วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

พลังงานความร้อนใต้พิภพ

ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ

รูปแบบหรือลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่สามารถพบเห็นได้บนพื้นโลกทั่วไปมีหลายรูปแบบเช่น

บ่อน้ำร้อน

บ่อน้ำร้อน (hot spring) คือ แหล่งน้ำร้อนที่แทรกตัวขึ้นมาจากใต้ผิวโลก น้ำที่ขึ้นมาจะมีตั้งแต่ระดับอุ่นๆจนถึงเดือด ดังแสดงในภาพที่ 8.3 ซึ่งแล้วแต่แหล่งที่เกิดและอาจมีแร่ธาตุรวมทั้งก๊าซละลายผสมอยู่ทำให้มีรสชาดและกลิ่นต่างๆกัน ปริมาณน้ำที่ไหลออกมาจากแต่ละแหล่งก็จะแตกต่างกัน


ภาพ แสดงลักษณะของบ่อน้ำร้อน
ที่มา (Nature Pictures. 1996. On-line)

น้ำพุร้อน

น้ำพุร้อน (geyser) คือ ลำน้ำร้อนและไอน้ำร้อนที่ผสมผสานกันอยู่ มีความร้อนและแรงดันสูงทำให้สามารถพุ่งทะลุขึ้นสู่ผิวโลกได้ ลักษณะของน้ำพุร้อนจะมีการพุ่งเป็นช่วงๆ ในบางแหล่งบางครั้งอาจพุ่งได้สูงถึง 60 เมตร น้ำพุร้อนเกิดจากการที่แหล่งน้ำใต้ดินได้รับพลังงานความร้อนจากแหล่งความร้อนใต้พิภพที่อยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน เมื่อน้ำได้รับความร้อนจะทำให้มีแรงดันสูงและเคลื่อนตัวสู่ด้านบนกลายเป็นน้ำพุร้อน และน้ำใต้ดินในบริเวณใกล้เคียงกันจะค่อยๆไหลเข้ามาแทนที่และรับพลังงานความร้อนแล้วพุ่งขึ้นวนเวียนอยู่ในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ดังแสดงในภาพที่ 8.4 น้ำพุร้อนแบบนี้ที่มีขนาดใหญ่พบได้ในหลายแห่งทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกาแหล่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ที่อุทยานเยลโลว์สโตน (Yellow Stone) และในประเทศไอซ์แลนด์ เป็นต้น



ส่วนในประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนอยู่หลายแห่งแต่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เช่น น้ำพุร้อนที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และน้ำพุร้อนที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย น้ำพุร้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากความร้อนของหินหนืด หรือความร้อนจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง น้ำจากน้ำพุร้อนจะมีส่วนประกอบของแร่ธาตุและสารละลายเจือปนอยู่ แต่ถือว่ามีอยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม โดยอุณหภูมิของน้ำร้อนในแหล่งกักเก็บอยู่ระหว่าง 100-220 องศาเซลเซียส


ภาพแสดงตัวอย่างลักษณะของน้ำพุร้อน
ที่มา (Giampaolo & Hutchins. 2002. On-line)

บ่อโคลนเดือด

บ่อโคลนเดือดหรือพุโคลน (mud pot) คือ แหล่งโคลนซึ่งเป็นแหล่งดินตะกอน ที่อิ่มตัวด้วยน้ำ โดยภายใต้ชั้นดินโคลนเหล่านี้เป็นแหล่งที่มีไอน้ำร้อนสูงอยู่ด้านล่าง ไอน้ำร้อนซึ่งมีความดันพยายามที่จะดันตัวออกสู่ผิวโลกแต่ต้องผ่านบริเวณดินโคลนเหล่านั้นก่อน จึงทำให้เกิดการพุ่งกระจายของดินโคลนที่อยู่ด้านบนขึ้นมา ดังแสดงในภาพที่ 8.5 โดยทั่วไปบ่อโคลนเดือดมักมีกำมะถันอยู่มากและมีสีหลายสี


ภาพ แสดงตัวอย่างลักษณะของบ่อโคลนเดือดหรือพุโคลน
ที่มา (Gong. 2004. On-line)

บ่อไอเดือด

บ่อไอเดือดหรือพุก๊าซ (fumarole) คือ หลุมหรือปล่องที่มีเพียงไอน้ำร้อนพุ่งขึ้นมาโดยไม่มีน้ำผสมออกมาเหมือนน้ำพุร้อน สาเหตุอาจเกิดจากในบริเวณชั้นใต้ดินในบริเวณนั้นมีน้ำอยู่เพียงเล็กน้อยเมื่อได้รับความร้อนจึงกลายเป็นไอน้ำออกมา หรืออาจเกิดจากการที่ชั้นใต้ดินมีความร้อนสูงมากจนน้ำกลายเป็นไอหมด บ่อไอเดือดในลักษณะนี้มักพบได้เสมอในประเทศที่มีภูเขาไฟ แต่ก็มีโอกาสพบได้ในพื้นที่ที่ไม่มีภูเขาไฟได้เช่นกัน สำหรับประเทศไทยมีบ่อไอเดือดหลายแห่ง แหล่งที่ใหญ่มากอยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ลักษณะของบ่อไอเดือดดังแสดงในภาพที่ 8.6


ภาพ แสดงตัวอย่างลักษณะของบ่อไอเดือดหรือพุก๊าซ
ที่มา (Naturbilder. 2005. On-line)

โครงสร้างของโลก
ความหมายและแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ลักษณะทั่วไปของแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ปรากฏการณ์ธรรมชาติจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ
โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ประเทศไทยกับการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ
ผลกระทบจากการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย