วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

กำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต

การสูญพันธุ์

ผลกระทบสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ กับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายยิ่งเอื้ออำนวยให้เพิ่มความหลากหลายของชีวิตชนิดต่างๆ มากขึ้น

มนุษย์ได้บริโภคผลผลิตสุทธิทั้งหมดของการสังเคราะห์แสงบนพื้นโลกไปประมาณร้อยละ 40 ทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยของมนุษย์ทำให้โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งความไร้เสถียรภาพอาจจะผลักดันให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้เนื่องจากความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์ยุคใหม่โดยเฉพาะยุคแห่งเทคโนโลยี ในประวัติศาสตร์ 1,500 ล้านปีของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้ กรณีการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ศึกษาได้จากฟอสซิลนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์โดยมีลำดับดังนี้

ครั้งที่ 1 การสูญพันธุ์ครั้งแรกเกิดขึ้นในกือบจะช่วงปลายยุคแคมเบรียน (Cambrian) ประมาณ 505 ล้านปีมาแล้ว

ครั้งที่ 2 การสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่เกิดในปลายยุค ออร์โดวิเชียน (Ordovician) เมื่อประมาณ 438 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ทั้งหมดอาศัยอยู่ในทะเล

ครั้งที่ 3 การสูญพันธุ์ครั้งสำคัญเช่นกันเกิดขึ้นเมื่อปลายยุคดีโวเนียน (Devonian) ประมาณ 360 ล้านปีที่ผ่านมา

ครั้งที่ 4 การสูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรกที่สุดในบรรดากรณีสูญพันธุ์ครั้งสำคัญๆ ทั้งหมดที่สำรวจได้เกิดขึ้นในช่วง 10 ล้านปีสุดท้ายของยุคเปอร์เมียน (Permian) ประมาณ 248-238 ล้านปีมาแล้ว นักบรรพชีวินวิทยาประมาณว่าร้อยละ 96 ของชนิดสิ่งมีชีวิตในทะเลสูญพันธุ์ไปในช่วงนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตบนโลกอย่างถาวร

ครั้งที่ 5 ประมาณ 65 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงท้ายของยุคครีเตเชียส(Cretaceous) การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นอีก เหตุการณ์นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยขนาดมหึมาซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน (Yucatan) อ่าวเม๊กซิโก เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลจำนวนมาก และทำลายชนิดของสิ่งมีชีวิตบนบกไป 2 ใน 3 ส่วน สัตว์จำพวกไดโนเสาร์สิ้นสุดไปในยุคนี้เช่นกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดที่เหลืออยู่นั้นไม่มีชนิดใดที่ขนาดใหญ่กว่าแมวบ้านและกลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลักบนบกในเวลาต่อมาขณะเดียวกันสัตว์จำพวกนก สัตว์เลื้อยคลานยุคใหญ่ พืช และแมลง เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากมาย

จาก 65 ล้านปีในอดีตจนถึงปัจจุบัน จำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ รา จุลินทรีย์ บนโลกได้เพิ่มจำนวนชนิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และมีชุมชนของสิ่งมีชีวิตบนบกที่ซับซ้อนมากขึ้น ในช่วงเวลาของมนุษย์จีนัส โฮโม น่าจะมีชนิดของสิ่งมีชีวิตประมาณ 10 ล้านชนิด เป็นชนิดของสิ่งมีชีวิตในทะเลประมาณร้อยละ 15 ที่เหลือเป้นสิ่งมีชีวิตบนบกและในน้ำจืด ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีชนิดของสิ่งมีชีวิตมากกว่านี้อีกเลย

เมื่อบรรพบุรุษของเราพัฒนาการเกษตรขึ้นมาเมื่อ 10,000 ปีที่ผ่านมา มีประชากรมนุษย์หลายล้านคนในช่วงเริ่มคริสตกาล จำนวนประชากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอีก และเมื่อค.ศ. 1950 มีประชากร 2.5 พันล้านคน ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์

การสูญเสียทางชีวภาพ คือ การสูญหายไปอย่างถาวรของชนิดของสิ่งมีชีวิต เป็นลักษณะเด่นของชีวิตบนดาวดวงนี้มาตลอด ประมาณ 10 ล้านชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงส่วนประกอบน้อยนิดประมาณร้อยละ 1 ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ จำนวนมากมายหลายร้อยล้านชนิดที่เคยอุบัติขึ้นมาในโลกอดีตกาล โดยเฉพาะในช่วงเวลา 600 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายมากจนถือว่าเป็นยุคทองของสิ่งมีชีวิตก็ได้ อย่างไรก็ตามการสูญพันธุ์แบบตลอดกาลหรือการสูญพันธุ์แบบชั่วคราวที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้เป็นการเผชิญหน้ากับอัตราการสูญพันธุ์ที่มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต เป็นเพราะเหตุใด

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น อัตราการบริโภคต่อคนเพิ่มขึ้นรวมทั้งการใช้เทคโนโลยี ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่า 1 ใน 5 ของจำนวนพลโลกทั้งหมด 6 พันกว่าล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศในยุโรป พวกเขาเหล่านี้ได้ใช้ผลิตผลของโลกไปประมาณ 4 ใน 5 ของทั้งหมดไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ได้มีส่วนในสำคัญต่อความยั่งยืนของชีวาลัย ทำให้เกิดการไม่สมดุลกัน

ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากค.ศ. 1950 มี 2.5 พันล้านคน จนขณะนี้มีประมาณ 6 พันกว่าล้านคน 1 ใน 5 ของดินชั้นบนถูกปล่อยให้รกร้างจนไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ร้อยละ 50 ของพื้นที่เกษตรบนโลกเคยเป็นดินชุ่มน้ำ กลายเป็นดินเค็ม หรือทะเลทราย ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น 1 ใน 5 โอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์หายไปร้อยละ 6 ถึง 8 และประมาณ 1 ใน 3 ของป่าไม้ทั้งโลกถูกตัดโดยไม่มีการปลูกทดแทน

ตัวเลขจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโดยไม่ได้มีการคาดการณ์ล่วงหน้าทำให้เกิดความกดดันต่อความสามารถของโลกที่จะรองรับได้ (Carrying capacity) ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มีประชากรโลกประมาณ 1.5 พันล้านคนที่มีชีวิตอยู่อย่างยากจน ประมาณครึ่งหนึ่งขาดแคลนอาหาร ขณะที่พลโลกเพิ่มขึ้นเกือบ100 ล้านคนต่อปี เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา มีประชากรในวัยเจริญพันธุ์อยู่มาก

จากการที่ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นทำให้มีการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น มีท่าที่บ่งบอกว่าจะเกิดการสูญพันธุ์อย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง นับได้ว่าเป็นครั้งที่ 6 ของประวัติศาสตร์การสูญพันธุ์ การสูญพันธุ์อย่างรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใน 20-30 ปีข้างหน้าคือ มากกว่า 1 ใน 5 ของชนิดพืช สัตว์ เห็ดรา และจุลินทรีย์จะหายไป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ซึ่งเชื่อว่าประชากรมนุษย์น่าจะคงที่ ถ้าการวางแผนครอบครัวได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ประมาณว่าเราน่าจะสูญเสีย 2 ใน 3 ของชนิดสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่เคยสูญพันธุ์ไปเมื่อปลายยุคครีเตเซียส

โลกในฐานะที่เป็นระบบที่สามารถใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ได้ เพราะมีคุณสมบัติของชุมชนในระบบนิเวศ ซึ่งเป็นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ และจากความหลากหลายขององค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตนี้เองมนุษย์ได้นำมาเป็นอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และพลังงานที่ใช้ดำรงชีพ ทั้งๆ ที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายหลายชนิดเหล่านี้ แต่เรากลับมีความรู้เกี่ยวกับพวกมันน้อยมาก การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ซึ่งมีสาเหตุจากการถูกทำลายที่อยู่อาศัยของมันมีประมาณ 1,000 ถึง 10,000 เท่าของ 65 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เรากำลังเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วที่สุดและน่ากลัวที่สุด ของการเปลี่ยนเเปลงสิ่งเเวดล้อม การสูญพันธุ์เป็นการกลับคืนมาไม่ได้อย่างถาวร และจะจำกัดความสามารถในการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วย มนุษย์ควรตระหนักถึงการแก้ไขอย่างเร่งด่วนได้แล้ว

ในความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกประมาณร้อยละ 80 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีประชากรร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งโลก แต่มีผู้มั่งคั่งร้อยละ 15 มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรร้อยละ 6 ของโลกเท่านั้น

ดังนั้น ความเร่งด่วนสูงสุดในขณะนี้คือต้องมีการร่วมมือกันระดับนานาชาติหากต้องการยับยั้งการสูญเสียสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพไม่สามารถสงวนไว้ให้เพียงพอในโลกที่นับวันจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ โลกที่สูญเสียหน้าดินไป 25 พันล้านตันต่อปี และโลกที่ปริมาณโอโซนลดลง โลกต้องได้รับการจัดการที่ยั่งยืนเพื่อจัดสรรสิ่งแวดล้อมสำหรับการสงวนไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าเป้าหมายพื้นฐานประสพความสำเร็จ ธรรมชาติจะรักษาตัวมันเองได้ ประกอบกับการจัดการด้วยความเอาใจใส่ต่อการถูกทำลายและการถูกรบกวนของที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และการอนุรักษ์จะช่วยให้เรารักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ ท่ามกลางการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์เป็นต้นเหตุ

« ย้อนกลับ |

พัฒนาการของโลก
การเกิดของเมฆ
กำเนิดชีวิต
การเกิดสิ่งมีชีวิตของอริสโตเติล
การสูญพันธุ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย