วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่

นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่และเสมียนมี
บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น

วารุณี โอสถารมย์

เส้นทางสู่เมืองสุพรรณ

บันทึกนิราศเมื่อออกจากกรุง เข้าสู่พื้นที่ปริมณฑล บางกรวยและบางใหญ่ ภูมิทัศน์ชุมชนแถบนี้ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชีวิตส่วนตัวของกวีทั้งสอง พวกเขาจึงใช้เทคนิคการประพันธ์แบบโยงชื่อสถานที่แล้วย้ายความหมายให้เข้ากับชื่อคนรักและพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกต่อหญิงนั้น ยกเว้นบางชุมชนที่เป็นแหล่งสวนผลไม้ ตลาด ด่านและคลองโยง สุนทรภู่ได้ให้ความสนใจบรรยายถึงผลผลิตและความคับคั่งของเรือผลไม้ที่มีกิจกรรมแลกเปลี่ยน ในขณะที่เขาไม่ได้ให้ความสนใจกับแหล่งเกษตรอุตสาหกรรมอย่างโรงหีบอ้อยเป็นพิเศษ หรือแม้แต่คลองโยง ช่วงเวลาเดินทางนั้นน้ำในคลองตื้นระดับน้ำลด ต้องใช้ควายลากเรือจากฝั่ง สุนทรภู่กลับบรรยายเรื่องราวตอนนี้ด้วยความรู้สึกสงสารควายที่ถูกใช้แรงงานมากเกินไป ซึ่งเป็นการใช้ทัศนะตามหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา ไม่ใช่มิติทางเศรษฐกิจ ในการให้ความหมายชุมชน (สุนทรภู่ 2509 : 30-32)

ภาพนี้ตรงข้ามกับบันทึกของเสมียนมี ด้วยความรีบเร่งเดินทางเพื่อเก็บอากรให้ทันเวลา เขาจึงไม่ได้สังเกตและใส่ข้อมูลชุมชนบนเส้นทางมากนัก หากแต่อ้างชื่อและใช้เทคนิคการเล่นคำด้วยชื่อชุมชน เขาเลือกบันทึกลักษณะชุมชนบางแห่งที่มีประเภทผลผลิตและสภาวะการผลิตที่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่น่าแปลกใจที่เป็นเช่นนี้ เสมียนมีด้วยการทำหน้าที่นายอากร จำเป็นต้องมีทักษะประเมินสภาพการผลิตที่ทำให้เขาจัดเก็บภาษีได้ เป็นต้นว่า เขาเลือกบันทึกข้อมูล “บางใหญ่” ด้วยการสะท้อนภาพสวนผลไม้นานาพันธุ์อย่างมะม่วง ทุเรียน มังคุด ละมุด ลิ้นจี่ ลำไย มะไฟ มะเฟือง มะปรางปริง ไม้ผลเหล่านี้ให้ผลผลิตหมุนเวียนกันอย่างต่อเนื่องทุกฤดูกาล ที่นี่จึงน่าจะเป็นชุมชนสวนขนาดใหญ่ จนมองเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน ทำให้ต้องบันทึกถึงภาวะขาดแคลนอาหารในชุมชนแห่งนี้ว่า ปีมะโรง ฉศก เพราะ “ตกแล้ง” คือ ฝนน้อยน้ำไม่พอ จึงเกิดภาวะ



“ข้าวก็แพงถังละบาทพวกราษฎร์ขาย
ระคนปนเผือกมันพอกันตาย”

(หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 24)

ผู้อ่านสามารถมองเห็นความคิดหรือโลกทัศน์เสมียนมีซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าที่เป็นการผลิตมากกว่าสุนทรภู่ เปรียบเทียบจากการมองเห็นและบันทึกเรื่องเล่าโรงหีบอ้อย เสมียนมีให้รายละเอียดกระบวนการหีบน้ำอ้อย นำมาเคี่ยวในกระทะใบโตตั้งบนเตาฟืนขนาดใหญ่ เพื่อทำน้ำตาลทราย ดูราวกับว่าเขาตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมชนิดนี้ในการส่งออก เขายังมีความคิดเชื่อมโยงภาพชุมชนโรงหีบที่เต็มไปด้วยแรงงานชาวจีนกับผู้หญิงโสเภณีจากกรุงเทพฯ เข้ามาประกอบอาชีพในชุมชน ดังที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็น “ฝูงมดตัวเมียจากบางกอก” ผู้ถูก “ให้เขาขายแลกลำระยำเยิน” ภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมลักษณะนี้ มักไม่ค่อยได้รับการมองเห็นและบันทึกไว้ในการเดินทางของนักเดินทางคนอื่นมากเท่าใด (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 29)

อย่างไรก็ตามบันทึกการเดินทางเมื่อพ้นจากคลองบางใหญ่และเขตนครไชยศรี กวีทั้งสองเกือบมองไม่เห็นความสำคัญของชุมชนบนเส้นทางสายนี้มากนัก อาจเป็นด้วยว่าเสมียนมีรีบเร่งเดินทางจนไม่ได้บรรยายลักษณะชุมชนไว้เลย นอกจากเอ่ยถึงชื่อโดยใช้เทคนิคการเขียนนิราศเชื่อมโยงกับความรักหรือปรัชญาชีวิตแทน กวีทั้งสองให้ภาพเส้นทางสายเปลี่ยว เต็มไปด้วยท้องทุ่งและป่าหญ้า ชุมชนแต่ละแห่งตั้งอยู่ห่างกัน สุนทรภู่สร้างภาพให้เรามองเห็นอันตรายจากสัตว์น้ำยุคนั้น คือ จรเข้ รวมถึงความหวาดกลัวโจรผู้ร้าย โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อแดนระหว่างนครไชยศรี-สองพี่น้อง ในเขตเมืองสุพรรณ การบรรยายทำให้เห็น ทุ่งป่าหญ้า ที่เต็มไปด้วยยุงและแมลงคอยรบกวนความเป็นอยู่ระหว่างการเดินทางให้ยากลำบากขึ้น

แม้สุนทรภู่มองเห็นคุณค่าอีกด้านหนึ่งของภูมิทัศน์ที่เป็นป่าหญ้า ในการเป็นแหล่งอาหารของพืชและสัตว์น้ำ แต่การที่ชุมชนตั้งอยู่ห่างไกลกัน และหลายชุมชนอย่างบ้านศศิธร บ้านขโมย บางน้อย บางหวาย บางซอและบางคันชั่ง ที่ตั้งอยู่ในทำเลป่าไผ่ และป่าแฝก ที่แม้จะมีประโยชน์ในการนำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย แต่ภาพที่เขาบันทึกไว้ล้วนแล้วแต่เป็นการมองเห็นท้องทุ่ง ป่าหญ้า และไผ่ นั้นกลับสะท้อนความรู้สึกถึงความเปลี่ยวและน่ากลัวอันตรายจากสัตว์ร้ายในแม่น้ำอย่างจระเข้ในระหว่างการเดินทาง (สุนทรภู่ 2509 : 34-38) หรือบางหมู่บ้านอย่างบางสีสนุก ก็มีแต่กอสวะขึ้นเต็มไปหมดสลับกับหญ้ากระจ่าง จนสร้างปัญหาความยากลำบากในการพายเรือ ต้องคอยตัดฟันและค้ำเรือออกห่างสู่ทางน้ำ กวีทั้งสองจึงไม่ได้สนใจลักษณะชุมชนนัก บางชุมชนที่ถูกบันทึกไว้ ยังเป็นการให้ภาพสื่อถึงความหดหู่ด้วยการอธิบายสภาพทรุดโทรมร่วงโรยของวัดและหมู่บ้าน พร้อมกับการใช้มาตรฐานความศรัทธาทางพุทธศาสนาของตนเอง ไปตั้งคำถามต่อชาวบ้านที่ละเลย ไม่ซ่อมแซมศาสนสถานเหล่านั้น(3) (สุนทรภู่ 2509: 41) แน่นอนว่ากวีทั้งสองคงไม่สามารถเข้าใจถึงภาวะความเป็นอยู่แบบยังชีพของชาวบ้านที่ไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอในการบูรณะวัดได้

นิราศสุพรรณ บันทึกความยากลำบากของการเดินทาง
โครงเรื่องนิราศสุพรรณ
กรุง
เส้นทางสู่เมืองสุพรรณ
เมืองสุพรรณ
ป่า
เรื่องเล่าท้องถิ่น
การผลิตและภาวะความเป็นอยู่
ด่านและศาลอารักษ์
ตำนานท้องถิ่นสุพรรณ
วัฒนธรรมชาวกรุงพบวัฒนธรรมชาวบ้าน
กลุ่มชาติพันธุ์
ไหว้พระและศรัทธาพุทธ
ไม้ ปลา นก แร่ : ธรรมชาติวิทยาในนิราศสุพรรณ
คำอธิบายเพิ่มเติม
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย