สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
โรคสัตว์สู่คน
โรคแอนแทรกซ์ (ANTHRAX)
โรคแอนแทรกซ์ ชาวบ้านเรียกว่า โรคกาลี เป็นโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงและคนในประเทศไทย ปัจจุบันโรคนี้เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นอยู่ประปราย โดยเกิดทั้งในสัตว์และในคน และจะพบว่าเกิดซ้ำในท้องที่เดิมที่เคยมีรายงานโรคมาก่อนเสมอ
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า บาซิลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) มีรูปร่าง slender rod shape ติดสี Gram positive เชื้อนี้เมื่ออยู่นอกร่างกายสัตว์จะฟอร์มสปอร์ ซึ่งสปอร์นี้จะทนต่อความร้อนความแห้งแล้งได้ดี และสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน 10-20 ปี
การติดต่อ
คนติดต่อโรคจากสัตว์ได้โดย
1.
โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วยหรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย
เช่น บุคคลที่มีอาชีพชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือ ผู้ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย
2. โดยคนกินเนื้อสัตว์ป่วยที่เป็นโรคเข้าไป
3. โดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป
อาการ
สำหรับอาการของโรคนี้ ในคน สามารถแบ่งตามลักษณะของการได้รับเชื้อเข้าไปดังนี้
1. อาการที่เกิดตามผิวหนัง (Cutaneous anthrax)
จะพบได้บ่อยที่บริเวณผิวหนังที่ได้รับเชื้อเข้าไป โดยปกติวิการของโรค (Lesion) จะเกิดขึ้นที่ผิวหนังไม่เกิน 2 วัน หลังจากได้รับเชื้อเข้าไป อาการเริ่มแรกจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดง คันคล้ายกับถูกแมลงกัด ต่อมาจะบวมและกลายเป็นตุ่มหนองมีน้ำใสอยู่ภายในตรงกลาง หลังจากนั้นเกิดลักษณะของเนื้อตาย (necrosis) เป็นสีดำมีอาการเจ็บเล็กน้อย ในระยะนี้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใกล้แผลจะมีอาการบวมอย่างเห็นได้ชัด ในรายที่มีอาการมากจะทำให้เกิดมีเชื้อในกระแสเลือด และมีอาการโลหิตเป็นพิษ (toxaemia) ส่วนมาก มักเกิดกับบุคคลที่ทำการชำแหละเนื้อสัตว์ป่วย เช่น โค, กระบือ, สุกร โดยเชื้อจะเข้าทางผิวหนังตรงบริเวณที่เป็นแผล รอยขีด หรือรอยแตกของผิวหนัง ในรายที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีอัตราการตายประมาณ 20%
2. อาการระบบหายใจ (Inhalation anthrax)
เกิดขึ้นเนื่องจากหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยสปอร์จะติดอยู่ตามฝุ่นละออง ขนสัตว์ หนังสัตว์ เมื่อสูดดมเข้าไปจะไปอยู่ในถุงลม ต่อจากนั้นจะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลอดลม และเข้าสู่ระบบหมุนเวียนของโลหิต อัตราการตายของผู้ป่วยที่เป็นโรคแบบนี้เกือบ 100% อาการของโรคที่เห็นพบว่าผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อ ไอ อาการดังกล่าวคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ หรือ ปอดอักเสบอย่างอ่อน ต่อมาจะหายในลำบาก มีน้ำออกมาตามเยื่อเมือกและผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ แสดงการขาดออกซิเจนในเลือด ผู้ป่วยจะมีชีพจรและหายใจถี่ก่อนตายเสมอ
3. อาการทางระบบลำไส้ (Intestinal anthrax)
เกิดขึ้นเนื่องจากกินอาหารที่มีเชื้อนี้อยู่เข้าไป เช่น อาหารที่ดิบๆ หรือไม่สุก ทำให้มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่โรคนี้มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน
อาการในสัตว์
จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด และจะเป็นชนิดเฉียบพลัน คือสัตว์จะมีไข้ และตาย อาการอื่นมีบวมที่คอ ไหล่ บริเวณอก ปาก และจมูกแห้ง หายใจเร็ว ไข้สูง ขาสั่น ชักและเกร็งเป็นระยะๆ เยื่อหุ้มตาอักเสบ อาการที่พบในโรคนี้ส่วนมากจะมีอาการบวมตามบริเวณคอหอย หายใจลำบาก เลือดออกตามช่องเปิดต่างๆ และเป็นเลือดที่ไม่มีการแข็งตัว สัตว์ที่ตายจะเกิด ferment เร็วมาก
การวินิจฉัยโรค
โดยการแยกเชื้อที่ผิวหนังนำมาย้อมสี gram หรือสี giemsa หรือนำไปเพาะเลี้ยงต่อ สำหรับการนำเลือดมาเพาะเชื้อจะทำได้ในระยะปลายของโรค หรือระยะที่สัตว์ใกล้ตาย จะได้ผลดีกว่า เพราะเชื้อนี้จะถูกทำลายเร็วในขบวนการเน่าเปื่อย
ในกรณีที่การเพาะเลี้ยงเชื้อไม่ได้ผลควรใช้การฉีดเข้าหนู mice หรือหนูตะเภา ถ้าเราอยากให้สัตว์ตายช้าอาจใช้ ตัวอย่าง (specimen) ที่ได้ นำมาขูดบนผิวหนัง วิธีนี้จะทำให้การวินิจฉัยโรคแน่นอนกว่าเพราะถ้าเราฉีดในสัตว์ทดลองสัตว์ที่ตายเร็วอาจเนื่องมาจากเชื้อ Clostridium ก็ได้
การควบคุมโรค
1. โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เป็นประจำทุกปี
2. สัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้หรือสงสัยว่าตายด้วยโรคนี้ให้ฝังหรือเผา
ห้ามชำแหละอย่างเด็ดขาด วิธีการนี้จะควบคุมมิให้โรคแพร่กระจายออกไปได้ดี
อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบก็คือ การให้ภูมิคุ้มกันโรคแก่สัตว์ ควรใช้วัคซีนที่ไม่ได้เตรียมมาจากสปอร์ แต่ควรใช้วัคซีนเชื้อตาย ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มโรคอยู่ได้นานเมื่อเปรียบเทียบกับสปอร์วัคซีน วิธีการนี้ จะทำให้การควบคุมโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์เลี้ยงได้ผลดี
โรคแอนแทรกซ์
โรควัณโรค
โรคแท้งติดต่อ
โรคบาดทะยัก
โรคเลปโตสไปโรซีส
โรคลิสเตอริโอซีส
โรคไฟลามทุ่ง