สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคสัตว์สู่คน
โรคแท้งติดต่อ (BRUCELLOSIS)
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บูลเซลล่า ซึ่งมี 3 ชนิดด้วยกัน คือบูลเซลล่าอะบอตัส (Brucella aboryus), บูลเซลล่าซุยส์ (Brucella suis), บูลเซลล่าเมลลิเทนซีส (Brucella melitensis)
การติดต่อ
1. โดยการกินเอาเชื้อเข้าไป ส่วนใหญ่พบว่า โดยการกินน้ำนมจากโคที่เป็นโรคนี้เข้าไปและน้ำนมไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์เสียก่อน หรือการกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคนี้เข้าไป
2. โดยการสัมผัส พบว่าเชื้อนี้สามารถผ่านเข้าทางผิวหนังได้ โดยเฉพาะผิวหนังที่มีรอยขีดข่วน ดังนั้นเชื้อนี้อาจสู่ผิวหนังคนได้โดยการสัมผัสกับสิ่งขับถ่าย, มูลสัตว์, รก, ปัสสาวะ, ซากสัตว์ที่เป็นโรค หรืออาจติดโรคจากการทำคลอดสัตว์, ล้วงรกหรือช่วยสัตว์ขณะแท้ง
3. ติดต่อได้โดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป ส่วนใหญ่พบในคนที่ทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ ซึ่งมีระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี
อาการ
อาการของโรคแท้งติดต่อ ในคน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1. อาการแบบเฉียบพลัน
อาการแบบนี้มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-9 สัปดาห์ หรืออาจเกิดนานเป็นเดือนหรือปีก็ได้ เริ่มด้วยมีอาการไข้หนาวสั่น เหงื่อออกโดยเฉพาะตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ สำหรับอาการไข้นั้น จะมีอาการไข้ขึ้นๆ ลงๆ เช่น อาจมีไข้สูง 4-5 วัน แล้วลดลงสู่ปกติ 3-4 วันก็เป็นอีก ซึ่งอาการดังกล่าวนี้จะเป็นลักษณะเฉพาะโรคนี้ นอกจากนี้พบว่า ตับโต, ม้ามโต, ต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคอาจหายได้เองภายใน 1-3 เดือน แต่ถ้าได้รับการรักษา โดยการใช้ยาปฏิชีวนะทันที จะหายเร็วกว่าปกติ
2. อาการแบบเรื้อรัง
อาการเกิดขึ้นเอง หรือเกิดตามหลังแบบเฉียดพลัน อาการที่พบบ่อยคือ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดตามข้อ แต่ไม่มีอาการอักเสบ อาจมีอาการทางประสาทร่วมด้วย
อาการในสัตว์
มีการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ และเยื่อหุ้มตัวลูกสัตว์ มีอาการแท้งลูก หรือเป็นหมัน น้ำนมลดลงอย่างมาก จะเกิดการสูญเสียโดยเฉพาะธุรกิจโคนม
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรคนี้ ที่แน่นอนอาจทำได้โดยการแยกเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งทำยาก เพราะเชื้ออยู่ในกระแสโลหิตมักไม่แน่นอน และไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังสามารถทดสอบได้ โดยการใช้ซีรั่ม Serum agglutination ในรายที่ให้ titer 1:320 อาจสงสัยว่าเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามการตรวจ Agglutinins นั้นไม่จำเป็นเสมอไปว่าบุคคลนั้นจะต้องเป็นโรคนี้ เพราะในบางรายตรวจพบว่ามี titer ต่ำซึ่งจะเป็นในผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ก็ได้ แต่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเรื้อรัง การทดสอบทางผิวหนัง (skin test) จะให้ผลไม่แน่นอนสำหรับการวินิจฉัยโรคนี้
การป้องกันและควบคุม
ปกติโรคนี้ เป็นโรคระบาดระหว่างสัตว์ด้วยกัน คนเป็นโรคได้โดยได้รับเชื้อจากสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ ดังนั้น คนจึงเป็นคนสุดท้ายที่ไม่แพร่เชื้อกระจายระหว่างคนด้วยกัน การป้องกันควบคุมจึงเน้นเฉพาะสัตว์คือ
1. ทำการตรวจสอบโรคนี้ทุกปี
และระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์
2. สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์ โดยการทำวัคซีนในลูกสัตว์เพศเมีย อายุ 3-8 เดือน
3. จัดการด้านสุขาภิบาลให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดเชื้อในบริเวณสัตว์ที่เป็นโรค
4. ให้ความรู้แก่บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึงอันตรายของโรคนี้ และการติดต่อ
รวมทั้งการใช้ยาฆ่าเชื้อโรคด้วย
5. ทำการเฝ้าระวังโรค และรายงานโรคโดยเร็วที่สุดถ้าพบว่ามีโรคนี้อยู่
โรคแอนแทรกซ์
โรควัณโรค
โรคแท้งติดต่อ
โรคบาดทะยัก
โรคเลปโตสไปโรซีส
โรคลิสเตอริโอซีส
โรคไฟลามทุ่ง