สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

โรคอารมณ์สองขั้ว

เป็นโรคทางจิตเวชที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นสำคัญ โดยมีความผิดปกติในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ สลับกับระยะซึมเศร้า ซึ่งเป็น 2 ขั้วที่ตรงข้ามกัน

ระยะซึมเศร้า จะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด ไม่เพลินใจไปหมด อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากพบใครหรือไม่อยากทำอะไร ถ้าเบื่อมากอาหารการกินก็ไม่สนใจ น้ำหนักลด นั่งเฉยๆ นานเป็นชั่วโมง ใจลอยหลงๆ ลืมๆ ไม่มั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้ คิดว่าตนเองเป็นภาระ และหากมีอาการหนักจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย โดยคิดถึงว่าถ้าตายไปจะได้พ้นทุกข์

ระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีความมั่นใจในตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง พูดมาก คล่องแคล่ว ทักทายคน พูดเสียงดัง ขาดความยับยั้งชั่งใจ แต่งตัวแปลกๆ ใช้จ่ายเงินสิ้นเปลือง ไม่คิดถึงกฎเกณฑ์ของสังคม พลุ่งพล่าน หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว นอนดึก หรือ ไม่นอน

สาเหตุ และปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมีสารเคมีบางอย่างในสมองผิดปกติไป ถ้ามีอาการมากอาจมีความเชื่อแปลกๆที่ไม่เป็นความจริง เช่น คิดว่ามีอำนาจวิเศษคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญ

ข้อสังเกต

อาการในระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้น อย่างช้าๆ โดยไม่มีสาเหตุ หรือบางทีอาจเกี่ยวข้องกับบ้างกับความเครียด เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน จะเศร้าไม่เลิก จนทำงานไม่ได้ ส่วนอาการในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ จะเป็นเร็วมาก และไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ ภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการจะเต็มที่ และอาจมีอารมณ์รุนแรงมากก้าวร้าวจนญาติรับมือไม่ไหว

ใช้การรักษาด้วยการรับประทานยาเป็นสำคัญ โดยจะเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้า อาการพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ และอาการโรคจิต

การรักษาทางด้านจิตใจ ได้แก่ จิตบำบัดรายบุคคลและรายกลุ่ม กลุ่มการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งการให้ความรู้แก่ญาติเกี่ยวกับโรค อาการและการรักษา

ข้อควรปฏิบัติ

การกินยาอย่างถูกขนาด และสม่ำเสมอตรงตามเวลาตามแพทย์สั่งทุกมื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถรักษาอาการในช่วงเฉียบพลันได้ดี และสามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้ ควรติดตามการรักษาโดยพบแพทย์ตามนัด เพื่อประเมินการรักษาและผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆตามอาการของโรค จึงควรบอกแพทย์อย่าง ไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย