ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

แร่ใยหิน

ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา พบว่ามีการนำเข้าแร่ใยหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ประมาณ 34 ล้านตัน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินมากที่สุดในประเทศไทย คือ ผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้าง อันได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องปูพื้นและท่อน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกได้แก่ กระเบื้องปูพื้นไวนิล กระดาษแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์เส้นใยอัดแน่น ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกและคลัทช ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ทำด้วยแร่ใยหิน ฉนวนกันความร้อนในอาคาร และใช้เป็นสารยึดใน ยางมะตอยลาดถนน เป็นวัตถุดิบในการทำหินเจียร เป็นต้น เมื่อแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดโรคหรือพยาธิสภาพต่าง ๆ ได้แก่ โรคปอดแร่ใยหิน ( Asbestosis) โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งหลอดลม โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด(Mesothelioma) การเกิดหูดใยหินที่ผิวหนัง(Asbestos wart) การเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง การเกิดมะเร็งรังไข่และเต้านม เป็นต้น

จากการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี พ.ศ. 2548 ของบริษัทผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่มีการใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์แห่งหนึ่ง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า คนงานจำนวน 14 คน มีผลการตรวจฉายภาพรังสีทรวงอกพบปอดผิดปกติ มีเยื่อหุ้มปอดหนา (pleural thickening)

สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการสอบสวนภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน(Asbestos) อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบลักษณะทางระบาดวิทยา และปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะเยื่อหุ้มปอดหนา ด้วยวิธีการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง

ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณฝุ่นแร่ใยหิน มีปริมาณ 0.001 เส้นใย / อากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานประเทศไทย ไม่เกิน 5 เส้นใย / อากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร) มีอัตราความชุกของภาวะการเกิดเยื่อหุ้มปอดหนาจากการสัมผัสแร่ใยหิน เท่ากับ ร้อยละ 6.12 (95 % CI เท่ากับ 2.25 - 9.99)โดยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี การศึกษาอยู่ในระดับต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย มีอายุงานมากกว่า 25 ปี ไม่มีประวัติมีโรคประจำตัว ทำงานอยู่ในแผนกฉีกถุงแร่ใยหิน ผสมแร่ใยหิน หม้อบดแร่ ใยหิน และปั้นครอบ มีประวัติสัมผัสแร่ใยหินก่อน พ.ศ. 2533 มีระยะเวลาในการสัมผัสแร่ใยหินมากกว่า 20 ปี และ มีประวัติเคยสูบบุหรี่มากกว่า 20 ปี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย