ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

นักปรัชญา

ฟรานซิส เบคอน
เรอเน เดสการ์ตส์
บารุค สปิโนซา
กอทฟริด วิลเฮล์ม ไลบ์นิส
ยอร์ช เบร์คเลย์
เดวิด ฮิวส์
โธมัส ฮอบส์
จอห์น ล็อก
อิมมานูเอิล คานท์
ย็อช วิลเฮลม ฟริดริช เฮเกล
ฟริดริค นิตเช่
ฌอง ปอล ซาร์ตร์
เซอเรน เคียร์เคอกอร์

ย็อช วิลเฮลม ฟริดริช เฮเกล

เฮเกล เป็นนักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เกิดที่เมือง สตุทการ์ด และได้ศึกษาวิชาปรัชญา ศาสนาวิทยา เทววิทยา ที่มหาวิทยาลัยทูบิงเกน ณ ที่นี้ เขาได้ก่อตั้งวารสารทางปรัชญาขึ้น

ในปี ค.ศ. 1801 เมื่อ เขามีอายุ 30 ปี เฮเกลได้ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยนา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยสอนวิชาปรัชญา เชื่อว่าตัวเองมีความคิดทางปรัชญาตรงกับเชลลิงทุกประการ ซึ่งตัวเชลลิงเป็นศาสตราจารย์ทางปรัชญาที่เยนนาหลายปี ระหว่างปี ค.ศ.1802-1803 เฮเกลและเชลลิงได้ร่วมกันทำหนังสือชื่อ “Kritisches Jour der Philosophie” ซึ่งเฮเกลมีส่วนทำมากกว่า

ความจริงเมื่อมองทางด้านญาณอันมีอยู่ในตัวของเฮเกลแต่กำเนิดแล้ว เฮเกลกับเชลลิงก็มีคล้ายคลึงกัน ผลที่ได้จากความคิดของคนทั้งสองก็คล้ายคลึงกัน แต่ในภายหลังเชลลิงหันไปชอบทางรหัสนิยม กล่าวคือชอบอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์และ รวมทั้งการเข้าถึงความรู้โดยการเพ่งภายใน ขณะเดียวกันนี้ วิธีของเฮเกลเป็นความคิดจากเหตุผลและผลใช้วิธีแสดงความคิดให้เห็นจริงจังเป็นขั้นๆ ไปด้วยความบากบัน เฮเกลกับเชลลิง จึงขัดแย้งกันเพราะทัศนะทางนี้โดยสิ้นเชิง

Rosenkranz นักชีวประวัติประจำตัวเฮเกลได้เขียนไว้ว่า เฮเกลสามารถตรึงจิตในของนักศึกษาในห้องปาฐกถาที่เยนา จนกระทั่งไม่มีใครลุกไปไหนเลย ในปี ค.ศ.1805 เขาได้ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ต่อมาอีกปีชีวิตของเขาในเยนาก็จบลงอย่างกักขฬะโดยการแทรกแวงของพวกฝรั่งเศสภายใต้การนำของนโปเลียน เฮเกลเรียกนโปเลียนว่า “ดวงวิญญาณของโลก” ขณะนั้นมหาวิทยาลัยจำต้องปิดชั่วคราวและคราวแรกเฮเกลไปอยู่ที่เมืองแบมบูโดยเป็นบรรณาธิการอยู่ที่นั่นสองปี ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เบินบรูกและรับตำแหน่งผู้ดูแลโรงกายบริหารอยู่แปดปี

ในปี ค.ศ.1800 เขาแต่งงานกับ มารี ฟอนทูเคอ บุตรีของตระกูลเก่าในเมืองนั้น ในปี ค.ศ. 1812-1813 เขาได้พิมพ์ตำราตรรกวิทยาออกมาเผยแพร่ซึ่งตำราตรรกวิทยาเล่มนี้แสดงถึงความคิดใหม่ทางตรรกวิทยา ทั้งโดยตรรกวิทยาระบบเก่าพิจารณาเฉพาะสรรพสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ตรรกวิทยาระบบใหม่นี้ พิจารณาสรรพสิ่งที่เปลี่ยนแปลงด้วยเป็นผลของยุคปัญญาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคับจิตใจให้นักปรัชญาเห็นว่า ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งกำหนดตรรกวิทยา ละเราจะค้นพบตรรกวิทยาในจิตใจของเราหาได้ไม่ หากต้องมองและสะแสวงหามาจากโลกภายนอก ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของปรัชญาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในตรรกวิทยาขึ้น ต่อมาในปี ค.ศ.1816 เฮเกลถูกเรียกตัวไปเป็นศาสตราจารย์ในวิชาปรัชญา ณ มหาวิทยาลัยไฮเบิก ในระหว่าที่เขามีชีวิตอยู่เขาได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในที่สุดเขาได้รับแต่ตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ณ ที่นี่ เขาได้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำโลกทางปรัชญาของเยอรมัน ชีวิตของเฮเกลเป็นชีวิตแห่งความก้าวหน้าทั้งในด้านอาชีพ สังคมและการเมือง ระหว่างระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่นั้น เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าปรัชญาสังคมของเขาได้ถูกแปลไปในแง่ส่งเสริมยกย่องสถาบันของพวกปรัชเซียน อันจะนำมาซึ่งระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเยอรมันนีตอนปลายศตวรรษที่ 19 ในมหาวิทยาลัย เขามีอิทธิพลเหนือความคิดของบรรดานักศึกษาทั้งหลายและได้รับความนับถือจากนักศึกษาเป็นอย่างดีอีกด้วย ชีวิตภายในครอบครัวของเขาก็ประสบความสุขราบรื่นดี และในสังคมชั้นสูงของพวกปรัชเซียน เขาก็ได้รับตำแหน่งที่เรืองด้วยอำนาจ เป็นการยากที่จะพิจารณาให้เกิดความเข้าใจได้ว่า เฮเกล นักปรัชญาผู้มีนิสัยเงียบๆ เกิดความสำเร็จได้เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นในวงสังคมได้อย่างไร แต่ เกอเต้ ก็ได้เขียนคำโคลงไว้บนแก้วน้ำสดุดีเขาไว้ว่า “เป็นปฐมาจารย์แห่งลัทธิสัมบูรณนิยมทีเดียว เฮเกลได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ปี ค.ศ.1831 ในกรุงเบอร์ลิน

ผลงานสำคัญ

  1. Philosophy of Mind 1807
  2. Science of Logic 1812-1816
  3. Encyclopedia of the Philosophical Sciences
  4. Philosophy of Natuw 1817
  5. Philosophy of right 1821
  6. Posthumously Published Works includes lectures on the history of philosophy 1833-1836
  7. Philosophy of History 1837
  8. Philosophy of Art 1836-1838

ปรัชญาของเฮเกล
ปรัชญาของเฮเกล คือ ลัทธิจิตนิยม (idealist) เฮเกลเชื่อว่า สิ่งที่เป็นความจริงจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ทั่วด้าน ที่เรียกว่า จิตสัมบูรณ์ เป็นตัวตนสมบูรณ์ ครอบงำสรรพสิ่ง และเป็นสิ่งตรงข้ามกับโลกความเป็นจริงที่มนุษย์เห็นอยู่โดยทั่วไป หรือสัมผัสได้



เฮเกลเห็นว่า โลกเชิงประจักษ์นั้น เป็นเพียงการสะท้อนออกบางส่วนของความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงที่สมบูรณ์ เขาอธิบายความจริงสูงสุดของโลกว่า คือ หลักเหตุผล (rational) มนุษย์จะเข้าถึงความจริงได้ก็ด้วยความเข้าใจในหลักเหตุผล หรือ ใช้กระบวนการทางตรรกวิทยา อย่างไรก็ตามจุดเด่นในปรัชญาเฮเกล คือ ทัศนะแบบวิภาษวิธี (dialectic) ที่อธิบายว่า จิต หรือ ตัวตนสมบูรณ์ นี้แสดงออกในรูปของความขัดแย้ง 2 ด้าน คือ ด้าน สนับสนุน และ ด้านปฏิเสธ ด้านหนึ่ง เป็นบทเสนอ (thesis) ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นบทแย้ง (antithesis) และวิวัฒนาการการต่อสู้ระหว่าง 2 ด้านที่ขัดแย้งนี้เอง จะนำมาสู่การพัฒนาของสิ่งใหม่ ที่จะเรียกว่า บทสรุป (synthesis) และบทสรุปนี้ก็จะกลายเป็นบทเสนอ (thesis) ใหม่ ก่อให้เกิดบทแย้ง (antithesis) ใหม่ และนำมาสู่บทสรุป (synthesis) ใหม่ ไปจนสิ้นสุดกระบวนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความเป็น จิตสมบูรณ์อันแท้จริง

หลักปรัชญาของเฮเกล คือ ปรัชญาจิตนิยม ที่ให้ความสำคัญแก่ความคิดในเชิงเหตุผล ความน่าสนใจของปรัชญาเฮเกล คือ การวิเคราะห์สรรพสิ่งว่ามีกระบวนการขัดแย้งภายใน และทำให้ สรรพสิ่งพัฒนา ข้อเสนอใหม่เหล่านี้เองที่ทำให้ปรัชญาเฮเกล เป็นที่สนใจอย่างมาก และทำให้มีผู้ศึกษาตามมาอีกมากมาย

ตรรกวิทยาวิภาษวิธี (Dialectical Logic)
ตรรกวิทยาวิภาษวิธี หมายถึงการคิดหาเหตุผลเชิงโต้ เพื่อที่จะได้มาซึ่งบทสรุปที่ถูกต้อง

เฮเกล ได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่ไม่ถูกต้องย่อมขัดแย้งกันเองในเบื้องปลาย การพิจารณาแยกแยะคำสอนที่ผิดกลายเป็นการล้มทฤษฎีนั่นเอง และเลยกลายเป็นการตีความหมายอย่างใหม่ให้แก่มันด้วย เขาชี้แจงว่า การพิจารณาแยกแยะอย่างนั้น เริ่มต้นด้วยการเอาสิ่งตรงกันข้ามมาเสนอแทนความคิดนั้นเสียก่อน แล้วไปลงเอยด้วยการแสดงให้เห็นว่า ความจริงไม่ได้อยู่ที่ความคิดสองประการอันตรงกันข้ามนั้น หากอยู่ที่ความคิดประการที่สามอันรวมเอาไว้ซึ่งภาวะที่ตรงกันในความคิดที่ขัดแย้งกันนั้น

จะเห็นว่า ความแท้จริงจะดำเนินจาก Concept เชิงเดี่ยวเป็นนามธรรม ตัวอย่างเช่นฟาร์มีนิเดส ถือว่า being คงทนถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง เฮราคิตุส ถือว่า being เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นักปรมาณูนิยมถือว่า being ไม่เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นทั้งสองอย่างคือ บางอย่างคงทนถาวร บางอย่างเปลี่ยนแปลง concept ใหม่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วกลายเป็น concept อื่นๆ อีกต่อไป กระบวนการวิภาษวิธีดำเนินต่อไปจนถึง concept อันติมะ หรือ Notion

การถกเถียงปัญหาโดยเสนอความเห็นที่แตกต่างกันนี้ ความจริงก็เป็นวิธีของนักคิดทั่วโลก หากนักคิดส่วนมากลืมไป เพราะมักคิดคนเดียวและแต่เอาความคิดเห็นของตนเฮเกลเพียงแนะให้ใช้วิธีนี้ในการคิดคนเดียวด้วยเท่านั้น

ตรรกวิทยาวิภาษวิธี จึงไม่ใช่การนำกฎแห่งความคิดมาใช้ตามแบบฉบับ หากนำข้อเสนอที่แย้งกันอยู่มาพิจารณาด้วย นี่เป็นการฝึกวิธีวิจารณ์ตัวเองนั่นเอง

การโต้วาทีกับตัวเองนี้ หากกระทำไปอย่างไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเองแล้ว ก็มีหวังจะพบกับมติที่ถูก แต่ข้อนี้ ไม่ควรเชื่อเลยไปถึงกับว่าวิธีคิดแบบวิภาษวิธีนี้ จะทำให้เรารู้ความจริงได้ เพราะเราควรยึดมั่นอยู่ในหลักที่ว่า ความรู้ย่อมได้มาจากการรับรู้ทางผัสสะ

เฮเกล ได้ยกตัวอย่างวิธีคิดที่เขาได้กระทำมาแล้วในข้อความข้างต้น เขาเรียกความคิดทั้งสามอย่างอันได้จากการพิจารณาความคิดสองครั้งแรกว่า ไตรแอด ตัวอย่างที่เขายกให้เห็นมีดังนี้

เมื่อเราตั้งข้อเสนอมาว่ามีสิ่งบริสุทธิ์หรือสิ่งที่มีอยู่อย่างบริสุทธิ์ นั้นก็จะมีสิ่งที่แย้งกัน คือ สิ่งที่ไม่มีอย่างบริสุทธิ์ซึ่งก็คือความสูญนั่นเอง แต่สองอย่างนี้ มีอะไรรวมกันอย่างไม่แย้งกัน นั่นคือ ลักษณะอันเราอาจค้นคิดได้หรือคิดถึงได้ ไตรแอดจึงเป็นดังนี้

  • สิ่งที่มีอยู่อย่างบริสุทธิ์สิ่งที่เป็นความสูญอย่างบริสุทธิ์
  • สิ่งที่อาจนึกถึงได้

ตัวอย่างไตรแอดดังที่เฮเกลยกมาอ้างนี้ ดูจะไม่มีความจำเป็นอย่างไร คงมีประโยชน์อยู่ตรงการพิจารณาข้อคิดโดยการคิดสืบต่อไปว่า มันแย้งตัวเองบ้างอย่างไรเท่านั้น

เฮเกลเริ่มสร้างความคิดทางปรัชญาจากข้อสรุปที่ว่า ความแท้จริงอันติมะเป็นสิ่งที่คนเราอาจคิดได้ หรือ อีกนัยหนึ่งมันมีลักษณะที่จะใช้ยืนยันได้ ความคิดในเรื่องนี้จึงแยกออกได้เป็นหลักสองประการคือ

  1. ความแท้จริงอันติมะเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์
  2. ความจริงอันติมะเป็นเจตภูต

เฮเกลพิสูจน์ความจริงของหลักสองประการนี้ไว้ด้วยวิภาษวิธีดังกล่าวมาแล้วด้วยการสมมติความคิดที่แย้งกันขึ้น เขาพิสูจน์ให้เห็นว่า ในการนี้จะเกิดการแย้งตัวเองขึ้นในบั้นปลาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย