ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง


รอยพระพุทธบาทจำลองที่เขาพนมรุ้ง
ขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวีในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
ขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 ทิศ
ประวัติและที่มาของขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี
พระนางภูปตินทรลักษมีเทวี

รอยพระพุทธบาทจำลองที่เขาพนมรุ้ง

จำคำบอกเล่าของ นายกวน สอดทรัพย์ อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 16 ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และผู้เฒ่าผู้แก่อีกหลายท่าน เล่าว่า

รอยพระพุทธบาทจำลอง มีประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์น้อยมาเป็นเวลานานแล้ว ประมาณกว่า 100 ปี โดยมีปู่ย่าตายายเล่าต่อ ๆ กันมาว่า หลวงประดิษฐ์ (นามเดิมหลวงปู่มา) เป็นกำนันบ้านตาเป๊ก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้บวชเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมภาราม (เทิ่งอนุสรณ์) หลวงปู่มาเป็นผู้นำรอยพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานที่ปรางค์องค์น้อย บนเขาพนมรุ้ง พร้อมกับรอยพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ภูอังคาร

รศ.ดร. ม.ร.ง.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ (2536 : 388) ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย โดยได้กล่าวไว้ในภาคผนวก : ลำดับเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปราสาทเขาพนมรุ้ง และทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีเหตุการณ์สำคัญที่บันทึกถึง “รอยพระพุทธบาทจำลอง” ดังต่อไปนี้

“พุทธศักราช 2437 ได้มีการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสมัยหลัง ภายใน “ปรางค์น้อย” ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน และเป็นที่สักการะของประชาชนในแถบนั้นตลอดมา”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ท่านพระโอภาสธรรมญาณได้เป็นผู้นำกำหนดให้มีงานบุญประจำปี ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ วันเพ็ญ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5 (วันขึ้นเขาจริง คือ วันเพ็ญเดือน 5 ของทุกปี) มีประชาชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาทำบุญปิดทองนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง และชมความงดงามของปราสาทพนมรุ้ง


ในปี พ.ศ. 2514 กรมศิลปากรได้เริ่มโครงการบูรณะปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ในแต่ละปีเมื่อถึงวันประเพณีขึ้นเขา ชาวบ้านเป็นจำนวนมากเดินทางขึ้นเขาเพื่อปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในปรางค์องค์น้อย ศรัทธาของชาวบ้านนับหมื่นคน นอกจากจะปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองแล้ว ยังปิดทองบริเวณภายนอกปรางค์องค์น้อยอีกด้วย

ภายหลังทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ฝ่ายบูรณะปราสาทพนมรุ้ง ได้นำรอยพระพุทธบาทจำลองย้ายลงมาที่ลานด้านหน้าปราสาทในวันเพ็ญ เดือน 5 ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้นมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และต่อมาเห็นว่าการเคลื่อนย้ายรอยพระพุทธบาทจำลองขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกปี ไม่เป็นการสะดวกนัก จึงได้มอบหมายให้ทางวัดพนมรุ้งเป็นผู้ดูแลและจัดตั้งที่ประดิษฐาน ชั่วคราวบริเวณด้านข้างทางซ้ายมือก่อนขึ้นสะพานนาคราช

ประชาชนทั่ว ๆ ไป มีความเลื่อมใสศรัทธาและเชื่อกันว่าบริเวณเขาพนมรุ้งทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นดินแดนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของทวยเทพเทพาอารักษ์ ผู้พิทักษ์ปราสาทพนมรุ้งจากคำบอกเล่าสืบทอดกันของคนเฒ่าคนแก่

เรื่องความเชื่อในวันขึ้นเขาพนมรุ้ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน 5 ของทุกปี ประชาชนทุกคนที่มาบำเพ็ญบุญที่เขาพนมรุ้งด้วยแรงศรัทธา จะต้องมีจิตใจงดงาม สำรวมทั้งกาย วาจา ใจ ประพฤติปฏิบัติตนแต่ในสิ่งที่ดีงาม พูดจาสุภาพอ่อนโยน มีสัมมาคาระต่อผู้ใหญ่ จะไม่ก่อเหตุ ทะเลาะวิวาท ตีรันฟันแทง หรือฉกชิงวิ่งราว เป็นอันขาด มิฉะนั้นจะเกิดเหตุอาเพศอย่างรุนแรง เช่น เกิดลมพายุจัด ฝนตก และเกิด ฟ้าผ่า ทำให้ผู้คนได้รับอันตราย ตื่นตระหนกตกใจ โดยเฉพาะบุคคลที่ก่อเหตุมักจะมีอันเป็นไปจนถึง แก่ชีวิต

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย