ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พุทธานุพุทธประวัติ

สังคายนา

สังคายนาครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 3 เดือน

มูลเหตุ : เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานได้ 7 วัน พระมหากัสสปเถระอยู่ที่เมืองปาวา ยังไม่ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน จึงพาพระสงฆ์จำนวน 500 รูป เดินทางออกจากเมืองปาวาด้วยประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองกุสินารา

ในระหว่างเดินทางนั้นเอง ก็ได้ทราบข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์จากอาชีวก (นักบวชนิกายหนึ่ง) คนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากเมืองกุสินารา พระสงฆ์ทั้งมวลซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นหัวหน้า เมื่อได้ทราบข่าวนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ต่างก็มีความสลดใจ ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ก็เศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้คร่ำครวญ รำพึงรำพันกันไปต่างๆนานา แต่พระภิกษุสุภัททะมิได้เป็นเช่นนั้น และได้ห้ามพระภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจ มิให้ร้องไห้ โดยกล่าวชี้นำว่า ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานนั้นเป็นการดีแล้ว ต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจ ไม่มีใครคอยมาชี้ว่าผิดนี่ ถูกนี่ ควรนี่ ไม่ควรนี่ ต่อไปอีก

พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำกล่าวจ้วงจาบเช่นนั้นแล้ว เกิดความสลดใจ ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการประชุมสงฆ์ พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระสงฆ์ทุกรูป ได้รับเลือกให้เป็นประธานสงฆ์ มีฐานะเป็นสังฆปริณายก (ผู้นำคณะสงฆ์) บริหารการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ท่านจึงได้นำเรื่องที่ภิกษุสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์ ชวนให้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัย และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ต่อจากนั้นมา 3 เดือนก็ได้มีการประชุมทำสังคายนาครั้งที่ 1

สถานที่ : ถ้ำสัตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ชมพูทวีป
องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู
การจัดการ : พระมหากัสสปเถระได้รับเลือกเป็นประธาน และเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระอุบาลีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระธรรม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ (สงฆ์ผู้เป็นคณะกรรมการทำสังคายนา) จำนวน 500 รูป
ระยะเวลา : 7 เดือน จึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 2 พ.ศ. 100

มูลเหตุ : พระยสกากัณฑกบุตรได้ปรารภถึงข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการ ของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่นถือว่าเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว 2 นิ้วฉันอาหารได้ รับเงินทองไว้ใช้ได้ เป็นต้น

พระยสะกากัณฑกบุตรเห็นว่า ข้อปฏิบัติย่อหย่อนดังกล่าวนี้ขัดกับพระวินัยพุทธบัญญัติ จึงได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ประชุมพิจารณาวินิจฉัย ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อความมั่นคงพระพุทธศาสนาสืบไป

สถานที่ : วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ชมพูทวีป
องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้ากาลาโศกราช
การจัดการ : พระมหาเถระชื่อยสกากัณฑกบุตรเป็นประธาน พระเรวตเถระเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระสัพพกามีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน 700 รูป
ระยะเวลา : 8 เดือน จึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 3 พ.ศ. 235

มูลเหตุ : พวกเดียรถีย์หรือพวกนักบวชในศาสนาอื่นมาปลอมบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ และเพื่อบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ได้แสดงลัทธิและความเห็นของตนว่า "เป็นพระพุทธศาสนา เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชให้มีการสอบสวน สะสาง กำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชประมาณ 60,000 รูป แล้วให้สละสมณเพศออกจากพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ

สถานที่ : อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ชมพูทวีป
องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราช
การจัดการ : พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน พระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน 1,000 รูป
ระยะเวลา : 9 เดือน จึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 4 พ.ศ. 238

หลังจากพระมหินทเถระและคณะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปประมาณ 3 ปี

มูลเหตุ : พระมหินทเถระประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากมั่นคงในลังกาทวีป เป็นการวางรากฐานให้พระสงฆ์ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะตามระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมในเวลานั้น
สถานที่ : ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป
องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป
การจัดการ : พระมหินทเถระเป็นประธาน พระอริฏฐเถระเป็นผู้สวดทบทวนหรือตอบข้อซักถามด้านพระวินัย มีพระเถระรูปอื่นๆสวดทบทวนพระธรรม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นจำนวน 38 รูป พระเถระผู้จดจำพระไตรปิฎกอีกจำนวน 962 รูป
ระยะเวลา : 10 เดือน จึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ 5 พ.ศ. 433

มูลเหตุ : ทางการคณะสงฆ์ชาวลังกาและทางราชการบ้านเมืองเห็นว่า พระธรรมวินัยหรือพระพุทธวจนะที่ได้สังคายนาไว้นั้น มีความสำคัญมาก นับเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา หากจะพิทักษ์รักษาธรรมวินัยให้ดำรงอยู่สืบไปด้วยวิธีการท่องจำดังที่เคยถือปฏิบัติกันมา ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะความจำของผู้บวชเรียนเสื่อมถอยลง

ในการสังคายนาครั้งนี้ จึงได้ตกลงจารึกพระธรรมวินัยหรือพระพุทธวจนะ เป็นภาษามคธอักษรบาลีลงในใบลาน พร้อมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ซึ่งเดิมเป็นภาษามคธอักษรบาลี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจารึกพระธรรมวินัยเป็นภาษามคธอักษรบาลีเป็นหลักฐาน ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษร จึงมีขึ้นเป็นฉบับแรกในพระพุทธศาสนา นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 2 ในลังกาทวีป

สถานที่ : อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท ในลังกาทวีป
องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย
การจัดการ : พระรักขิตมหาเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระติสสเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม มีพระสงฆ์ผู้เป็นองค์พระอรหันต์ และพระสงฆ์ปุถุชนเข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ จำนวนกว่า 1,000 รูป
ระยะเวลา : 1 ปี จึงสำเร็จ

 

ปฐมสมโพธิกถา
สหชาต
เชิญพราหมณ์ 108
มหาบุรุษลักษณะ 32
ชมพูทวีปและประชุมชน
ประวัติการสร้างกรุงกบิลพัสดุ์และศากยวงศ์
ลำดับพระวงศ์
ประวัติพระมหากัสสปะ และพระภัททกาปิลานีเถรี
ความมั่นคงในธุดงค์ของพระมหากัสสปะ
สาวกมีชื่อกัสสปะหลายองค์
ประวัติพระมหากัจจายนะ
พราหมณณ์พาวรี และศิษย์ 16 คน
ประวัติราธพราหมณ์
ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
นันทกุมารออกบวช
ราหุล สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
พระเจ้าสุทโธทนะขอพรเกี่ยวด้วยการบวชกุลบุตร
ทรงโอวาทแก่พระราหุล
มูลเหตุพระอนุรุทธะออกบวช
พระอานนท์ทูลขอพร 8 ประการ
ประวัติพระโสณโกฬิวิสะ
มูลเหตุการออกบวชของพระรัฐบาล
พระรัฐบาลแสดงธรรมุทเทศ 4
ปฐมสาวิกา
ครุธรรม 8 ประการ
เหตุที่ไม่ยอมให้สตรีบวช
การอุปสมบทภิกษุณีในครั้งแรก
สามเณรี-สิกขมานา
เมตไตรยพยากรณ์ปริวรรต
พระอชิตราชกุมารออกบวช
พระนางปชาบดีถวายผ้าสาฎก
ทรงแสดงทักษิณาวิภังคสูตร (ต้นกำเนิดสังฆทาน)
พระอชิตะรับผ้าสาฎก
พระอชิตะเหยียดมือรับบาตรกลางอากาศ
พระอชิตะถวายผ้าเป็นพุทธบูชา
พุทธปิตุนิพพานปริวรรต
พระพุทธบิดานิพพาน
ยมกปาฏิหาริยปริวรรต
เทศนาปริวรรต
เทโวโรหนปริวรรต
อจลเจดีย์
อัครสาวกนิพพาน
ทรงปรารภธรรม
ทรงทำนิมิตโอภาส
ปลงอายุสังขาร
บิณฑบาตครั้งสุดท้าย
รับผ้าสิงคิวรรณ
ผลแห่งบิณฑบาตทาน
ทรงปรารภสักการบูชา
สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
ปัจฉิมโอวาท
ถวายพระเพลิงไม่ติด
เตโชธาตุโพลงขึ้นเอง
ลำดับการจำพรรษาของพระพุทธเจ้าทั้ง 45 พรรษา
สังคายนา
อันตรธานม 5 ประการ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย