ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
อาณาจักรอยุธยากับกลุ่มประเทศอาเซียน
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายู
ในสมัยสุโขทัยหลักฐานจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกหลักที่ 1) ระบุว่าสุโขทัย
ขยายอิทธิพลถึงเมืองนครศรีธรรมราช การติดต่อค้าขายระหว่างดินแดนไทยกับแคว้นต่างๆ
ทางใต้จึงเกิดขึ้นก่อนสถาปนาอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว
ในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการติดต่อกับหัวเมืองต่างๆทางใต้ของไทยที่สำคัญ
ได้แก่ เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองปะลิส และเมืองอื่นๆ
รวมทั้งเมืองมะละกาซึ่งตั้งอยู่ตอนปลายแหลมมลายูด้วย
หัวเมืองมลายูเหล่านี้มีสุลต่านปกครอง
เมืองมลายูตกเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
ในพงศาวดารมีการระบุชื่อเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาว่าทางตอนใต้ ได้แก่
เมืองมะละกาและเมืองยะโฮร์ สองเมืองนี้ไทยให้ปกครองตนเอง
แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมายังกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมืองมะละกาได้ตั้งตนเป็นอิสระ
ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงโปรดเกล้าฯ
ให้ยกกองทัพไปปราบเมืองมะละกาเมื่อ พ.ศ. 1998 แต่ไม่สามารถตีเมืองได้
เพราะมะละกามีกำลังทัพเรือที่เข้มแข็ง
สำหรับเมืองปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู
เป็นประเทศราชของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเช่นเดียวกัน
เมืองไทรบุรีได้ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ส่วนเมืองปัตตานีในสมัยนั้นได้กลายเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้
เรือสินค้าจากอินเดีย จีนและญี่ปุ่นได้เข้ามาค้าขายด้วย
หัวเมืองมลายูพยายามตั้งตนเป็นอิสระจากอยุธยา
ช่วงเวลาใดที่อยุธยาเกิดการแย่งอำนาจกันเองหรือต้องทำศึกสงครามกับพม่า
หัวเมืองมลายูก็จะตั้งตนเป็นอิสระ เช่น ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ปัตตานีไม่ยอมรับอำนาจของอยุธยา
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบปัตตานีแต่ไม่สำเร็จ
ต่อมาปัตตานีกลับมาเป็นประเทศราชของไทยอีก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระองค์ต้องการผูกมิตรกับอังกฤษเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดา
จึงเสนอยกเมืองปัตตานีให้แก่อังกฤษเพื่อสร้างป้อมปราการ
แต่อังกฤษยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
เนื่องจากอังกฤษถอนตัวทางการค้ากับอยุธยาเสียก่อน
จากหลักฐานบันทึกของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุว่า
เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เป็นเมืองประเทศราชของไทย
ซึ่งน่าจะรวมไปถึงหัวเมืองมลายูอื่นๆ ด้วย
ในตอนปลายสมัยอยุธยาความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายูไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยอยุธยา
หัวเมืองมลายูมีฐานะเป็นประเทศราชของไทย
จึงมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการพร้อมด้วยต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระมหากษัตริย์อยุธยา
3 ปีต่อครั้ง ถ้าหากอยุธยาต้องการความช่วยเหลือทางทหารหรืออาวุธกระสุนดินดำ
หัวเมืองมลายูจะต้องจัดหาให้ตามที่ต้องการ
ส่วนอยุธยามีภาระผูกพันในการดูแลความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองมลายู
หากหัวเมืองมลายูได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหรือถูกรุกรานจากศัตรู
อยุธยามีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้าง
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่า
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับมอญ
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเขมร
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเวียดนาม
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายู