สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความยุติธรรม

โสเครตีส และเพลโต

  • การสอนของโสเครตีสเป็นการศึกษาเรื่องของมนุษย์ แต่ความพยายามของโสเครตีสที่จะให้เข้าใจสิ่งที่เป็นของมนุษย์นั้น มีรากฐานมาจากความคิดเกี่ยวกับ “สิ่งทั้งปวง” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเข้าใจความเป็นเอกภาพที่ปรากฏออกมาในส่วนประกอบต่างๆ ที่แฝงไว้ด้วยความหมายของส่วนทั้งหมดที่สมบูรณ์
  • ปรัชญาการเมืองของโสเครตีสเป็นรูปแบบของบทสนทนา
  • โดยทั่วไป เราศึกษาความคิดของโสเครตีสผ่านงานเขียนของเพลโต ที่จดบทสนทนาระหว่างโสเครตีสกับคู่สนทนาคนอื่น เพราะโสเครตีสไม่เคยเขียนอะไรเอาไว้เลย การศึกษาปรัชญาการเมืองของโสเครตีสจากบทสนทนา จึงเป็นความพยายามที่จะเข้าใจโสเครตีสผ่านเพลโต โดยมีความสำนึกในเงื่อนไขสำคัญๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ยูไทโฟร

  • บทสนทนาเรื่องยูไทโฟรเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นวิธีการของโสเครตีสในการได้ความรู้ นั่นก็คือ การแสดงตนว่าไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ แล้วก็ซักถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงกับคำถาม และไม่สามารถแย้งได้อีก (การหาความรู้ ความจริง) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือวิธีการเช่นนี้มันเผยให้เห็นถึงความไม่รู้ของคู่สนทนาที่คิดว่าตนเองรู้ในเรื่องนั้นนั่นเอง

เรื่องย่อ

  • โสเครตีสมาพบยูไทโฟรหน้าศาล และได้พูดคุยสนทนาซักถามกันว่ามาทำอะไรที่ศาล สำหรับโสเครตีสมาเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาจากการถูกเมเลตัสฟ้องว่าโสเครตีสได้ทำให้เด็กหนุ่มเสียคนเพราะสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่และไม่เชื่อในเทพเจ้าองค์เดิม ส่วนยูไทโฟรบอกว่าตนเองมาฟ้องพ่อ เพราะพ่อได้ทำร้ายทาสจนถึงแก่ความตาย ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของการสนทนาเพื่อหาคำตอบว่าศาสนธรรมคืออะไร และสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรมคืออะไร กล่าวคือ สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันให้คดีของโสเครตีสและยูไทโฟรก็คือเรื่องของการให้คำนิยามของศาสนธรรม ข้อกล่าวหาของโสเครตีสที่ว่าทำให้เด็กหนุ่มเสียคนเพราะสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่นั้นก็คือข้อกล่าวหาที่ว่ากระทำสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรม ส่วนข้อฟ้องร้องของยูไทโฟรต่อบิดาก็คือข้อฟ้องร้องว่าการฆ่าคนตายของบิดาตนนั้น เป็นกระทำสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรมเช่นเดียวกัน แม้คนในครอบครัวของยูไทโฟรจะบอกว่าการที่ยูไทโฟรฟ้องบิดาตนเองต่างหากคือสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรม (สังเกตว่าการฟ้องร้องของยูไทโฟรแม้จะเป็นเรื่องของครอบครัว แต่สิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันรัฐโดยตรงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อมองเช่นนี้แล้ว จะพบว่าระดับของความสำคัญไม่แตกต่างจากคดีของโสเครตีสเลย)
  • ยูไทโฟรบอกว่าการปฏิบัติศาสนธรรมก็คือการฟ้องร้องต่อผู้ที่กระทำผิด แม้ว่าเขาอาจเป็นคนในครอบครัวคือบิดาของยูไทโฟรเองก็ตาม ยูไทโฟรยกตัวอย่างโดยอ้างเทพเจ้าว่า ขนาดเทพเจ้าซุสยังล่ามโซ่บิดาของตนเพราะกินบุตรอย่างชั่วร้าย และบิดาของซุสก็ทำให้บิดาของตนต้องพิการมาแล้วด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่โสเครตีสมองว่าการให้ความหมายของศาสนธรรมของยูไทโฟรเป็นเพียงการมองแบบกรณีเดียวนั่นก็คือกรณีที่ตนฟ้องพ่อว่าทำผิด ไม่ได้เป็นการหาความหมายที่แท้จริงเป็นสากลซึ่งใช้ได้กับทุกกรณี
  • ยูไทโฟรจึงตอบใหม่ว่า อะไรที่เป็นที่รักของเทพเจ้าย่อมเป็นศาสนธรรม ส่วนอะไรที่ไม่ใช่ที่รักของเทพเจ้า เป็นสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรม แต่โสเครตีสแย้งว่าจริงๆ แล้ว ในบรรดาเทพเจ้าก็ยังทะเลาะ มีความเห็นไม่ตรงกัน และมีข้อขัดแย้งกันอยู่ (ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า การยอมรับว่าเทพเจ้าเป็นมาตรฐานกำหนดการกระทำของมนุษย์นั้น ใช้ไม่ได้ผล – นักศึกษาที่สนใจโปรดอ่านตำราเทพเจ้ากรีก หาอ่านได้ทั่วไปตามห้องสมุด หรือร้านหนังสือ) ดังนั้น สิ่งเดียวกัน อาจเป็นได้ทั้งศาสนธรรม (สำหรับเทพเจ้ากลุ่มหนึ่ง) และขัดกับศาสนธรรม (สำหรับเทพเจ้าอีกกลุ่มหนึ่ง) และข้อขัดแย้งระหว่างเทพเจ้านั้น ก็ไม่แตกต่างจากข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์ คือเป็นเรื่องของการกระทำระหว่างบุคคลที่ขัดแย้งกันเฉพาะเรื่องเฉพาะราย
  • ยูไทโฟรจึงตอบใหม่ว่า สิ่งที่เทพเจ้าทั้งปวงรักคือศาสนธรรม และสิ่งที่เทพเจ้าทั้งปวงเกลียดคือสิ่งที่ขัดกับศาสนธรรม – ตรงนี้ให้นักศึกษาสังเกตคำว่า “ทั้งปวง” มันคือความพยายามของยูไทโฟรที่หาความเป็นสากลเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ตนเองได้พูดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการแย้งของโสเครตีสว่าสิ่งที่เทพเจ้ารักและเกลียดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นสากลเพราะเทพเจ้าไม่ได้เห็นพ้องต้องกันหมดทุกองค์ – โสเครตีสแย้งโดย
  1. การถามว่า “สิ่งซึ่งเป็นศาสนธรรม เป็นที่รักของเทพเจ้าเพราะว่าเป็น ศาสนธรรม หรือว่าสิ่งนั้นเป็นศาสนธรรมเพราะเป็นที่รักของเทพเจ้า?” [อธิบาย ประโยคที่ว่า “ศาสนธรรมเป็นที่รักของเทพเจ้าเพราะว่าเป็นศาสนธรรม” ก็คือ สิ่งหนึ่งที่เป็นศาสนธรรมสิ่งนั้นเทพเจ้าจะรัก (สิ่งหนึ่งที่เป็นศาสนธรรม เทพเจ้าเห็นแล้วก็รัก) ส่วนประโยคที่ว่า “สิ่งนั้นเป็นศาสนธรรมเพราะเป็นที่รักของเทพเจ้า” หมายถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถูกเทพเจ้ารักสิ่งนั้นคือศาสนธรรม] คำตอบก็คือประโยคแรกที่ว่า “ศาสนธรรมเป็นที่รักของเทพเจ้าเพราะว่าเป็นศาสนธรรม” ไม่ใช่ประโยคที่ว่า “สิ่งนั้นเป็นศาสนธรรมเพราะเป็นที่รักของเทพเจ้า” เพราะศาสนธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อถูกเทพเจ้ารัก แต่ว่ามีเทพเจ้าไปรักมันเข้าต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาสนธรรมเป็นที่รักเพราะว่าเป็นศาสนธรรม ไม่ใช่ว่าสิ่งหนึ่งเป็นศาสนธรรมเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกรัก (ตรงนี้โสเครตีสยกตัวอย่างเปรียบเทียบ คือ การแบก/ถูกแบก และการเห็น/การถูกเห็น นั่นก็คือ การที่คนแบกอะไรหรือเห็นอะไร ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งนั้นถูกกำหนดให้เป็นสิ่งที่ถูกแบกหรือถูกเห็น แต่เพราะมีคนไปแบกหรือไปเห็นมันเข้าต่างหาก)
  2. แต่สิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า เป็นที่รักของเทพเจ้าและถูกรักโดยเทพเจ้า ก็เพราะเทพเจ้ารัก กล่าวคือ เทพเจ้ารักสิ่งหนึ่งก็โดยเหตุผลแห่งความรักของเทพเจ้าเอง ไม่ใช่ว่าเทพเจ้าจะรักสิ่งนั้นเพราะสิ่งนั้นเป็นที่รัก (คือสิ่งหนึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า ก็เพราะสิ่งนั้นถูกเทพเจ้ารัก God’s done it ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นเป็นที่รักของเทพเจ้า เพราะสิ่งนั้น born to be หรือ in itself ให้เกิดมาเป็นสิ่งที่เทพเจ้ารัก)

เมื่อเอาข้อ 1 กับข้อ 2 มารวมกันจะพบว่า ศาสนธรรมกับสิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะสิ่งหนึ่ง (สิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า) เป็นที่รักได้โดยเหตุแห่งความจริงที่ว่าสิ่งนั้นถูกรัก แต่อีกสิ่งหนึ่ง (ศาสนธรรม) ถูกรักก็เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าที่จะรักโดยตัวของมันเอง

  • โสเครตีสเริ่มหาความหมายของศาสนธรรมใหม่ โดยเริ่มประโยคให้ยูไทโฟรพิจารณา โสเครตีสถามว่า “ท่านคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นศาสนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยใช่หรือไม่?” [ตรงนี้แสดงให้เห็นวิธีการของโสเครตีสอีกอย่าง คือ การหาคำนิยามของสิ่งหนึ่งโดยใช้วิธีเริ่มต้นคำนิยามจากสิ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แล้วค่อยๆ ทำให้ความหมายของคำจำกัดความนั้นชัดเจนขึ้น] ยูไทโฟรตอบว่า “ใช่” โสเครตีสจึงถามกลับว่า “แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกต้องนั้นเป็นศาสนธรรมด้วยหรือไม่ หรือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นศาสนธรรมนั้นถูกต้องด้วย แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ถูกต้องนั้นต้องเป็นศาสนธรรม มีบางส่วนที่เป็นศาสนธรรมและบางส่วนเป็นอย่างอื่น?” คือ ตรงนี้โสเครตีสกำลังถามว่า ศาสนธรรม = ทุกสิ่งที่ถูกต้อง หรือ ศาสนธรรมเป็นเพียงsubsetของสิ่งที่ถูกต้อง ยูไทโฟรตอบว่า ศาสนธรรมเป็นเพียงsubsetของสิ่งที่ถูกต้อง – ศาสนธรรมคือความถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับการเอาใจใส่ต่อเทพเจ้า ซึ่งนอกจากความถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับการเอาใจใส่ต่อเทพเจ้าแล้ว ยังมีความถูกต้องอื่นอีก นั่นก็คือความถูกต้องที่เกี่ยวกับการให้บริการแก่มนุษย์

    โสเครตีสสงสัยว่า การเอาใจใส่ต่อเทพเจ้าจะใช่ศาสนธรรมหรือไม่ โดยเขาแสดงตัวอย่างถามยูไทโฟรให้เห็นว่า ผู้ขับขี่ม้าต้องเอาใจใส่ต่อม้า และการเอาใจใส่ดูแลม้าจะให้ผลประโยชน์กับตัวม้า เช่นเดียวกับนายพรานต้องเอาใจใส่สุนัขล่าสัตว์ และคนเลี้ยงวัวต้องเอาใจใส่ต่อวัว ซึ่งสุนัขล่าสัตว์และวัวก็จะได้รับประโยชน์จากการเอาใจใส่นั้นด้วย ยูไทโฟรเห็นด้วย โสเครตีสจึงวกกลับมาถามว่า แล้วถ้าศาสนธรรมคือการเอาใจใส่ต่อเทพเจ้า ก็แสดงว่าเทพเจ้าจะได้รับประโยชน์จากกิจการหรือการกระทำอันเป็นศาสนธรรมใช่หรือไม่? ยูไทโฟรก็จนแต้มอีกเช่นเดิม
  • โสเครตีสจึงถามใหม่ว่า แล้วการเอาใจใส่ต่อเทพเจ้าอย่างไหนกันที่เป็นศาสนธรรม ยูไธโฟรตอบว่า ก็แบบเดียวกับที่คนรับใช้ให้ต่อนายของตน โสเครตีสถามกลับว่า ที่ยูไธโฟรพูดถึงคือหมายถึงบริการอย่างหนึ่งที่ให้แก่เทพเจ้าใช่หรือไม่ ยูไทโฟรตอบว่าใช่ โสเครตีสจึงย้อนถามอีกว่า การให้บริการหรือรับใช้แพทย์ จะได้ผลคือการมีสุขภาพที่ดี ช่างต่อเรือก็รับใช้ให้เกิดผลคือเรือ และช่างก่อสร้างบ้านก็รับใช้ให้เกิดบ้าน ยูไทโฟรเห็นด้วย โสเครตีสจึงถามว่าแล้วสำหรับศาสนธรรม เทพเจ้าจะได้รับผลลัพธ์อะไรจากการรับใช้หรือบริการแก่เทพเจ้า ยูไทโฟรเบี่ยงประเด็นตอบว่า การกระทำที่เป็นที่ชื่นชมแก่เทพเจ้าด้วยการสวดและสังเวยคือศาสนธรรม และการกระทำเช่นนั้นย่อมนำครอบครัวและรัฐให้รอดพ้น และสิ่งซึ่งตรงกันข้ามย่อมขัดกับศาสนธรรมและล้มล้างทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง โสเครตีสจึงถามว่าการสวดคือการขอของกำนัลจากเทพเจ้า และการสังเวยคือการมอบของกำนัลให้แก่เทพเจ้าใช่หรือไม่ ยูไทโฟรตอบว่าใช่ โสเครตีสจึงสรุปว่า ศาสนธรรมก็คงจะได้แก่ศิลปะของการแลกเปลี่ยนระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ใช่หรือไม่ ยูไทโฟรตอบว่าใช่ จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ โสเครตีสจึงย้อนกลับไปถามคำถามก่อนหน้าว่า แล้วถ้าเราให้ของกำนัลแก่เทพเจ้า เทพเจ้าจะได้รับผลประโยชน์อะไรจากเรา? ยูไทโฟรตอบว่า ได้รับเกียรติยศและคำสรรเสริญ และความกตัญญูรู้คุณ
  • ตรงจุดนี้เป็นบทสรุป เพราะเมื่อยูไทโฟรตอบว่าศาสนธรรมคือความกตัญญูรู้คุณ แต่ความกตัญญูรู้คุณเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าสำหรับเทพเจ้า (เป็นสิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า) เพราะความกตัญญูเป็นประโยชน์ที่เทพเจ้าจะได้รับจากการที่เราให้ของกำนัลแก่เทพเจ้า แต่บทสนทนาตอนต้นของยูไธโฟรกับโสเครตีสได้ข้อสรุปว่าศาสนธรรมไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า [ศาสนธรรมกับสิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เพราะสิ่งหนึ่ง (สิ่งซึ่งเป็นที่รักของเทพเจ้า) เป็นที่รักได้โดยเหตุแห่งความจริงที่ว่าสิ่งนั้นถูกรัก แต่อีกสิ่งหนึ่ง (ศาสนธรรม) ถูกรักก็เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าที่จะรักโดยตัวของมันเอง] กลายเป็นสิ่งที่ยูไทโฟรพูดวนกลับที่เดิม และหักล้างกันเอง เมื่อโสเครตีสอยากให้เริ่มต้นให้ความหมายศาสนธรรมใหม่ ยูไทโฟรก็ปฏิเสธบอกว่าตอนนี้ไม่ว่าง กำลังรีบ
  • สุดท้ายโสเครตีสจึงไม่ได้รับคำตอบจากยูไทโฟรเลยว่า ศาสนธรรมคืออะไร?

