วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน  >>

การแต่งร่าย

ร่าย เป็นชื่อของคำประพันธ์ ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่กำหนดว่า จะต้องมีบท หรือบาท เท่านั้น เท่านี้ จะแต่งให้ยาวเท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง เรียงคำ ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับ เท่านั้น ลักษณะบังคับต่างๆ ใช้อย่างเดียวกับ โคลง 2 และโคลง 3 คำร่าย "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน

ร่ายมักจะแต่งร่วมกับคำประพันธ์ประเภทลิลิต ร่าย แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ

ร่ายสุภาพ

  1. บทหนึ่งๆ มีตั้งแต่ 5 วรรคขึ้นไป จัดเป็นวรรคละ 5 คำ หรือจะเกิน 5 คำบ้างก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 5 จังหวะในการอ่าน จะแต่งยาวกี่วรรคก็ได้ แต่ตอนจบจะต้องเป็นโคลงสองสุภาพเสมอ
  2. สัมผัส โดย คำสุดท้ายของวรรคหน้า ต้องสัมผัสคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 เป็นวรรคถัดไปทุกวรรค นอกจากตอนจบจะต้องให้สัมผัสแบบโคลงสองสุภาพ
  3. เอกโท มีบังคับเอก 3 แห่ง และคำโท 3 แห่ง ตามแบบของโคลงสองสุภาพ
  4. ถ้าคำสัมผัสที่ส่งเป็นคำเป็นหรือคำตาย คำที่รับสัมผัสจะต้องเป็นคำเป็นหรือคำตายด้วย และคำสุดท้ายของบท ห้ามใช้คำตาย
  5. เติมสร้อยในตอนสุดท้ายของบทได้อีก 2 คำ หรือจะเติมทุกๆ วรรคของบทก็ได้พอถึงโคลงสองต้องงด เว้นไว้แต่สร้อยของโคลงสองเอง สร้อยชนิดนี้ต้องเหมือนกันทุกวรรค เรียกชื่อว่า "สร้อยสลับวรรค"

ตัวอย่าง สรวมสวัสดิวิชัย เกริกกรุงไกรเกรียงยศ เกียรติปรากฏขจรขจาย สบายทั่วแหล่งหล้า ฝนฟ้าฉ่ำชุ่มชล ไพศรพณ์ผลพูนเพิ่ม เหิมใจราษฎร์บำเทิง...ประเทศสยามชื่นช้อย ทุกข์ขุกเข็ญใหญ่น้อย นาศไร้แรงเกษม โสตเทอญ (ลิลิตนิทราชาคริต)

ร่ายยาว

การแต่งร่ายยาว ต้องรู้จัก เลือกใช้ ถ้อยคำ และสัมผัสใน ให้มีจังหวะ รับกันสละสลวย เมื่ออ่านแล้ว ให้เกิด ความรู้สึก มีคลื่นเสียง เป็นจังหวะๆ อย่างที่เรียกว่า "เสียงดิ้น" หรือ "เสียงมีชีวิต" และจำนวนคำ ที่ใช้ ในวรรคหนึ่ง ก็ไม่ควรให้ยาว เกินกว่าช่วง ระยะหายใจ ครั้งหนึ่งๆ คือ ควรให้อ่าน ได้ตลอดวรรค แล้วหยุดหายใจได้ โดยไม่ขาดจังหวะ ดูตัวอย่างได้ ในหนังสือ เวสสันดรชาดก ร่ายยาวนี้ ใช้แต่งเทศน์ หรือบทสวด ที่ต้องว่า เป็นทำนอง เช่น เทศน์มหาชาติ และเทศน์ธรรมวัตร เป็นต้น เมื่อจบความ ตอนหนึ่งๆ มักลงท้ายด้วย คำว่า นั้นแล นั้นเถิด นี้แล ฉะนี้แล ด้วยประการฉะนี้ คำนั้นแล นิยมใช้เมื่อ สุดกระแสความตอนหนึ่งๆ หรือจบเรื่อง เมื่อลง นั้นแล ครั้งหนึ่ง เรียกว่า "แหล่" หนึ่ง ซึ่งเรียกย่อ มาจากคำ นั้นแล นั่นเอง เพราะเวลาทำนอง จะได้ยินเสียง นั้นแล เป็น นั้นแหล่

กฏ:

  1. บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ มักจะมีตั้งแต่ 5 วรรคขึ้นไป ก็ไม่กำหนดตายตัวแน่นอน จะมีกี่คำก็ได้แล้วแต่จะเห็นเหมาะมักอยู่ระหว่าง8-13 คำ
  2. สัมผัส มีดังนี้

    คำสุดท้ายของวรรคต้น จะส่งสัมผัสไปยังวรรคต่อไป คำใดก็ได้ยกเว้นคำแรกและคำสุดท้าย ซึ่งไม่นิยมรับสัมผัส ส่วนการส่งและการรับด้วยเอกโท อย่างร่ายที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ถือเป็นระเบียบเคร่งครัดนักการแต่งร่ายยาวผู้แต่งจะต้องรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ และสัมผัสในให้มีจังหวะรับกันอย่างสละสลวยและจำนวนคำที่ใช้ในวรรคหนึ่งๆก็ไม่ควรยาวเกินกว่าช่วงระยะหายใจครั้งหนึ่งๆ

ตัวอย่าง โพธิสตฺโต สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ อันสร้างสมดึงส์ปรมัตถบารมี เมื่อจะรับวโรรัตนเรืองศรีแปดประการ แด่สำนักนิท้าวมัฆวานเทเวศร์ ก็ทูลแก่ท้าวสหัสเนตรฉะนี้

กาพย์มหาชาติ สักรบรรพ

ร่ายดั้น

กฏ:

  1. บทหนึ่งๆ มีตั้งแต่ 5 ขึ้นไป 4 วรรคตอนจบนั้นต้องบาท 3 และบาท 4 ของโคลงดั้นวิวิธมาลีเสมอ วรรคหนึ่งใช้คำตั้งแต่ 3 - 8 คำ
  2. สัมผัส เหมือนกับร่ายสุภาพ นอกจากตอนจบเท่านั้นที่ต่างกัน
  3. บังคับเอก โท ตามบาทที่ 3 และ4 ของโคลงดั้นวิวิธมาลี
  4. ถ้าคำที่ส่งสัมผัสเป็นคำตายหรือคำตาย คำที่รับสัมผัสจะต้องเป็นคำเป็น หรือเป็นคำตายด้วย และคำสุดท้ายของบทห้ามใช้คำตาย
  5. เติมคำสร้อยในตอนสุดท้ายของบทได้อีกสองคำ หรือ จะเติมสร้อยระหว่างวรรคก็ได้

 

ตัวอย่าง

ศรีสุนทรประฌาม งามด้วยเบญจพิธ
องค์ประดิษฐ์อุตดม อัญขยมประจงถวาย
พร้อมด้วยกายวาจาจิต...มวลมารพ่ายแพ้สูญ สิ้นเสร็จ
ทรงพระคุณล้ำล้น เลิศครู

ลิลิตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย

ร่ายโบราณ

ร่ายโบราณ คือ ร่ายที่กำหนดให้วรรคหนึ่งมีคำห้าคำเป็นหลัก บทหนึ่งต้องแต่งให้มากกว่าห้าวรรคขึ้นไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่หนึ่ง สอง หรือสาม คำใดคำหนึ่งของวรรคถัดไป และยังกำหนดอีกว่า หากส่งด้วยคำเอก ต้องสัมผัสด้วยคำเอก คำโทก็ด้วยคำโท คำตายก็ด้วยคำตาย ในการจบบทนั้น ห้ามไม่ให้ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ประสมอยู่เป็นคำจบบท อาจจบด้วยถ้อยคำ และอาจแต่งให้มีสร้อยสลับวรรคก็ได้

ตัวอย่าง ...

พระบาทเสด็จ บ มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซ้องหอกซัดยยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบ บ มิคลา ข้างขวารบ บ มิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุดเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แข็งต่อแข็งง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสารครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท้ ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา

ตัวอย่างแบบมีสร้อยสลับวรรค

เจ้าเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผื่อเหลือแห่งพร้อง โอเอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา

ลิลิตพระลอ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย