ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
ในภาวะปัจจุบันนั้นสารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานปัจจัยที่ห้า
เพิ่มจากปัจจัยสี่ประการที่มนุษย์เราขาดเสียมิได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นสารสนเทศที่จำเป็น ในการประกอบธุรกิจ ในการค้าขาย การผลิตสินค้า
และบริการ หรือการให้บริการสังคม การจัดการทรัพยากรของชาติ การบริหารและปกครอง
จนถึงเรื่องเบา ๆ เรื่องไร้สาระบ้าง เช่น สภากาแฟที่สามารถพบได้ทุกแห่งหนในสังคม
เรื่องสาระบันเทิงในยามพักผ่อน ไปจนถึงเรื่องความเป็นความตาย เช่น ข่าวอุทกภัย
วาตภัย หรือการทำรัฐประหารและปฏิวัติ เป็นต้น
ในความคิดเห็นของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่นักวิชาการ นักธุรกิจ
นักสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งผู้นำต่าง ๆ ในโลก ดังเช่น ประธานาธิบดี
Bill Clinton และรองประธานาธิบดี Al Gore ของสหรัฐอเมริกา
สารสนเทศเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
และในยุคสังคมสารสนเทศแห่งศตวรรษที่ 21
สารสนเทศจะกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด กล่าวกันสั้น ๆ
สารสนเทศกำลังจะกลายเป็นฐานแห่งอำนาจอันแท้จริงในอนาคต ทั้งในทางเศรษฐกิจ
และทางการเมือง
ในสมัยสังคมเกษตรนั้น ปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน
และทุนทรัพย์ ต่อมาในสังคมอุตสาหกรรม การผลิตต้องพึ่งพาปัจจัยพื้นฐานเพิ่มเติม
ได้แก่ วัสดุ พลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสนเทศ
สังคมเกษตรและสังคมอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
อันได้แก่ ที่ดิน พลังงาน และวัสดุ เป็นอย่างมาก
และผลของการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างฟุ่มเฟือยและขาดความระมัดระวัง
ก็ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมาก ซึ่งกำลังคุกคามโลกรวมทั้งประเทศไทย
ตั้งแต่ปัญหาการแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ
ภัยธรรมชาติที่นับวันจะเพิ่มความถี่และรุนแรงขึ้น
ปัญหาการบ่อนทำลายความสมดุลทางนิเวศวิทยาทั้งป่าดงดิบ ป่าชายเลน ป่าต้นน้ำลำธาร
ความแห้งแล้ง อากาศเป็นพิษ แม่น้ำลำคลองที่เต็มไปด้วยสารพิษ เจือปน
ตลอดจนถึงปัญหาวิกฤติทางจราจรและภัยจากควันพิษในมหานครทุกแห่งทั่วโลก
ในทางตรงกันข้าม ขบวนการผลิต การเก็บ และถ่ายทอดสารสนเทศ
อาศัยการใช้วัสดุและพลังงานน้อยมาก
และไม่มีผลเสียต่อภาวะแวดล้อมหรือมีเพียงเล็กน้อยมาก
ยิ่งกว่านั้นสารสนเทศจะสามารถช่วยให้กิจกรรมการผลิตและการบริการต่าง ๆ
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถช่วยให้การผลิตทางอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบ
และพลังงานน้อยลง มีมลภาวะน้อยลง แต่สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นคงทนมากขึ้น
ปัญหาวิกฤติทางจราจรในบางด้านก็สามารถผ่อนปรนได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น
ในการช่วยติดต่อสื่อสารทางธุรกิจต่างๆ
โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยตนเองดังเช่นแต่ก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศจะมีส่วนอย่างมาก ในการนำสังคม สู่วิวัฒนาการอีกระดับหนึ่ง
ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมสารสนเทศ อันเป็นสังคมที่พึงปรารถนาและยั่งยืนยิ่งขึ้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าสังคมต่าง ๆ ในโลก
ต่างจะต้องก้าวสู่สังคมสารสนเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เร็วก็ช้า
และนั่นหมายความว่าสังคมจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างแน่นอน
ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม
มิใช่เพียงแต่เพื่อสร้างขีดความสามารถในเชิงแข่งขันในสนามการค้าระหว่างประเทศ
แต่เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกต่างหากด้วย
เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ เทคโนโลยีคู่โลกในต้นศตวรรษที่ 21
และเป็นแรงกระตุ้นและเป็นปัจจัยรองรับ ขบวนการโลกาภิวัตน์
ที่กำลังผนวกสังคมเศรษฐกิจไทยเข้าเป็นอันหนึ่งเดียวกันกับสังคมโลก
อันที่จริงเทคโนโลยีสารสนเทศมีใช้ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว
เป็นต้นว่า
เรามีการใช้โทรศัพท์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี
พ.ศ. 2414
เพียงแต่ว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ยังไม่แพร่กระจายทั่วประเทศและยังไม่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอีกหลาย
ๆ ประเทศในโลก
กล่าวกันอย่างสั้น ๆ เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา วิเคราะห์ ประมวล จัดการและจัดเก็บ
เรียกใช้หรือแลกเปลี่ยน และเผยแพร่สารสนเทศ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของรูป เสียง ตัวอักษร หรือภาพเคลื่อนไหว
รวมไปถึงการนำสารสนเทศและข้อมูลไปปฏิบัติตามเนื้อหาของสารสนเทศนั้น
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผู้ใช้ การจัดหา วิเคราะห์ ประมวล
และจัดการกับข่าวสารข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงขาดเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เสียมิได้
ส่วนการแสวงหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อย่างรวดเร็ว ทันเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย
และมีประสิทธิภาพ ก็จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีโทรคมนาคม และท้ายสุดสารสนเทศที่มี
จะก่อให้เกิดประโยชน์จากการบริโภค
อย่างกว้างขวางตามแต่จะต้องการและอย่างประหยัดที่สุด
ก็ต้องอาศัยทั้งสองเทคโนโลยีข้างต้นในการจัดการและการสื่อหรือขนย้ายจากแหล่งข้อมูลสารสนเทศ
สู่ผู้บริโภคในที่สุด
ฉะนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศจึงครอบคลุมถึงหลาย ๆ เทคโนโลยีหลัก อันได้แก่
คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และฐานข้อมูล โทรคมนาคมซึ่งรวมถึง
เทคโนโลยีระบบสื่อสารมวลชน (ได้แก่ วิทยุ และโทรทัศน์) ทั้งระบบแบบมีสายและไร้สาย
รวมถึงเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีโทรทัศน์ความคมชัดสูง
(HDTV) ดาวเทียมคมนาคม (communications satellite) เส้นใยแก้วนำแสง (fibre optics)
สารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)
อุปกรณ์อัตโนมัติสำนักงาน (office automation) อุปกรณ์อัตโนมัติในบ้าน (home
automation) อุปกรณ์อัตโนมัติในโรงงาน (factory automation) เหล่านี้ เป็นต้น
นอกจากการเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ทำลายธรรมชาติหรือสร้างมลภาวะ
(ในตัวของมันเอง) ต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คุณสมบัติโดดเด่นอื่น ๆ
ที่ทำให้มันกลายเป็นเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์สำคัญแห่งยุคปัจจุบันและในอนาคตก็คือ
ความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถภาพในเกือบทุก ๆ กิจกรรม อาทิโดย
1. การลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย
2. การเพิ่มคุณภาพของงาน
3. การสร้างกระบวนการหรือกรรมวิธีใหม่ ๆ
4. การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ขึ้น
ฉะนั้น โอกาสและขอบเขตการนำ เทคโนโลยีนี้มาใช้ จึงมีหลากหลายในเกือบทุก ๆ
กิจกรรมก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การให้บริการสังคม การผลิตทั้งภาคเกษตร
อุตสาหกรรม และบริการ รวมถึงการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศอีกด้วย
โดยพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
ภาคสังคม การบริหารและปกครอง การให้บริการพื้นฐานของรัฐ การบริการสาธารณสุข
การบริการการศึกษา การให้บริการข้อมูลและสาระบันเทิง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การบรรเทาสาธารณภัย การพยากรณ์อากาศและอุตุนิยม ฯลฯ
ภาคเศรษฐกิจ การเกษตร การป่าไม้ การประมง การสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและ
ก๊าซธรรมชาติ การสำรวจแร่และทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนและใต้ผิวโลก การก่อสร้าง
การคมนาคมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ การค้าภายในและระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมการผลิต
อุตสาหกรรมบริการ อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว การเงิน การธนาคาร การขนส่ง และ
การประกันภัย ฯลฯ
ผลประโยชน์ต่างๆ จากการประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยีดังกล่าว
ล้วนเกิดจากคุณสมบัติพิเศษหลาย ๆ ประการของเทคโนโลยีกลุ่มนี้
อันสืบเนื่องจากการพัฒนาของ
เทคโนโลยีที่มีอัตราสูงและอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ส่งผลให้
- ราคาของฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์ รวมทั้งค่าบริการ สำหรับการเก็บ การประมวล และการแลกเปลี่ยนเผยแพร่สารสนเทศมีการลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
- ทำให้สามารถนำพาอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์และ โทรคมนาคมติดตามตัวได้ เนื่องจากได้มีพัฒนาการการย่อส่วนของชิ้นส่วน (miniaturization) และพัฒนาการการสื่อสารระบบไร้สาย
- ประการท้าย ที่จัดว่าสำคัญที่สุดก็ว่าได้คือ ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารมุ่งเข้าสู่จุดที่ใกล้เคียงกัน (converge)
ประเทศอุตสาหกรรมในโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยียุทธศาสตร์กลุ่มนี้
จึงให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีนี้มากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ
ที่จัดเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์สำคัญอีกหลายกลุ่ม ดังเช่นกลุ่มประเทศ OECD
(Organization for Economic Co-operation and Development) ได้ศึกษาเปรียบเทียบ
ศักยภาพของเทคโนโลยีไฮเทค 5 กลุ่มสำคัญในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีวัสดุใหม่ เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในประเด็นผลกระทบสำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่
(1) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ
(2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการ
(3) การยอมรับจากสังคม
(4) การนำไปใช้ประยุกต์ในภาค/สาขาอื่น ๆ
(5) การสร้างงานในทศวรรษปี 1990
ปรากฏว่าเทคโนโลยีสารสนเทศได้รับการยอมรับในศักยภาพสูงสุดในทุก ๆ ประเด็น
วิวัฒนาการของสารสนเทศ
สาเหตุที่ทำให้เกิดสารสนเทศ
ความหมายของคำว่า ข้อมูล
ชนิดของข้อมูล
กรรมวิธีการจัดการข้อมูล
ความหมายของสารสนเทศ
หลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์ หรือผลผลิต
คุณลักษณะของสารสนเทศที่ดี
คุณภาพของสารสนเทศ
ความสำคัญของสารสนเทศ
บทบาทของสารสนเทศ
องค์ประกอบของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม
ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
ผลของเทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน
ประโยชน์ของระบบสารสนเทศ