สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคสัตว์สู่คน
โรคเลปโตสไปโรซีส (LEPTOSPIROSIS)
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแลปโตสไปรา (Leptospira) ซึ่งมีหลาย species โรคนี้เป็นทั้งในคนและสัตว์ชนิดต่างๆ ได้มีผู้พบว่าในหนูบ้านที่จับได้ พบมีเชื้ออยู่ที่ไต และพบว่าเป็น Host ที่สำคัญของโรคนี้ ซึ่งพบทั่วโลก ในปัจจุบันเชื้อ Leptospira แบ่งออกเป็น 2 complex คือ
1. Interrogans complex ทำให้เกิดโรคทั้งในคนและในสัตว์
2. Biflexa complex ไม่ทำให้เกิดโรค
นอกจากนี้พบว่าเชื้อนี้มีหลาย Serotype ด้วยกันซึ่งมี Antigen ซ้ำกัน จัดรวมเป็น group ซึ่งมีทั้งหมด 18 serotypes ด้วยกัน
การติดต่อ
1. โดยการไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยแตกหรือขีดข่วน
หรือเข้าตามเยื่อชุ่ม (mucous membrane)
2. โดยการกินเชื้อเข้าไป
3. โดยการสัมผัสกันโดยตรง จากปัสสาวะของสัตว์ป่วย
โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนไปสู่คนโดยตรง เคยมีรายงานพบเชื้อนี้อยู่ในน้ำนมของแม่โค แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่าคนติดโรคนี้จากการดื่มน้ำนม
อาการ
ระยะฟักตัวของเชื้อโรคประมาณ 10-12 วัน โดยทั่วๆ ไปอยู่ระหว่าง 2-30 วัน อาการที่พบในคนมีตั้งแต่ไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น จนกระทั่งถึงขั้นรุนแรงอย่างเฉียบพลันและตายได้ อย่างไรก็ตามอาการที่พบเสมอ คือ มีไข้ ปวดหัว, ปวดตามกล้ามเนื้อ, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนเพลีย, บางครั้งมีตาอักเสบ, ดีซ่าน, โลหิตจาง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย, สมองอักเสบ และไตทำงานไม่ปกติ อย่างไรก็ตามอาการที่แสดงออกมาของโรคนี้แตกต่างกันมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ
อาการในสัตว์
มีไข้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดปนออกมากับน้ำนม ตัวเหลืองมีอาการดีซ่าน ในสุนัขจะมีการอักเสบที่เยื่อชุ่มในปาก ตาเหลือง โลหิตจาง สัตว์ที่ตั้งท้องอยู่จะแท้งลูก
การวินิจฉัย
โดยการตรวจทางซีรั่มและการเพาะเชื้อในรายที่สงสัยอาจทำได้โดย
1. ตรวจหาเชื้อในเลือด, ปัสสาวะ, ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ Darkfield หรือโดยวิธี Fluorescent antibody technique
2. โดยการเพาะเชื้อจากเลือด, ปัสสาวะ, น้ำไขสันหลัง หรือจากเนื้อเยื่อต่างๆ นอกจากนี้ อาจทำได้โดยการฉีดเข้าสัตว์ทดลอง
3. ตรวจหา Antibody ในซีรั่ม โดยวิธี Agglutination test โดยเก็บซีรั่มซ้ำๆ กัน โดยเก็บครั้งแรก และควรเก็บห่างจากนั้นอีก 7-9 วัน การทดสอบแบบนี้บอกได้ว่าเป็น Subgroup ใด
การควบคุมและป้องกัน
การควบคุมจะให้โรคนี้หมดไปทำได้ยาก ทั้งนี้เพราะมีสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่เป็นตัวกักตุนโรคอยู่ การที่จะป้องกันไม่ให้คนได้รับเชื้อจากโรคนี้ ควรคำนึงถึงการให้สุขศึกษาเกี่ยวกับแหล่งที่ติดเชื้อมา โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการเป็นโรค
โรคแอนแทรกซ์
โรควัณโรค
โรคแท้งติดต่อ
โรคบาดทะยัก
โรคเลปโตสไปโรซีส
โรคลิสเตอริโอซีส
โรคไฟลามทุ่ง