สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคคอตีบ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ที่สามารถสร้างพิษ (exotoxin) ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบมีเนื้อตายเป็นแผ่นฝ้าเกิดขึ้นในลำคอและมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ นอกจากนี้ exotoxin ของเชื้อยังสามารถทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลายอีกด้วย โรคคอตีบเป็นโรคที่มีอัตราตายสูงโดยประมาณแล้ว ผู้ป่วย 10 ราย จะมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้จากทางเดินหายใจอุดตันหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคคอตีบติดต่อทางการหายใจ (Droplet spread) จากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งติดต่อโดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก
ผู้ป่วยโรคคอตีบหรือผู้ติดเชื้อคอตีบโดยไม่มีอาการ สามารถแพร่เชื้อที่อยู่ในจมูกหรือลำคอไปสู่ผู้อื่นได้
ระยะฟักตัว
ประมาณ 2-5 วัน หลังจากได้รับเชื้อ
อาการ
เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง
เจ็บคอ เบื่ออาหาร ต่อมาจะเริ่มมีแผ่นฝ้าสีขาวอมเทาในลำคอ
ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก มีอันตรายถึงตายได้
หากเกิดภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกตินำไปสู่อาการหัวใจวาย
หรืออาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของกล้ามเนื้อตา แขนขา หรือกระบังลมได้
การรักษา
1. รักษาโดย ยาปฏิชีวนะ Penicillin หรือ Erythromycin แบบฉีด
หรือรับประทานนาน 14 วัน
2. นอกจากยาปฏิชีวนะแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้ยาทำลายพิษของเชื้อคอตีบหรือ
Diphtheria Antitoxin: DAT แบบครั้งเดียว
3. แยกผู้ป่วย (Isolation) เพื่อลดการแพร่กระจายโรค
4. หากผู้ป่วยมีอาการอุดกั้นของทางเดินหายใจอาจต้องเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ
5. หลังจากเป็นปกติ ผู้ป่วยต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด
3 ครั้งเนื่องจากการป่วยด้วยโรคคอตีบไม่สามารถป้องกันโรคคอตีบในอนาคตได้
หากมีคนในบ้านป่วยเป็นโรคคอตีบควรทำอย่างไร?
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือใช้ภาชนะร่วมกัน
2. ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะถึงแม้จะไม่มีอาการป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อคอตีบ
3. เฝ้าระวังอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีแผ่นฝ้าในลำคอ นานประมาณ 1 สัปดาห์ หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์
4. ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยเร็ว คือ หากผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบมาก่อนควรได้วัคซีนอย่างน้อย 3 ครั้ง หากเคยได้วัคซีนมา 3 ครั้ง เข็มสุดท้ายนานมากกว่า 1 ปี หรือเคยได้วัคซีนมา 4 ครั้งเข็มสุดท้ายนานมากกว่า 5 ปี ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม ในกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 7 ปีและผู้ใหญ่ ให้วัคซีน dT จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน