สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคสัตว์สู่คน
โรควัณโรค (TUBERCULOSIS)
เป็นโรคติดต่อที่สำคัญของสัตว์เลือดอุ่น สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคนกับสัตว์ และสัตว์กับคน
สาเหตุ
วัณโรคมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโรซีส (M.tuberculosis) รูปร่างเป็น slender rod shape ย้อมด้วยสี acid fast ติดสีแดง
การติดต่อ
1. โดยการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างสัตว์เป็นโรคกับคน
2. โดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศเข้าไป
3. โดยการกินน้ำนมจากสัตว์ที่เป็นโรคเข้าไป เช่น น้ำนมโคที่เป็นวัณโรค
4. โดยการกินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคเข้าไป
การติดวัณโรคในคนส่วนใหญ่ติดจากโคที่เป็นโรคมากว่าสัตว์ชนิดอื่น เช่น สุนัข แมว แพะ แกะ สุกร ม้า กวาง ลิง เป็นต้น
อาการ
ในคน ส่วนใหญ่พบเป็นวัณโรคที่ปอดมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่น เนื่องจากทำให้เชื้อแพร่และระบาดไปสู่ผู้อื่นง่าย อาการส่วนใหญ่เป็นแบบเรื้อรัง ไม่แสดงอาการของโรคออกมาให้เห็น และบางรายอาจหายเองได้ อาการที่เห็นเด่นชัดมีไอ อ่อนเพลีย หมดแรง มีไข้ น้ำหนักลด ตอนกลางคืน มีเหงื่อออก เจ็บหน้าอก ต่อมามีเลือดออกทางจมูก หรือไอออกมามีเลือดปน อาการดังกล่าวอาจไม่พบในระยะแรก แต่ในระยะที่โรคไปไกลอาการจะแสดงออกอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในแหล่งที่มีโรค ผอมแห้งเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากโรคอื่น ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้ จึงควรแยกกับโรคทางเดินระบบหายใจอื่นๆ ออกเช่น โรคปอดบวม หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น การวินิจฉัยที่ดีที่สุดก็โดยการแยกเชื้อ ซึ่งบางครั้งต้องทำหลายๆ ครั้ง เพราะการแยกเชื้อครั้งแรกอาจไม่พบ สำหรับวัณโรคที่เกิดขึ้นในอวัยวะอื่นๆ ก็มีที่ตับ ม้าม ไต กระดูก เยื่อหุ้มสมอง อัณฑะ ลำไส้ รังไข่ เป็นต้น วัณโรคจากโคที่ติดมายังคน ส่วนใหญ่อาการในคนจะพบเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอ อวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง และจะพบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากวัณโรคติดต่อได้ โดยการดื่มน้ำนมโคที่เป็นโรค นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถติดต่อได้ โดยการหายใจเอาเชื้อเข้าไป และจะพบอาการเกิดขึ้นที่ปอด
อาการในสัตว์
สัตว์มักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นเด่นชัด เพราะสัตว์ที่ป่วยจะไม่ได้เป็นวัณโรคปอดเหมือนในคน แต่จะเป็นที่ตับ ม้าม ไต ลำไส้ สัตว์ที่เป็นวัณโรคได้ง่ายคือ โค ม้า สุกร ลิง ส่วนสุนัขและแมว มีความต้านทานต่อวัณโรคสูง
การวินิจฉัยโรค
โดยการสังเกตจากอาการที่แสดงออก แต่พบว่าสังเกตยาก แม้กระทั่งการทดสอบที่ผิวหนัง หรือการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาก็แยกลำบากมาก แต่ในปัจจุบันมีการทดสอบทางชีวเคมีซึ่งช่วยได้มากในการวินิจฉัยโรคนี้
การควบคุมป้องกันโรค
1. ให้สุขศึกษาแก่ประชาชนและบุคคลที่คลุกคลีกับสัตว์ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ โดยให้ทราบว่าวัณโรคอาจติดต่อจากคนไปสู่คนหรือจากสัตว์ไปสู่คน หรือจากผลิตภัณฑ์สัตว์สู่คน และอันตรายที่ได้รับจากโรคนี้ ตลอดจนการป้องกันตัวเองจากโรค
2. ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดโรคโดยการปฏิบัติให้ถูกสุขวิทยา และการสุขาภิบาล เช่น การกินน้ำนมที่ต้ม น้ำนมควรผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ผู้ที่ทำงานกับสัตว์ทดลองควรมีเครื่องป้องกันการติดต่อเชื้อ และควรทำความสะอาดโรงเรือนสัตว์ให้ถูกหลัก เช่นใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ
3. การสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้วัคซีน (B.C.G.) ป้องกันโรคในคน
4. รักษาผู้ป่วยให้หาย
5. ควรทำการควบคุมสัตว์ที่เป็นวัณโรคโดยการแยกและทำลายสัตว์
6. สัตว์ที่ฆ่าใช้เนื้อเป็นอาหารควรผ่านการตรวจเนื้อจากสัตวแพทย์
7. ผลิตภัณฑ์สัตว์ อาการสัตว์ ควรผ่านวิธีการฆ่าเชื้อมาก่อนแล้ว
โรคแอนแทรกซ์
โรควัณโรค
โรคแท้งติดต่อ
โรคบาดทะยัก
โรคเลปโตสไปโรซีส
โรคลิสเตอริโอซีส
โรคไฟลามทุ่ง