ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

อาณาจักรอยุธยากับกลุ่มประเทศอาเซียน

ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่า

ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับไทย ส่วนใหญ่เป็นการแข่งอิทธิพลและการขยายอำนาจจึงทำให้เกิดสงครามกันตลอดมา สาเหตุสำคัญมาจากการที่พม่าได้เป็นใหญ่เหนือดินแดนมอญและไทยใหญ่แล้ว ก็พยายามขยายอำนาจเข้ามายังอาณาจักรอยุธยา โดยเดินทัพผ่านดินแดนมอญทางด้านตะวันตกหรือผ่านลงมาทางล้านนาทางด้านเหนือ การที่พม่ายกทัพมารบกับอยุธยาหลายครั้งแสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ และพม่าต้องการสร้างความเป็นเอกภาพในดินแดนพม่าโดยการรวบรวมชนกลุ่มน้อยให้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน แต่อุปสรรคสำคัญของพม่าคืออาณาจักรอยุธยาซึ่งมักสนับสนุนชนกลุ่มน้อยให้ต่อต้านอำนาจของพม่าเสมอ การยึดครองอยุธยาจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นเอกภาพของพม่าด้วย

ถ้าพิจารณาด้านภูมิประเทศจะเห็นว่าพม่ากับไทยมิได้มีเขตแดนติดต่อกันโดยตรง แต่มีมอญกั้นอยู่ทางด้านตะวันตก ส่วนทางเหนือก็มีดินแดนของไทยใหญ่และล้านนากั้นอยู่ พม่าจึงต้องตีไทยใหญ่และล้านนา หรือตีมอญได้ก่อนที่จะยกกองทัพมาตีไทย

ก่อนที่พม่าจะขยายอาณาเขตเข้ามายังดินแดนของไทย พม่าได้ทำสงครามกับมอญเพื่อแย่งอำนาจกันหลายครั้ง กล่าวคือ พม่าตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองตองอู ส่วนมอญนั้นระยะแรกตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองหงสาวดี ต่อมาพม่ากับมอญได้ทำสงครามกันหลายครั้ง เป็นผลให้พม่าได้ครอบครองดินแดนมอญเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยที่พระเจ้าฟ้ารั่วขึ้นเป็นกษัตริย์มอญได้ประกาศอิสรภาพจากพม่าเมื่อ พ.ศ. 1830

 

ต่อมาพม่าได้โจมตีเมืองต่างๆของมอญ ทำให้ชาวมอญหนีเข้ามาอยู่ที่เมืองเชียงกรานซึ่งขึ้นอยู่กับไทย ไทยได้ยกทัพขึ้นไปตีพม่าแตกพ่ายจากเมืองเชียงกราน นับเป็นศึกครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพม่าได้มอญเป็นเมืองขึ้นใน พ.ศ. 2082 แล้ว ทำให้พรมแดนไทยกับพม่ามีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นผลทำให้ไทยกับพม่าเกิดพิพาทกันและทำสงครามกันในเวลาต่อมา

พม่าต้องการเป็นใหญ่เหนืออยุธยาเพราะถ้าพม่ามีอำนาจเหนือไทยแล้ว ประเทศราชของพม่า เช่น มอญและไทยใหญ่ก็จะไม่กล้าแข็งเมืองต่อพม่า เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. 2112 และต่อมาเมื่อพระนเรศวรมหาราชกู้ชาติได้สำเร็จใน พ.ศ.2127 พม่าก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายภายใน มีการแก่งแย่งความเป็นใหญ่ในหมู่ผู้นำ และประเทศราชของพม่า เช่น มอญ ไทยใหญ่ ต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระ

ในสมัยอยุธยา ไทยกับพม่าได้ทำสงครามกันถึง 24 ครั้ง ส่วนใหญ่พม่าจะยกทัพมาตีไทย ไทยยกทัพไปตีพม่าเป็นการตอบโต้ คือ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 2 ครั้ง และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีก 1 ครั้ง นอกนั้นพม่าเป็นฝ่ายโจมตีไทยทั้งสิ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าจึงมีลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทำสงครามเกือบตลอดเวลา

นอกจากการทำสงครามแล้วไทยกับพม่ายังมีการติดต่อค้าขายกัน โดยมีเมืองมะริดเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับติดต่อค้าขายทางฝั่งทะเลอันดามัน ในบางครั้งการทำสงครามระหว่างพม่ากับไทยมีสาเหตุจากการที่ไทยจับเรือสำเภาของพม่าที่ไปค้าขายที่เมืองมะริด ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าสำคัญของไทย ทำให้พม่าไม่พอใจ ประกอบกับพม่าต้องการขยายอำนาจลงมาจนจดฝั่งทะเลอันดามันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตน และสำหรับอยุธยาก็ต้องการครอบครองดินแดนมอญเพื่อประโยชน์ทางการค้าขายชายฝั่งทะเลอันดามันเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้าง
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับพม่า
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับมอญ
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเขมร
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับเวียดนาม
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับหัวเมืองมลายู

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย