ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ฟรานซิส เบคอน
เรอเน เดสการ์ตส์
บารุค สปิโนซา
กอทฟริด วิลเฮล์ม ไลบ์นิส
ยอร์ช เบร์คเลย์
เดวิด ฮิวส์
โธมัส ฮอบส์
จอห์น ล็อก
อิมมานูเอิล คานท์
ย็อช วิลเฮลม ฟริดริช เฮเกล
ฟริดริค นิตเช่
ฌอง ปอล ซาร์ตร์
เซอเรน เคียร์เคอกอร์
เซอเรน เคียร์เคอกอร์
เซอเรน โอบึย เคียร์เคอกอร์ (Søren Aabye Kierkegaard : 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1813 -
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1855) เป็นนักปรัชญาชาวเดนมาร์กในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19
ถือกันโดยทั่วไปว่าเขาเป็นนักปรัชญาอัตถิภาวนิยมคนแรก แม้ว่างานวิจัยในชั้นหลัง ๆ
จะแสดงว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวอาจกระทำได้ยากกว่าที่เคยคิดกันก็ตาม
ในด้านความคิดทางปรัชญานั้น
เคียร์เคอกอร์ถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างปรัชญาแบบเฮเกิลกับปรัชญาที่จะคลี่คลายไปเป็นอัตถิภาวนิยมในภายหลัง
เขาปฏิเสธอย่างแข็งขันทั้งปรัชญาแบบเฮเกิลที่กำลังเฟื่องฟูในสมัยนั้นและสิ่งที่เขาเรียกว่ารูปแบบอันว่างเปล่าของคริสตจักรเดนมาร์ก
งานของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางศาสนา เช่น ธรรมชาติของศรัทธา
ความเป็นสถาบันของคริสต์ศาสนจักร และเรื่องจริยธรรมและเทววิทยาคริสเตียน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้
บางคนจึงจัดให้งานของเคียร์เคอกอร์อยู่ในประเภทของอัตถิภาวนิยมคริสเตียน
งานของเคียร์เคอกอร์อาจยากแก่การตีความ
เนื่องจากงานที่เขาเขียนในระยะแรกนั้นเขียนโดยใช้นามแฝงต่าง ๆ กัน
และบ่อยครั้งที่งานที่เขาเขียนโดยใช้นามแฝงชื่อหนึ่งจะได้รับความเห็นหรือข้อวิจารณ์จากงานเขียนที่เขาใช้นามแฝงอีกชื่อหนึ่ง
ปรัชญาของเคียร์เคอกอร์
ปรัชญาของเคียร์เคอกอร์เป็นปรัชญาอัตถิภาวนิยมประเภทเทวนิยม
เคียร์เคอกอร์ได้เริ่มความคิดแบบอัตถิภาวนิยมด้วยการเสนอว่า
ปรัชญาชีวิตต้องเป็นปรัชญาแห่งอัตถิภาวะ คือ
การพิจารณาสภาวะอันแท้จริงในขณะนี้ของตนเองไม่ใช่การแสวงหาสิ่งอื่นหรือในที่อื่น
เคียร์เคอกอร์ถือว่าเราต้องรู้ตัวเองก่อนที่จะรู้สิ่งอื่นใดทั้งหมด
ปรัชญาที่ให้ความจริงในสภาพปัจจุบันนี้ก็คือปรัชญาที่ได้มาจากใช้ความพินิจพิจารณาของจิตใจในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงจนเกิดรู้อัตถิภาวะของตนเอง
สิ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ตามทัศนะอัตถิภาวะนิยมก็คือ ความกังวลใจ
(Anxiety) ซึ่งเคียร์เคอกอร์อธิบายว่า ได้แก่ความลึกลับในจิตใจของมนุษย์เอง
อันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้
กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือความไม่เข้าใจในชีวิตของตนเอง
เพราะเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้จึงทำให้เกิดความกังวลใจ
ความกังวลใจมีผลต่อมนุษย์ในทางลบละทางบวก
บางคนอาจจะยอมแพ้แก่ความกังกลใจแล้วก็ท้อต่อชีวิตหรือปล่อยชีวิตไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา
แต่บางคนอาศัยความกังวลใจตัดสินใจกระโดดจากภาวะกังวลขึ้นไปสู่ภาวะที่สูงกว่าแล้วความกังวลใจก็จะหายไป
เคียร์เคอกอร์แบ่งอัตถิภาวะเป็น 3 ระดับคือ
- ระดับธรรมชาติ - จิตใจมนุษย์มีความโน้มเอียงไปตามธรรมชาติกระทำไปตามสัญชาตญาณหรือตามกิเลส
- ระดับจริยะ สร้างอุดมการณ์สำหรับตัวเอง ถือกฎศีลธรรมว่าเป็นจริง และนิยมสร้างประโยชน์ส่วนรวม
- ระดับศาสนา พอใจความหลุดพ้นของจิตใจตนเองคือเข้าหาศาสนาแต่ไม่ถือตามศาสนาตามตัวอักษรในคัมภีร์
เคียร์เคอกอร์ยอมรับว่า ศิลปะมีส่วนสำคัญต่ออัตถิภาวะเหมือนกัน
เพราะช่วยให้อัตถิภาวะยกระดับตนเองจากระดับธรรมชาติไปสู่ระดับจริยะได้
แต่เคียร์เคอกอร์ถือว่า เรื่องของอภิปรัชญาเป็นเรื่องเหลวไหลไม่ควรคิด
เพราะเป็นเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอย ไม่มีพื้นฐานความจริงในแง่ใดเลย
เคียร์เคอกอร์แบ่งจริยศาสตร์เป็น 2 ระดับคือ
- ระดับต่ำ ได้แก่การถือว่าคุณธรรมเป็นสิ่งงดงามและมีผลทำให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสมบูรณ์
- ระดับสูง ได้แก่การทำดีโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ใดๆ เป็นการทำดีเพราะความดีไม่ใช่เพื่อความดี
ในเรื่องศาสนาเคียร์เคอกอร์ก็แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
- ระดับต่ำ คือถือศาสนาเพราะเห็นว่าศาสนามีความงามและให้ความสุข
- ระดับกลาง คือถือศาสนา เพราะเห็นว่าเป็นอุดมการณ์ที่ดีควรเชื่อถือและควรประพฤติ.
- ระดับสูง คือถือศาสนา เพราะศรัทธาบริสุทธิ์ ไม่มุ่งสิ่งใด
บรรณานุกรม
- สุเชาว์ พลอยชุม. ปรัชญาเบื้องต้น เล่ม 2. ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ :, (2525).
- ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. ปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย 2. พิมพ์ครั้งที่ 2 ,โรงพิมพ์อักษรไทย . กรุงเทพฯ. 2524.
- สุนัย ครองยุทธ. ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตราชวังสนามจันทร์ นครปฐม. 2534.
- ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. ปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย 1. พิมพ์ครั้งที่ 2,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ .2522.