สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
กัญชา
(CANNABIS)
คราบรอยยิ้มยังแต้มเติมตามใบหน้า กลิ่นกัญชาโชยมาแต่ไกล
ชั่วชีวิตคิดสั้นทำไม เสพสิ่งจูงใจ ให้ร้ายแก่ตัวเราเอง...
(บางตอนจากเพลง กัญชา ของวงคาราบาว)
กัญชาเป็นพืช ล้มลุกจำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น THAISTICKS,MARY - JANE หรือที่นิยมเรียกกันในกลุ่มผู้เสพว่า เนื้อ (จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522)
ลักษณะใบกัญชา จะเรียวยาวแตกเป็นแฉกคล้ายใบละหุ่งหรือมันสำปะหลัง ส่วนที่นำมาใช้เสพก็คือ ใบและยอดช่อดอกตัวเมีย โดยการนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นเป็นผงหยาบๆ นำมามวนบุหรี่สูบ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บางรายใช้เคี้ยว หรือเจือปนกับอาหารรับประทาน
ในกรณีที่เสพติดด้วยวิธีการสูบ กลิ่นกัญชาจะเหมือนกับเชือกหรือหญ้าแห้งไหม้ไฟ กัญชาจะออกฤทธิ์หลายอย่างผสมผสานกัน เริ่มตั้งแต่ กระตุ้น กด และหลอนประสาท ทั้งนี้เนื่องจากในช่อดอกและใบกัญชามีสารพิษที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งเรียกว่า TETRAHYDROCANNABINOL (THC) เป็นสารพิษที่ทำลายสุขภาพร่างกายและก่อให้เกิดอาการติดยาผู้ที่เสพกัญชาเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 15 - 30 นาที ฤทธิ์ของสาร THC จะทำให้ร่างกาย อารมณ์และจิตใจผู้เสพเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจถึงขั้นไม่สามารถควบคุมสติตนเองได้ อาจเพ้อคลั่ง มีอาการเป็นโรคจิตในเวลาต่อมา
อาการของผู้เสพติดกัญชา
ผู้ที่เสพกัญชาในระยะแรกของการเสพ ฤทธิ์ของกัญชาจะกระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการร่างเริง ช่างพูด หัวเราะง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตื่นเต้นง่าย ต่อมาจะมีอาการคล้ายคนเมาเหล้าอย่างอ่อนเนื่องจากกัญชา ออกฤทธิ์กดประสาทผู้เสพจะมีอาการง่วงนอน ซึม หายใจถี่เห็นภาพลวงตา ภาพหลอนต่างๆ เกิดอาการ หู่แว่ว ตกใจง่าย วิตกกังวล หวาดระแวง บางรายคลื่นไส้อาเจียนความจำเสื่อมความคิดสับสนเพ้อคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้มีอาการทางจิต
นอกจากนี้สารพิษในกัญชายังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดโรคอื่นๆ ได้ง่าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลงเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม
กฎหมายไม่ปิดกั้นการนำกัญชาไปใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้กัญชาอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะอนุญาต โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มิได้ปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่จะศึกษาวิจัย สามารถส่งโครงการศึกษาวิจัย (Proposal) มายังกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา
หากคณะกรรมการเห็นชอบโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะนำเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุญาตเห็นชอบเป็นราย ๆ ไป หลังจากนั้นผู้วิจัยจึงจะสามารถดำเนินการวิจัยเรื่องกัญชาได้ต่อไป
ดังนั้น หากหน่วยงานหรือผู้วิจัยใดมีความประสงค์ในการศึกษาวิจัย โดยใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวได้
โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย มิได้ขัดขวางการนำกัญชาไปใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่จะได้ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าในวงการแพทย์ต่อไป