อโพโลจี

  • Apology อาจแปลได้ว่า การแก้ต่าง ในที่นี้ คือ โสเครตีสแก้คดีของตนในศาล จากการถูกเมเลตัสฟ้องว่าโสเครตีสได้ทำให้เด็กหนุ่มเสียคนเพราะสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่และไม่เชื่อในเทพเจ้าองค์เดิม วิธีการดำเนินเรื่องโดยทั่วไปจะเป็นการบรรยายคำพูดของโสเครตีส มีเพียงช่วงกลางๆ เรื่องเท่านั้นที่เป็นเหมือนบทสนทนาระหว่างโสเครตีสและเมเลตัส

เรื่องย่อ

  • โสเครตีสมาขึ้นศาลเพื่อแก้ต่างในคดีของตนจากการถูกกล่าว โสเครตีสบอกว่าตนถูกกล่าวหาโดยคน 2 พวก พวกแรกกล่าวหามานานแล้วว่าตน “กระทำการอันไม่ยุติธรรม เป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบค้นคว้าสิ่งที่อยู่ใต้พิภพและที่อยู่ในสวรรค์ และทำให้เหตุผลที่อ่อนกลายเป็นเหตุผลที่แข็งแรง และสอนสิ่งเหล่านี้กับคนอื่นๆ” (พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นพวกที่นินทาว่าโสเครตีสอวดรู้ แต่ไม่ได้ถึงขนาดฟ้องร้องขึ้นศาล) ส่วนพวกที่ 2 คือคนที่มาฟ้องโสเครตีส ทำให้เขาต้องมาขึ้นศาลแก้คดีในขณะนี้ชื่อ เมเลตัส ซึ่งกล่าวหาว่า “โสเครตีสเป็นผู้กระทำผิด เพราะทำให้เด็กหนุ่มเสียคน และไม่เชื่อถือในเทพเจ้าทั้งหลายที่นครนับถือ แต่เชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นซึ่งเป็นของใหม่”
  • ต่อข้อกล่าวหาของพวกแรก โสเครตีสยืนยันในเบื้องต้นว่าตนต่างกับพวกโซฟิสต์ เพราะไม่ได้สอนเพื่อเงิน อันที่จริงอาจหมายถึงเขาไม่ได้สอนใครเลยก็ได้ เพราะโสเครตีสยกตัวอย่างว่าลูกม้าลูกวัวสอนกันได้ แต่ลูกคนเขาไม่มีปัญญาสามารถสอนได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือแล้วทำไมอยู่ดีดีผู้คนถึงได้มีอคติว่าเขาอวดฉลาด ในการตอบคำถามนี้ เขาย้อนกลับไปถึงที่มาของเสียงเล่าลือที่ว่า เขาเป็นผู้มีปัญญา [ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ฉลาดในปัญญา แต่เป็นปัญญาที่เรียกว่าปัญญาของมนุษย์ (ตรงนี้อาจตีความได้ว่าการย้อนอดีตกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเสียงล่ำลือว่าเขามีปัญญาของเขาเองถือเป็นการอ้างให้สมเหตุผล และการยอมรับว่าตนเองมีปัญญาก็คือการยอมรับแบบ ‘ประชดประชัน’ ด้วย)] ที่มานั้นก็คือ ชายที่ชื่อแคเรฟอน ซึ่งเป็นสหายของโสเครตีส ได้ไปถามคนทรงเทพเจ้าแห่งเดลฟีว่ามีใครฉลาดกว่าโสเครตีสหรือไม่ คนทรงก็ตอบว่า ไม่มีใครฉลาดกว่าโสเครตีสอีกแล้ว โสเครตีสสงสัยว่าตนฉลาดกว่าผู้อื่นจริงหรือไม่ เขาจึงไปหาผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาและทำการสนทนาซักถาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โสเครตีสไล่ต้อนคนเหล่านั้นจนจนมุม แม้คนทั่วไปจะคิดว่าผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาฉลาด และเหนืออื่นใดคือตัวของผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาเหล่านั้นก็คิดว่าตนเองฉลาด แต่จากการสนทนาแล้วโสเครตีสพบว่าพวกเขาไม่ได้ฉลาดเลย เพราะพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองโง่ ที่จริงๆ แล้วไม่รู้แต่คิดว่ารู้ โสเครตีสจึงพยายามแสดงให้เขาเห็นว่าที่เขาคิดว่าตนเองฉลาดนั้น แท้จริงแล้วเขาไม่ฉลาดจริง ผลลัพธ์ก็คือ เขาและคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกัน พากันเกลียดชังโสเครตีส โสเครตีสจึงได้ข้อสรุปว่า ตัวเขาเองฉลาดกว่าผู้ที่มีชื่อเสียงทางปัญญาเหล่านั้น เพราะแม้ว่าทั้งตัวเขาและผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาจะไม่รู้ในเรื่องต่างๆ เหมือนกัน แต่ผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาคิดว่าตนรู้ในสิ่งซึ่งแท้จริงแล้วตนไม่รู้ ในขณะที่โสเครตีสแม้จะไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่ได้คิดว่าตนรู้ (คือรู้ว่าตัวเองไม่รู้) นั่นทำให้โสเครตีสสรุปว่าเขาฉลาดกว่าผู้มีชื่อเสียงทางปัญญาเหล่านั้น หลังจากผู้มีชื่อเสียงทางปัญญา โสเครตีสก็ไปทำเช่นเดียวกันกับนักเขียน และผู้ที่ทำงานด้วยมือ(ช่างฝีมือ) กล่าวคือ แม้คนเหล่านี้จะมีความสามารถเฉพาะอย่างเหนือกว่าโสเครตีส รู้เรื่องเฉพาะอย่างดีกว่าโสเครตีส (นักเขียนก็รู้เรื่องกลอน ผู้ที่ทำงานด้วยมือก็รู้เรื่องการช่าง) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนเหล่านี้มักจะคิดว่าตนเองฉลาดในเรื่องอื่นๆ ด้วย โสเครตีสจึงพอใจในสิ่งที่ตนเองเป็น ก็คือ ไม่ฉลาดในเรื่องที่คนเหล่านั้นฉลาด (เช่น นักเขียนฉลาดในเรื่องกลอน หรือช่างก็ฉลาดในเรื่องการช่าง โสเครตีสไม่อยากฉลาดในเรื่องเหล่านั้น) แต่ก็ไม่โง่ในสิ่งที่พวกเขาโง่ (คือการที่พวกนักเขียนหรือพวกช่างคิดว่าตนรู้เรื่องอื่นนอกจากเรื่องกลอนหรือการช่างด้วย ทั้งที่จริงแล้วไม่รู้ แต่โสเครตีสรู้ว่าตนเองไม่รู้ นั่นเอง)
  • ตรงนี้เป็นที่มาของผู้กล่าวหาโสเครตีสพวกที่ 2 เพราะเมื่อเด็กหนุ่มเอเทนส์เห็นโสเครตีส ก็เลียนแบบโดยการไปถามคนอื่น ซึ่งทำให้พวกเด็กหนุ่มค้นพบว่า มีคนอยู่จำนวนมากที่คิดว่าตนเองรู้อะไร แต่จริงๆ แล้วรู้น้อยหรือไม่รู้เลย ผลก็คือคนที่ถูกเด็กหนุ่มถามพากันโกรธโสเครตีสและกล่าวหาว่าทำให้เด็กหนุ่มเสียคน และนี่คือสาเหตุที่เมเลตัสมาฟ้องร้องโสเครตีส นั่นเอง
  • เมเลตัสฟ้องร้องโสเครตีสว่า “โสเครตีสเป็นผู้กระทำผิด เพราะทำให้เด็กหนุ่มเสียคน และไม่เชื่อในเทพเจ้าทั้งหลายที่นครนับถือ แต่เชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างอื่นซึ่งเป็นของใหม่” ต่อข้อกล่าวหาของเมเลตัส ซึ่งเป็นคนพวกที่2 นั้น โสเครตีสยืนยันในเบื้องต้นว่าเมเลตัสเป็นคนประเภทชอบเล่นตลกแบบจริงจัง โดยการฟ้องร้องคดีความให้พัวพันถึงผู้อื่นอย่างไม่เอาจริง เสแสร้งทำตนว่าเป็นผู้กระตือรือร้น และเอาใจใส่ในสิ่งที่เขาไม่เคยเอาใจใส่เลยแม้แต่น้อย โสเครตีสพิสูจน์ข้อความข้างต้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 โสเครตีสเริ่มถามเมเลตัสว่า เป็นเรื่องสำคัญไหมที่คนหนุ่มๆ ควรจะเป็นคนดีเท่าที่เป็นไปได้ เมเลตัสตอบว่า ใช่ ต้องเป็นเช่นนั้น โสเครตีสจึงถามต่อว่าแล้วใครทำให้เด็กหนุ่มดีขึ้น ถามไปถามมา เมเลตัสก็สรุปว่า คนทุกคนทำให้เด็กหนุ่มดีขึ้น ยกเว้นโสเครตีส โสเครตีสจึงสงสัยว่าจะเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือ ที่มีเพียงคนคนเดียวทำให้พวกเขาเสียคน ในขณะที่คนอื่นๆ ล้วนทำให้พวกเขาเป็นคนดี (พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กเสียคนเพราะคนเพียงคนเดียว แต่คนแวดล้อมอื่นๆ ทั้งหมดเป็นคนดี ได้จริงหรือ) ส่วนที่ 2 โสเครตีสถามเมเลตัสว่า คนเลวก่อความชั่วร้ายให้เกิดแก่ผู้ที่อยู่กับเขาเมื่อใดก็ได้ และคนดีก่อให้เกิดผลดีแก่ผู้ที่อยู่ด้วยใช่ไหม เมเลตัสตอบว่า ใช่ โสเครตีสจึงถามต่อว่า แล้วมีใครบ้างที่อยากให้คนที่อยู่ด้วยกันทำร้าย มีใครบ้างที่อยากให้ตัวเองถูกทำร้าย เมเลตัสตอบว่า ไม่มี โสเครตีสจึงถามว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมเมเลตัสจึงฟ้องโสเครตีสในข้อหาเจตนาทำให้เด็กหนุ่มเสียคน เมเลตัสคิดว่าโสเครตีสโง่จนไม่รู้เลยหรือว่าถ้าตนทำให้ผู้ที่คบค้าสมาคมด้วยเป็นคนเลว ตนเองก็จะอยู่ในภาวะอันตรายที่จะได้รับผลร้ายอะไรบางอย่างจากเขาด้วย (เพราะตรรกะตอนแรกบอกว่าไม่มีใครอยากอยู่กับคนเลว เพราะไม่อยากถูกทำร้าย) ดังนั้น โสเครตีสจึงบอกว่า ตนเองไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มเสียคน หรือถ้าทำ ก็น่าจะทำไปโดยไม่เจตนามากกว่า ถ้าโสเครตีสเป็นเช่นนั้น จริงๆ เมเลตัสน่าจะฟ้องว่าโสเครตีสไม่เจตนามากกว่า ซึ่งจะทำให้โสเครตีสถูกนำตัวไปอบรมสั่งสอนเป็นการส่วนตัว ซึ่งโสเครตีสบอกว่า ถ้าเมเลตัสบอกให้ตนรู้เรื่องนี้ และเอาโสเครตีสไปสั่งสอนเป็นการส่วนตัว ตนก็คงจะหยุดทำสิ่งซึ่งตนทำไปโดยไม่เจตนา แต่นี่เมเลตัสกลับหลีกเลี่ยงไม่คบค้าสมาคมและไม่สั่งสอน และเอาตัวโสเครตีสมาที่ศาลที่ซึ่งทำการลงโทษคนผิดไม่ใช่การสั่งสอน โสเครตีสจึงสรุปว่า เมเลตัสไม่เคยเอาใจใส่ต่อเรื่องเหล่านี้เลย
  • ต่อมา โสเครตีสทวนข้อกล่าวหา ถามเมเลตัสว่า เมเลตัสกล่าวหาว่าโสเครตีสเชื่อในเทพเจ้าองค์ใหม่ หรือกล่าวหาว่าโสเครตีสไม่เชื่อในเทพเจ้าเลย (ตรงนี้ต้องเอาให้ชัวร์ เพราะความผิดต่างกัน และบทลงโทษก็ต่างกัน) เมเลตัสตอบว่า ตนฟ้องว่าโสเครตีสไม่เชื่อในเทพเจ้าเลย โสเครตีสบอกเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาเชื่อในสิ่งซึ่งเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์) ซึ่งไม่มีทางที่คนคนหนึ่งจะเชื่อว่ามีสิ่งซึ่งเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ แต่ไม่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น โสเครตีสจึงบอกว่าตนเองไม่เป็นผู้กระทำผิด
  • ต่อมา โสเครตีสบอกว่า อาจมีคนสงสัยว่าการกระทำของโสเครตีสดังกล่าวอาจเป็นผลให้โสเครตีสตกอยู่ในอันตรายจนถึงตายได้ โสเครตีสไม่กลัวหรือ โสเครตีสบอกว่าตนไม่กลัว เพราะ (1) เมื่อมนุษย์กำหนดตนเองให้อยู่ ณ ที่ใดก็ตาม ซึ่งเขาคิดว่าดีที่สุดที่จะอยู่ ณ ที่นั่น หรือ (2) เมื่อเขาถูกกำหนดให้อยู่ ณ ที่นั้นโดยผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะ (1) หรือ (2) เขาผู้นั้นก็ต้องอยู่ที่นั่นและเสี่ยงเอา โดยต้องไม่คำนึงถึงความตายหรือสิ่งอื่นใดที่น่าอับอายยิ่งกว่า ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ตัวเขาเอง (โสเครตีส) ก็คงได้ชื่อว่าได้กระทำในสิ่งที่เลวร้าย โสเครตีสเสริมว่า การกลัวตายไม่ใช่อื่นใด นอกจากการคิดว่าตนฉลาดในเมื่อตนไม่ฉลาด เพราะไม่มีใครรู้เรื่องเกี่ยวกับความตายว่าดีหรือเลว โสเครตีสจึงบอกว่าเขาฉลาดกว่าใคร เพราะในเมื่อไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับภพอื่น เขาก็ไม่คิดว่าตนรู้ แต่เขารู้ว่าการกระทำในสิ่งที่ผิดและไม่เคารพเชื่อฟังผู้ที่ดีกว่าเป็นความชั่วและน่าละอาย เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่มีวันกลัวหรือหลบหลีกสิ่งซึ่งเขาไม่รู้ว่าดีหรือเลว (ความตาย) แทนสิ่งที่เขารู้ว่าเลว (การกระทำผิดและไม่เคารพเชื่อฟังผู้ที่ดีกว่า) ดังนั้น ถ้าศาลปล่อยเขาไปแล้วบอกว่าอย่าทำอย่างนั้นอีก แต่เขาจะทำอีก แต่ถ้าไม่ปล่อย เขาก็ยังคงจะตรวจสอบและซักถามเหมือนเดิมอยู่ดี แต่การกระทำของเขาไม่ใช่เพื่อเรียกร้องเงินทองในการแลกความรู้ ทั้งๆ ที่บ้านตัวเองจน แต่เป็นในฐานะพลเมืองเอเทนส์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เอาใจใส่ในปัญญา ความจริง และการทำจิตให้สมบูรณ์

ไครโต

  • เรื่องย่อในไครโต โสเครตีสสนทนากับไครโตในคุก โดยไครโตไม่ได้มาเยี่ยมโสเครตีส แต่มาเพื่อโน้มน้าวให้โสเครตีสหนี และพาโสเครตีสหนี จากที่เมเลตัสฟ้องร้อง และโสเครตีสถูกตัดสินโทษให้ดื่มยาพิษตาย โสเครตีสปฎิเสธ
  • โสเครตีสปฏิเสธที่จะหนีตามที่ไครโตเสนอ เพราะเขาบอกว่า เราไม่ควรจะสนองการกระทำที่ผิดด้วยการกระทำที่ผิด คือเราไม่ควรสนองการตัดสินผิดของชาวเอเทนส์ ด้วยการแหกคุก เนื่องจากโทษของโสเครตีสเป็นมติของมหาชนชาวเอเทนส์ การหนีไปโดยที่ชาวเอเทนส์ไม่ยินยอมจึงถือเป็นการกระทำที่ผิด โสเครตีสบอกว่า แม้รัฐจะทำผิดต่อเราหรือพิจารณาคดีไม่ถูกต้อง แต่ว่ามันถือเป็นข้อตกลงที่เราให้ไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะทำตามคำตัดสินของรัฐ ขยายความได้ว่า ตนเอง (โสเครตีส) ถือกำเนิดภายใต้รัฐ จากกฎหมายของรัฐ ได้แก่ กฎหมายสมรสของบิดามารดา กฎหมายเลี้ยงดูเด็กหลังจากที่เกิดมา และกฎหมายการให้การศึกษา ดังนั้นเขาจึงเป็นเหมือนลูกหรือทาสของรัฐ ไม่ใช่บุคคลผู้เสมอหรือเท่าเทียมกับรัฐ เขาจึงไม่มีสิทธิที่จะตอบโต้รัฐ การไม่เชื่อฟังรัฐ จึงเหมือนเป็นการทำลายรัฐและชาวเอเทนส์ทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ รัฐเมื่อให้กำเนิดเขาขึ้นมาในโลกแล้ว ก็ได้เลี้ยงดูเขา ให้เขาและประชาชนทั้งหลายได้รับสิ่งที่ดีทั้งปวงที่สามารถทำได้ และยังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่พอใจกฎหมายของรัฐ มีเสรีภาพที่จะจากไปอยู่ที่อื่นก็ได้ การที่ยังคงอยู่จึงแสดงให้เห็นว่าตนเองพึงพอใจต่อกฎหมายของรัฐแล้ว ดังนั้น คนที่ไม่ทำตามคำสั่ง ถือว่าผิด 3 ประการ เลยทีเดียว คือ (1) ไม่เคารพรัฐผู้เป็นบิดามารดา หรือเป็นผู้เลี้ยงดู (2) หลังจากตกลงว่าจะเคารพรัฐ กลับไม่เคารพ (3) ไม่ทำให้รัฐเห็นว่ารัฐเป็นฝ่ายผิด ทั้งๆ ที่รัฐเปิดโอกาสให้แล้ว (คือรัฐให้อิสระในการย้ายที่อยู่ ถ้าตนเองไม่ชอบ ซึ่งการย้ายที่อยู่เป็นช่องทางที่ให้รัฐเห็นว่ารัฐผิดหรือไม่ชอบธรรม) และรัฐก็ไม่เคยบังคับอย่างรุนแรงให้ต้องปฏิบัติตามด้วย ดังนั้น ถ้าโสเครตีสไปอยู่ที่อื่น ก็แสดงว่าตนเองเป็นผู้ยึดเหนี่ยวกับชีวิตด้วยความตะกละอย่างไม่ละอาย นอกจากนี้คนในเมืองอื่นก็ต้องระแวงสงสัยได้ว่าเขา (โสเครตีส) เป็นผู้ทำลายกฎหมาย แล้วก็ยังต้องถูกคนอื่นนินทาเป็นขี้ปากชาวบ้านน่าหัวเราะเยาะเย้ยหยันด้วย
  • ส่วนเรื่องที่ไครโตบอกให้โสเครตีสหนีเพื่อนึกถึงบุตร โสเครตีสตอบว่าถ้าตนหนีไปที่อื่น จะต้องพาลูกหนีไปด้วย ลูกก็จะกลายเป็นพวกเนรเทศด้วยเช่นนั้นหรือ หรือถ้าบุตรได้รับการเลี้ยงดูที่เอเทนส์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อตนเนรเทศไปที่อื่นไม่ได้อยู่กับพวกเขาที่เอเทนส์ พวกเขาจะได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดียิ่งกว่าเมื่อตนตายไปแล้ว โสเครตีสเชื่อว่ามิตรสหายจะดูแลบุตรของเขาเมื่อเขาไปอยู่ในปรโลก ไม่ต่างจากถ้าหากเขาหนีไปอยู่ที่อื่นนอกกรุงเอเทนส์

The republic

  • The Republic (อุตมรัฐ) มาจากคำละติน RESPUBLICA ตรงกับภาษา กรีกว่า POLITELA หมายถึง ระบบการปกครองที่รัฐเป็นใหญ่ ชื่อเต็มๆ ของงานชิ้นนี้ในภาษากรีกคือ POLITEIA E PERI DIKAIOSUNES แปลว่า “เรื่องรัฐ หรือเรื่องอันเนื่องด้วยความยุติธรรม”

เรื่องย่อ

  • เกริ่นเริ่มเรื่องโดยโสเครตีสเล่าว่าไปดูพิธีทางศาสนาที่เมืองไพเรอุส นอกกรุงเอเทนส์ แล้วไปเจอกับโปเลมาคัสและมิตรสหายบางคน พวกนั้นชวนให้อยู่ดูไฟในงานฉลองตอนค่ำ โสเครตีสจึงแวะไปที่เรือนโปเลมากัส พบเซฟาลุส ผู้เป็นบิดา เซฟาลุสบ่นขึ้นว่า คนเรานั้นเมื่อใกล้ตาย ความรวยความจนก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าใจคอบริสุทธิ์แค่ไหน ได้ทำการเพื่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อเทพยดาเพียงใด หากทำได้โดยยุติธรรม ก็ชื่อว่ามีความสุข ถึงตายก็นอนตาหลับ โสเครตีสเห็นเป็นโอกาสจึงถามขึ้นว่า ความยุติธรรมแปลว่าอะไร
  • เซฟาลุส บอกว่า ความยุติธรรมคือ การพูดความจริงและคืนหรือให้สิ่งที่คนๆ หนึ่งควรจะได้ โสเครตีส ไม่เห็นด้วย จึงยกตัวอย่างแย้งว่า ถ้าเราเคยยืมมีดหรืออาวุธจากคนๆ หนึ่งที่เรารู้จัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าเจ้าของมีดที่เรายืมมานั้นเกิดวิกลจริตและมาทวงมีดของเขาคืน เราจะทำอย่างไร หากว่าถ้าเราคืนมีดแล้ว แต่การกระทำอันยุติธรรมของเราก่อให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ตัวและผู้อื่นที่อาจเป็นคนรักของเราได้ แปลได้ว่า ความยุติธรรมของเราจึงกลายเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งขัดกับเหตุผลสำคัญที่เราปรารถนาให้เกิดความยุติธรรม เพราะเราคิดว่ามันเป็นสิ่งดี และถูกต้อง
  • โพลีมาคุส (Polemarchus) อ้างคำของไซมอนิเดสว่า ความยุติธรรมคือการกระทำต่อบุคคลอื่นอย่างเหมาะสม ขยายความว่า ดีต่อมิตร และร้ายต่อศัตรู โดยมิตรหมายถึงคนดี คนซื่อสัตย์สุจริต ศัตรูก็ตรงกันข้าม โสเครตีส สงสัยว่าจะเอาหลักเกณฑ์อะไรมาตัดสินว่าใครดี มนุษย์นั้นโดยทั่วไปก็มักพิจารณาเพื่อนมนุษย์ไปในทางที่ผิดได้เสมอ นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู และการกระทำที่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ที่ไม่ใช่มิตร ก็ย่อมหมายถึงการทำให้คนคนนั้นห่างความดียิ่งขึ้น
  • ทราซีมาคุส(Thrasymachus) บอกว่า ความยุติธรรมหมายถึงผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า ดังจะเห็นได้จากในทุกๆ รัฐ มีกฎหมายก็เพื่อประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองผู้มีอำนาจ ไม่เพียงแต่ผู้ปกครองเท่านั้น คนทั้งหมดหากได้โอกาสก็จะแสวงหาผลประโยชน์ของตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น ความยุติธรรมจึงย่อมประกอบด้วยการทำดีต่อตัวเอง แต่ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอยุติธรรม นั่นก็คือ อำนาจคือธรรม หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจเท่านั้นที่สามารถเป็นผู้กำหนดว่าธรรมคืออะไร อธรรมคืออะไร และผู้มีอำนาจก็ย่อมต้อง pro ว่าตัวเองมีธรรม แม้การกระทำของเขานั้นจะขัดกับธรรมตามที่คนทั่วไปเข้าใจ โสเครตีส แย้งว่า แม้ผู้ทรงอำนาจก็มักออกกฎหมายมาผิด ดำเนินนโยบายผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน นั่นจะถือว่าเป็นธรรมได้หรือ นอกจากนี้ โสเครตีสยืนยันว่า รัฐศาสตร์ก็เป็นศิลปะชนิดหนึ่ง เหมือนกับที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนอื่น รัฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน บุคคลรับใช้ตนเองได้ดีที่สุดไม่ใช่โดยนึกว่าตนมีผลประโยชน์ต่างจากคนอื่นในประชาคมทั้งมวล หากโดยยอมรับทัศนะที่ว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด และย่อมมีส่วนกระทบกระเทือนจากสิ่งที่บังเกิดแก่ส่วนรวม สิ่งดีต่อคนหนึ่งก็คือสิ่งดีต่อคนจำนวนมาก และสิ่งร้ายก็กล่าวได้ว่าเป็นเช่นเดียวกัน ผู้ปกครองที่ยุติธรรมจึงไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หากแต่แสวงหาผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยที่รู้ว่าความสุขสบายของตนไม่อาจแยกจากของประชาชนของตนได้
     
  • โกลคอนและอาไดแมนตัสบอกว่า มนุษย์มักยกย่องธรรมะมากมายว่าให้คุณ แต่โดยสภาพที่แท้จริง คนทุกคนย่อมกล้าฝืนธรรมะ ประพฤติอยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าแน่ใจว่าเมื่อทำไปแล้วไม่ต้องประสบผลอันร้าย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความยุติธรรมก็คือผลที่เกิดขึ้นจากความกลัวนั่นเอง (อธิบายเพิ่มก็คือ ความกลัวจะกำหนดให้เราไม่ทำชั่ว แม้ว่าเราอยากทำก็ตาม เช่น เราอยากโดดเรียน แต่เพราะกลัวว่าอาจารย์จะtest ก็เลยไม่โดดเรียน ไม่ใช่ว่าเราอยากมาเรียนเอง ซึ่งคนทั่วไปเวลามองว่าเรามาเรียนเขาก็จะคิดว่าเราทำดี แต่แท้ที่จริงแล้วการที่เราทำดีนั้น มีความกลัวแฝงอยู่) โสเครตีสยังไม่พอใจคำตอบนี้ เพราะโสเครตีสมองว่า ความยุติธรรมไม่ใช่ความกลัว เนื่องจากผู้ที่ทรงธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองจากธรรมนั้น และรัฐก็คือการรวมตัวของราษฎร ที่สามารถขยายขึ้นตามอัตราผู้ทรงธรรมซึ่งได้รับความคุ้มครองจากธรรม รัฐที่ทรงธรรมจึงย่อมได้รับความคุ้มครองจากธรรมด้วย
     
  • ดังนั้น โสเครตีส จึงหยุดการโต้แย้งความคิดเห็นของผู้อื่น ด้วยการเสนอความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมของตนเองว่าจริงๆ แล้วคืออะไร ซึ่งโยงเข้ากับการวิเคราะห์รัฐ เพราะการวิเคราะห์ ค้นหารัฐที่เป็นธรรม ก็คือการค้นค้นหลักความยุติธรรมของบุคคลเช่นเดียวกันนั่นเอง
     
  • เมื่อพิจารณาที่รัฐ รัฐแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน แต่ละรัฐควรมีเอกลักษณ์ของตนเอง พึ่งคุณสมบัติพิเศษของตนที่แตกต่างจากรัฐอื่นเพื่อความอยู่รอด และแสดงให้เห็นถึงความวิเศษมหัศจรรย์ของตน
     
  • และเมื่อพิจารณาถึงมนุษย์ภายในรัฐก็ไม่เท่ากันด้วย โดยมนุษย์แบ่งเป็น 3 ชนชั้น คือ ชนชั้นเหล็กหรือประชาชนทั่วไป ชนชั้นเงินหรือเสนาข้าราชการ ชนชั้นทองหรือผู้ปกครอง
     
  • จิตใจของคนเรานั้น (ทั้ง 3 ชนชั้น) ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย คือ ความอยาก กำลังความกล้าหาญ และเหตุผล องค์ประกอบทั้ง 3 อย่างในจิตใจของเรานี้ มักจะมีอย่างหนึ่งที่มีพลังครอบงำมากกว่าอีกสองอย่างเสมอ และลักษณะจิตใจกับหน้าที่ของคนแต่ละคนก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันด้วย กล่าวคือ
    (1) ผู้ที่มีความอยากสูงสุดเหนือความกล้าและเหตุผลเหมาะที่จะเป็นพ่อค้า ประชาชน ซึ่งอยากหาเงินหากำไร
    (2) ผู้ที่มีกำลังความกล้ามากกว่าเหตุผลและความอยาก ควรจะเป็นทหารเสนาข้าราชการ
    (3) ผู้ที่มีเหตุผลเหนือกว่าความกล้าและความอยากในจิตใจ เหมาะสมที่จะเป็นผู้ปกครอง
     
  • ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นเมื่อ ทั้ง 3 ชนชั้น สามารถควบคุมปัจจัย 3 ประการนี้ได้ คือ
    (1) พ่อค้าประชาชน ต้องรู้จักควบคุมความอยากของตนเอง
    (2) เสนาข้าราชการ ต้องใช้ความกล้าหาญของตนอย่างที่สุด
    (3) ผู้ปกครองที่มีเหตุผล ต้องใช้ปัญญาของตนเองเพื่อให้ประชาชนและเสนาข้าราชการไม่ซักถามหรือสงสัยในตัวผู้ปกครอง
    กล่าวอีกนัยหนึ่ง “การให้ทุกคนตามส่วนที่พึงได้รับ” หรือ ผลของการแบ่งแยกชนชั้นและหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนได้รับจากการมีคุณสมบัติเหมาะสมตามความถนัดและการศึกษาอบรมที่จะปฏิบัติ ก็คือ ความยุติธรรม ซึ่งขยายความออกเป็น 2 ส่วนคือ

    1) ความยุติธรรมที่พบได้ในรัฐ เป็นผลจากดุลยภาพอันกลมกลืนด้วยการแบ่งทำหน้าที่ที่พึงกระทำตามลักษณะเฉพาะของตน ได้แก่ การควบคุมตนเอง – ประชาชน, ความกล้าหาญ – เสนาข้าราชการ, และปัญญา - ผู้ปกครอง

    2) ความยุติธรรมสำหรับบุคคล เป็นผลที่เกิดจากความอดกลั้น ถ้าแต่ละคนถูกครอบงำด้วยแรงกระตุ้นทั้ง 3 คือ ความอยาก กำลังความกล้าหาญ และเหตุผล ซึ่งต้องใช้ให้พอเหมาะตามหน้าที่บทบาทที่ตนมีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น
     
  • ชนชั้นทองหรือ ผู้ปกครอง เป็นผู้มีความสามารถในการเป็น Philosopher King หรือ “ราชาปราชญ์” ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งรู้ได้จากการผ่านระบบการศึกษา ราชาปราชญ์ (อาจเป็นคนเดียวหรือกลุ่มก็ได้) เป็นผู้ที่รู้จักโลกของแบบ (form) และอยู่นอกถ้ำ (คือเห็นแสงสว่างแล้ว) และการจะเป็นราชาปราชญ์ได้ต้องผ่านระบบการศึกษา จนอายุได้ 55 ปี ตรงนี้จะเห็นว่าการปกครองไม่มีเรื่องของกฎหมาย แต่มาจากแผนการปกครองโดยอาศัยสติปัญญาและการฝึกอบรมผ่านการศึกษา

อริสโตเติล

  • เงื่อนไขแรกของความยุติธรรมสำหรับอริสโตเติลก็คือ รัฐ (จะได้เรียนต่อไปในสัปดาห์อื่น)

Nicomachaen Ethics

  • Nicomachaen Ehics ตั้งชื่อตามบุตรของอริสโตเติล ชื่อ นิโกมากี ที่เป็นผู้ครอบครองงานชิ้นนี้
  • บทความนี้พูดถึงความคิดทางจริยศาสตร์ของอริสโตเติล

สรุปเนื้อหา ดังนี้

  • ความดีขั้นสูงสุดก็คือความสุข
  • ความสุขเป็นกิจกรรมทางจิต ซึ่งมุ่งไปที่ผลได้บั้นปลาย กล่าวคือ เราเลือกความสุขเพราะต้องการความสุขเอง ไม่ได้เลือกความสุขเพราะต้องการสิ่งอื่น อย่างเช่น เกียรติยศ ความสนุกสนาน เหตุผล หรือคุณธรรม ซึ่งแม้ว่าสิ่งเหล่านี้ต่างก็มีคุณค่าในตัวเอง แต่ผลสุดท้ายมันก็เป็นมรรควิธีที่นำไปสู่ความสุข ดังนั้น การที่เราเลือกสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ความสนุกสนาน เหตุผล หรือคุณธรรม นั่นก็เพื่อที่เราจะได้มีความสุข (ตีความได้ว่า ความดีหรือความสุข เป็นได้ทั้ง mean และ end ; mean แปลว่า มรรควิธี ส่วน end แปลว่า จุดหมายปลายทาง และยังตีความได้อีกว่า เมื่อความสุขเป็นกิจกรรมที่มุ่งผลบั้นปลาย คนที่มีความดีจึงไม่สามารถอยู่เฉยๆ แล้วมีความดีได้ ในการที่จะรู้ว่าดีหรือไม่ได้นั้น จะต้องมีการกระทำหรือการแสดงออกให้เห็นว่านี่คือทำดี นี่คือทำไม่ดี)
  • ความสุขคือสิ่งซึ่งมีความพอเพียงในตัวเอง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน่าพึงพอใจ โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งอื่น และไม่จำเป็นต้องอาศัยสิ่งอื่น คนที่มีความสุข จึงเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ดีและเป็นคนที่ทำดี และตัวความสุขจึงเท่ากับการมีชีวิตที่ดีและการกระทำที่ดี และความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สูงส่งที่สุด และน่าพึงพอใจที่สุด (ตีความได้ว่า ความสุขเกิดจากความพอดี และตัวความสุขถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สูงส่งที่สุด และน่าพึงพอใจที่สุด และการทำตามความสุขก็เป็นการกระทำที่ดีที่สุดด้วย)
  • คนที่มีความสุขจะไม่ได้รับความทุกข์เลยตลอดชีวิต เพราะความสุขเป็นผลได้ในตัวเองและสิ้นสุดในตัวเองด้วย แต่กิจกรรมความสุขนี้ต้องเป็นไปตลอดชีวิต ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือแป๊บเดียว
  • ความสุขเป็นสิ่งซึ่งมีค่าสูงที่สุดและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เพราะการกระทำต่างๆ ของเราต่างก็มุ่งไปที่ความสุข ดังนั้น ความสุขจึงไม่จำเป็นต้องได้รับการยกย่องหรือสรรเสริญเยินยอดังเช่นความยุติธรรม เพราะมันสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว
  • ความสุขเป็นสิ่งที่สอดคล้องต้องกันได้กับคุณธรรม
  • คุณธรรมแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ทางสติปัญญา และทางศีลธรรมจรรยา คุณธรรมทางสติปัญญาประกอบด้วย ปรัชญา ความรอบรู้ และปรีชาญาณ ส่วนคุณธรรมทางศีลธรรมจรรยา ประกอบด้วยความมีใจกว้างและความพอดี

สรุป

มีโครงสร้างคำตอบเป็น 3 จังหวะ ด้วยกัน

  • จังหวะแรก ก็ตอบง่ายๆ ที่ว่าทำดีนั้น จุดมุ่งหมายสูงสุดในการกระทำของมนุษย์นั้น ก็คือ การได้มาซึ่งชีวิตที่ดี เป็นเป้าหมายหลักของการกระทำที่ควรจะเป็นของมนุษย์ เป็นเป้าหมายสูงสุด
  • จังหวะที่ 2 ชีวิตที่ดีคืออะไร ชีวิตที่ดีก็คือการได้กระทำอะไรก็ตามที่สอดคล้องกับหน้าที่ของมนุษย์ ชีวิตที่ดำเนินสอดคล้องกับหน้าที่ของมนุษย์
  • จังหวะที่ 3 ก็คือ หน้าที่ของมนุษย์นั้นจะสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า virtue
    - character มนุษย์แต่ละคนจะมีลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นเหมือนก้อนหิน จะรู้ได้ต้องถามคนอื่นดู เช่น ขยัน, เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจดี, ช่วยเหลือคน, ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่
    - trait คือสิ่งที่เรามองไม่เห็นแต่ใหญ่กว่าสิ่งที่เราเห็น นั้นก็คือสิ่งที่อยู่ในตัวของเรา เป็นคุณสมบัติที่ (ซ่อน) อยู่ในตัวของเรา เป็นนามธรรม

สรุปเนื้อหา ดังนี้

  • ใน Nicomachean Ethics โยงเข้ากับ Politics ได้อย่างไร
  • ใน Politics อริสโตเติลพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง นาย (master) และทาส (slave)
  • คำถามของอริสโตเติล : ความสัมพันธ์ระหว่างนายและทาส เป็นไปโดยธรรมชาติ หรือโดยกฎ?
  • เพื่อที่จะให้ได้คำตอบ เขาโยงเข้ากับการพูดถึงนายและทาสของครัวเรือน และเรื่องเครื่องมือ (instrument) ในครัวเรือน
  • เขาบอกว่า เครื่องมือมีทั้งที่ไม่มีชีวิตและมีชีวิต
  • เครื่องมือมีทั้ง instrument of production (เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต) และ instrument of action (เครื่องมือที่ถูกนำไปใช้) เช่น กระสวยทอผ้า เป็นเครื่องมือที่ผลิตอย่างอื่น และก็เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ด้วย แต่เสื้อผ้าเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้อย่างเดียว Instrument ทั่วไป เป็น instrument of production แต่ possession เป็น instrument of action ซึ่งทั้ง production และ action ต่างก็ต้องการ instrument และตัว instrument เองก็แตกต่างกัน/มีหลายชนิดด้วย ซึ่ง instrument จะไม่สามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าไม่มีคนไปทำหรือ guide มัน
     
  • ทาส เป็นเหมือนเครื่องมือชนิดหนึ่ง; ทรัพย์สมบัติ (possession) ก็เป็นเครื่องมือสำหรับการดำรงชีวิตอยู่เช่นกัน; ดังนั้น ในการจัดลำดับชั้นของครอบครัว ทาสจึงเป็นทรัพย์สมบัติที่มีชีวิต เป็นทรัพย์สินหนึ่งที่นับรวมอยู่ในเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหลาย ซึ่งถูกจัดให้อยู่ก่อนเครื่องมือชนิดอื่นๆ ของนาย Live is action and not production, and therefore the slave is the minister of action ชีวิตคือการกระทำไม่ใช่การผลิต ดังนั้นทาสจึงเป็นเครื่องมือของการกระทำ
     
  • A possession is spoken of as a part is spoken of; for the part is not only a part of something else, but wholly belongs to it; and this is also true of a possession; ในแง่ของเจ้าของ possession หนึ่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเจ้าของซึ่งมีหลาย possession แต่ในมุมของ possession possession หนึ่งเป็นทั้งหมดของเจ้าของ และไม่ใช่เจ้าของต้องเป็นทั้งหมดของ possession เช่นเดียวกับ master และ slave นายเป็นเพียงนายของทาส ไม่ใช่ต้องเป็น(belong)ของทาส แต่ทาสไม่ใช่เป็นเพียงทาสของนาย แต่ต้องเป็นทั้งหมดของนายด้วย
     
  • มนุษย์ตามธรรมชาติประกอบด้วย soul และ body นายจะมี soul ส่วนทาส (possession) มี body แต่ก็มีมนุษย์บางคนที่มีทั้ง soul และ body ซึ่งคนเหล่านี้บ่อยครั้งที่มักจะปรากฏว่า body เป็นตัวปกครอง soul เพราะพวกเขา evil และ unnatural condition ดังนั้นจึงเป็นการเจ็บปวดถ้าจะทำให้คนเท่ากัน เพราะธรรมชาติมันไม่เท่ากัน
     
  • ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายและทาส ในลักษณะนี้ เป็นไปโดยธรรมชาติ คือเป็นเรื่องปกติที่มีผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง
     
  • นายและทาสของครัวเรือน ก็นำมาอธิบาย ผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองของรัฐได้ ซึ่งการปกครองของนายที่มีต่อทาสนี้ ก็มีหลายแบบ แบบเผด็จการหรือแบบมีกฎ(constitutional) ทาสก็มีหลายแบบ แบบที่ปกครองง่ายกับปกครองยาก |
     
  • ถึงแม้ว่าการปกครองของนายกับทาสจะเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่ก็มีทาสอีกแบบที่ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ คือเป็นไปโดยกฎ นั่นก็คือ ทาสเชลยศึก
     
  • แต่ตรงนี้มีคนไม่เห็นด้วย คือ (1) แล้วถ้าสาเหตุของการทำสงครามมันไม่ยุติธรรมล่ะ? (2) ไม่มีใครที่จะยอมว่าตัวเองเป็นทาสทั้งๆ ที่ตัวเองไม่สมควร คือ เขาอยู่ใน highest rank แต่มาเป็นทาสหรือเป็นลูกทาสเพราะเขาหรือพ่อแม่เขาบังเอิญถูกจับเป็นเชลยและขาย เช่น ชาวกรีก (Hellenes) ก็จะคิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าชนชาติอื่นๆ และก็จะไม่เรียกตัวเองว่าทาส แต่ไปจำกัดความเป็นทาสให้กับพวก barbarian ดังนั้น จึงกลับไปตรงกับที่พูดส่วนแรก คือ ทาสโดยธรรมชาติ

สรุป Politics

  • ทาส ถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนาย
  • ความสัมพันธ์ระหว่างนายและทาส มี 2 ประเภท
  • เป็นไปโดยธรรมชาติ ถ้าใช้ผิด ถือว่าอันตรายมาก
  • เป็นไปโดยกฎ คือ ถ้าบางคนที่โดยธรรมชาติแล้วสามารถเป็นเพื่อนกันได้ แต่กลับต้องมาเป็นทาส ก็แสดงว่าเขาเป็นทาสโดยกฎนั่นเอง

ความยุติธรรมของอริสโตเติล ก็คือการทำให้พอดี ซึ่งแต่ละคนก็มีความพอดีไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงต้องทำให้พอดีตามคุณสมบัติของแต่ละคน นั่นเอง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย