่เป็นผู้ชอบศึกษาหาความรู้ คิดค้นลวดลายที่งดงาม
ล้ำค่าเพิ่มเติมอยู่เสมอ ทำให้ผ้าทอตีนจกของประนอม ทาแปง มีลวดลายอ่อนช้อย
สวยงามและโดดเด่นไม่ซ้ำกับแบบผ้าอื่นๆ ที่เคยพบเห็น
จึงเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ถึงคุณค่าความงามของผ้าทอลายจกเมืองลอง
และมักจะได้รับรางวัล สร้างความภาคภูมิใจให้เสมอๆ
รางวัลเหล่านี้จึงเป็นเครื่องการันตี ถึงความงดงามของผ้าลายตีนจก
ที่เกิดขึ้นโดยการสร้างสรรค์งานศิลป์จากสองมือของประนอม ทาแปง
- ผ้าซิ่นจกไหมดิ้นทองลายภูพิงค์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าไหมสุดยอดผ้าไทย พ.ศ. 2530 ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์
- ผ้าซิ่นตีนจกลายหงส์คู่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าตีนจก ในการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ผ้าทอมือ ประจำปี 2531 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อจกเชิงดำแดง ลายสำเภาลอยน้ำ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผลิตภัณฑ์ผ้าซิ่นเชิงจก งานฤดูหนาวและกาชาด จังหวัดแพร่ ประจำปี 2532
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมดีเด่น งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมไทย พ.ศ.2533 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม
- ผ้าซิ่นจกไหมเต็มตัวลายขอผักกูด ลายงูห้อยส้าว รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ประเภทผ้าไหมลายพื้นบ้าน งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม- 9 กุมภาพันธ์ 2535
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อตีนจกเชิงดำแดง รางวัลพระราชทานดีเด่น การประกวดผ้าประเภทที่ 2 ตีนจก วันที่ 12 สิงหาคม 2536 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
- ผ้าซิ่นตีนจกลายหน้าหมอน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ประเภทผ้าฝ้ายลายตีนจก ขนาด 50 ซม. งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 10 วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2537
- ผ้าซิ่นจกไหมเต็มตัวลายนกกินน้ำร่วมต้น รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าฝ้ายลายตีนจก ขนาด 50 ซม. การประกวดผ้าผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 10 วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
- ผ้าซิ่นตีนจกลายคะฉิ่น รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ผ้าฝ้ายลายพื้นบ้านพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 11 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวลายขอหักใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์จากผ้าทอลายพื้นบ้าน การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 12 วันที่ 31 มกราคม -9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540
- ผ้าซิ่นดอกมุกเมืองลองต่อจก ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) รางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ประเภทผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอลายพื้นบ้าน งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 12 วันที่ 31 มกราคม - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540
- ผ้าซิ่นตีนจกลายขอหักใหญ่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทผ้าฝ้ายทอพื้นเมือง งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 13 วันที่ 28 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541
- ผ้าซิ่นต๋าหมู่เหลืองต่อจกเชิงดำแดงลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทผ้าซิ่นตีนจก การประกวดศิลปาชีพ งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 15 วันที่ 6-16 เมษายน 2543
- ผ้าซิ่นปาเกอญอ รางวัลชนะเลิศ การประกวดผ้าทอลายโบราณ เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงงาน ณ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ. 2543
- ผ้าฝ้ายลายตีนจก รางวัลที่ 2 การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ประเภทผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2544
- ผ้าซิ่นตีนจกเต็มตัวลายแมงโบ้งเลน รางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าทอ จากการประกวดผลิตภัณฑ์โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 17 จังหวัด ภาคเหนือ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2545
- ผ้าซิ่นจกเต็มตัวลายโบราณขอครึ่ง รางวัลชนะเลิศ การประกวดผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ประเภทผ้าฝ้าย งานศิลปาชีพบางไทร ครั้งที่ 19 ณ วันที่ 21-15 มกราคม 2547
- ผ้าฝ้ายลายตีนจก รางวัลผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมดีเด่น ประเภทผ้าพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2550
ความสำเร็จสูงสุดของชีวิตการทำงาน
- พ.ศ. 2537 ได้รับเกียรติคุณในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปหัตถกรรมเครื่องถักทอ)
- พ.ศ. 2538 ได้รับการยกย่องเป็นคนดีศรีเมืองลอง ได้รับมอบหมายจากคณะ กรรมการวัดท่าซุงให้เป็นผู้ทอผ้าทองคำลายบัวหงาย เพื่อใช้เป็นผ้าคลุมร่างหลวงพ่อฤษีลิงดำ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี
- พ.ศ. 2540 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2540 ได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลอง
- พ.ศ. 2542 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (ทอผ้า) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
- พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้า กระทรวงมหาดไทย
- พ.ศ. 2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (คหกรรมศาสตร์)มหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้าดีเด่นด้านวัฒนธรรม ได้รางวัลผู้หญิงเก่งระดับจังหวัด
- พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 3
- พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์
นางประนอม ทาแปง
นางสาวพิศมัย วิไลศักดิ์
นายควน ทวนยก
นายสมบัติ พลายน้อย
นายสุประวัติ ปัทมสูต
นายสุรชัย จันทิมาธร