วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ภาวะโลกร้อนกับการประมง

เรียบเรียงโดย อนุสรา แก่นทอง

     เมื่อไม่นานมานี้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับภัยพิบัติเกี่ยวกับโลกออกมาให้ชมเรื่องหนึ่ง ซึ่งสร้างอ้างอิงตามความเชื่อของชนเผ่ามายาว่า มนุษย์จะต้องพบกับวันสิ้นโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จัดเป็นหนังที่ทำให้คนดูตื่นเต้นไม่น้อยกับภาพและเอฟเฟคที่ทำได้เหมือนจริง แต่มันคงไม่ดีแน่หากทุกอย่างจะเกิดขึ้นจริงกับโลกของเรา ทุกวันนี้มีปรากฏการณ์ธรรมชาติให้เราประสบพบเจอกันบ่อย ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงทีละเล็กละน้อยหรอกนะค่ะ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง วาตภัย อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง พายุเทอร์นาโด แผ่นดินถล่ม ล่าสุดก็คือ กาดเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศเฮติที่ทำให้ผู้คนนับแสนต้องตาย นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีอย่าง “ภาวะโลกร้อน” ภาวะโลกร้อน (Global Warming) คือ ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของผืนโลกและผิวมหาสมุทรสูงขึ้น เนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า จากกิจกรรมการผลิต และการบริโภคของมนุษย์ ล้วนแต่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกลอยขึ้นไปสะสมตัวในชั้นบรรยากาศ และเมื่อมีการสะสมตัวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์สะท้อนกลับออกนอกชั้นบรรยากาศได้น้อยลง พลังงานความร้อนดังกล่าวจึงถูกกักเก็บเอาไว้ใต้ชั้นบรรยากาศมากขึ้น จึงเป็นที่มาของภาวะโลกร้อนนั่นเองค่ะ การเกิดภาวะโลกร้อน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาวะโลกร้อนกลายเป็นคำที่ได้ยินกันหนาหูมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างทั้งการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว การประมง สัตว์ รวมถึงตัวมนุษย์เอง ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศที่พัฒนาแล้วเท่าที่ควร

สำหรับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงสามารถพิจารณาได้จากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

เมื่อโลกร้อนขึ้น จะทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายเพิ่มมากขึ้น ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเห็นได้จากหาดทรายและพื้นที่ชายฝั่งของบ้านเราที่ลดน้อยลง สำหรับผลกระทบที่มีต่อการทำประมงได้แก่

  • การรุกล้ำของน้ำเค็ม ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม โดยน้ำจืดจะมีปริมาณลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้มนุษย์ขาดแคลนน้ำจืดสำหรับบริโภค และปลาน้ำจืดอาจเกิดการสูญพันธุ์ได้
  • การสูญพันธุ์ของพืชใต้น้ำ เพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้แสงส่องลงไปไม่ถึงด้านล่าง พืชใต้น้ำจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ดังนั้นสัตว์น้ำทะเลบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้เนื่องจากขาดแคลนแหลางอาหาร
  • พื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งจัดเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำพบว่าจะมีจำนวนพรรณไม้ลดลง เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้พืชตาย

 

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การกัดเซาะชายฝั่ง

เมื่อโลกร้อนขึ้น แม้ในบางพื้นที่จะประสบกับความแห้งแล้งจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้นได้ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลกระทบต่อการประมงมากมายเช่น

  • เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปะการังสูญเสียซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งเป็นสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นในของปะการังและเป็นตัวที่ช่วยสร้างสีสันให้กับปะการังตาย เหลือแค่เพียงสีขาวของหินปูนแทน ผลที่ตามมาก็คือสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังก็จะลดลง
  • เกิดการบลูมของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อแหล่งน้ำมีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์ประกอบกับช่วงเวลานั้นมีอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น ก็จะทำให้พวกแพลงก์ตอนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลพวงลูกโซ่ที่ตามมาก็คือ เมื่อในน้ำมีแพลงก์ตอนเป็นจำนวนมาก ก็ย่อมต้องการใช้ออกซิเจนในการหายใจมากตามไปด้วย ออกซิเจนในน้ำจึงลดลง สิ่งมีชีวิตในน้ำก็จะตายลงในที่สุด
  • เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในบ้านเรานั่นก็คือ น้ำทะเลฝั่งอันดามันเย็นลงในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน และในฝั่งอ่าวไทยน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน และจากรายงานของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าปี 2550 ที่ผ่านมานั้นเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นเดิมนั่นคือ น้ำทะเลฝั่งอันดามันเย็นลงซึ่งนอกจากจะเย็นลงแล้วพบว่ายังมีตะกอนขุ่นด้วย และตะกอนดังกล่าวนี้ก็มีธาตุอาหารจำนวนมากพอที่จะทำให้พวกแพลงก์ตอนเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเป็นแพลงก์ตอนที่มีพิษก็จะทำให้นักท่องเที่ยวที่มาดำน้ำรู้สึกคัน ๆ ที่บริเวณผิวหนังได้ ข้ามฟากไปยังชายฝั่งทะเลของประเทศเปรู เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลัง กระแสลมพื้นผิวเปลี่ยนทิศทาง พัดจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือไปทางตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเหนือชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ก่อให้เกิดฝนตกหนัก กระแสลมพัดกระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันบริเวณชายฝั่งประเทศเปรู ทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ ส่งผลกระทบให้บริเวณชายฝั่งขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเล ชาวประมงจึงขาดรายได้

เมื่อโลกร้อน สิ่งมีชีวิตในน้ำจะต้องเผชิญกับสภาวะน้ำทะเลเป็นกรด สาเหตุสำคัญเกิดมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายลงสู่ผิวมหาสมุทร แล้วมีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเคมีของน้ำเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่า pH ของน้ำลดลง และเกิดการสะสมของกรดคาร์บอนิก สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างหอยแมลงภู่ หอยนางรม ก็จะไม่สามารถสร้างเปลือกได้ตามปกติ อุตสาหกรรมประมงก็ย่อมที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำทะเลเป็นกรดทำให้สิ่งมีชีวิตตาย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการทำประมง แต่ในความเป็นจริงผลกระทบจะเกิดขึ้นกับทุก ๆ ด้าน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงวันนั้นสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ก็ยากที่จะอยู่รอดได้

การช่วยบรรเทาความรุนแรงจากภาวะโลกร้อน เป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต หันมาใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติแทนพลังงานปิโตรเลียม เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการช่วยชะลอความรุนแรงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ได้ไม่มากก็น้อย

สาเหตุการเกิดมลภาวะโลกร้อน
เศรษฐกิจและการเงินโลกกับภาวะโลกร้อน
โลกร้อน สาเหตุ 10 ปรากฏการณ์ประหลาด
ภาวะโลกร้อน ผลกระทบต่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูง
ภาวะโลกร้อนกับชีวิตพอเพียง
ภาวะโลกร้อนกับการประมง
ฟันฉลาม ไขปริศนาภาวะโลกร้อน
ถุงพลาสติกกับภาวะโลกร้อน
หลอดตะเกียบ ประหยัดไฟลดภัยโลกร้อน
กินอาหารลดโลกร้อน
80 วิธีลดภาวะโลกร้อน
10 ข้อ ใกล้ตัวลดโลกร้อน
ฉลากคาร์บอน
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อเกษตรไทย
ประเทศไทยกับภาวะโลกร้อน
เตรียมรับมือกับภาวะโลกร้อน

ขอขอบคุณเวบไซต์ต่าง ๆ ที่ทำให้เราสามารถมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

http://www.fm100cmu.com/fm100/100programs_detail.php?id_sub_group=58&id=1806
http://blogazine.prachatai.com/user/suchana/
http://phakri.exteen.com/20091106/entry-2
http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1234
http://www3.ipst.ac.th/biology/main.php?url=article_view&article_id=82
http://www.oknation.net/blog/actaullyaccess/2007/10/24/entry-2

เอกสารอ้างอิง

  • นิวัติ สุธีมีชัยกุล ชุติมา ขมวิลัย และวิสุทธิ์ วีระกุลพิริยะ.2552.ภาวะโลกร้อนกับการประมงมหันตภัยที่ไม่ควรมองข้าม.ว.การประมง 62: 71-73.
  • นิรนาม.เอลนีโญ.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%8D.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย