สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เสรีภาพแห่งท้องทะเล

ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์

       Hugo Grotius บิดาแห่งกฎหมายทะเลชาวเนเธอแลนด์ เป็นผู้นำแนวคิดเสรีภาพแห่งท้องทะเลมาสู่ชาวโลกในปี ค.ศ. 1603 อีกครั้งและเป็นครั้งสำคัญเพราะทำให้คนทั่วโลกได้สัมผัสกับหลักเสรีภาพที่มีการรับรองไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982

เหตุที่กล่าวว่า “อีกครั้ง” เพราะครั้งแรกเป็นการประกาศของชาวโรมันในสมัยกษัตริย์ JUSTINIEN แต่ดูจะเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของชาวโรมันเสียมากกว่า ทะเลนั้นไม่มีใครครอบครอง (ยกเว้นคนโรมัน) และเป็นของส่วนรวม (ของคนโรมันชาติเดียว) ในสมัยที่โรมันเป็นยุคจักรวรรดินั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวโรมันเป็นประเทศที่ใช้ทะเลอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การค้าขายโดยเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของโรมันที่สำคัญคือการล่าอาณานิคม เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศเยอรมัน

นับแต่โลกรู้จักคำว่า เสรีภาพแห่งท้องทะเลจนมาถึงยุคปัจจุบัน เสรีภาพแห่งท้องทะเลได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการไปอย่างมากมาย เนื่องจากมนุษย์ได้พัฒนาประโยชน์จากทะเลต่างไปจากในอดีตโดยสิ้นเชิง ซึ่งมนุษย์เคยใช้ประโยชน์จากทะเลก็เพื่อการเดินเรือ และการประมงเท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่การใช้ประโยชน์จากทะเลเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในบริเวณทะเลซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจรัฐ คือ บริเวณที่เรียกว่าทะเลหลวง (HIGH SEA) ก็คือความเจริญและก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งความต้องการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติ ในทะเลของมนุษย์นั้นเอง

เมื่ออนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลฉบับแรก คือ อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 มีผลบังคับใช้ก็เท่ากับว่าโลกได้มีระบบกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ทะเลของรัฐชายฝั่งขึ้นแล้ว เพราะอนุสัญญาฉบับนี้ ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐชายฝั่งไว้ว่า ในแต่ละอาณาเขตทางทะเลนั้นรัฐชายฝั่งจะมีสิทธิและหน้าที่อย่างไรบ้าง ซึ่งอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 ได้แบ่งทะเลออกเป็นเขตตามชื่อของอนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับ นับเป็นครั้งแรกที่เสรีภาพแห่งทะเลหลวงได้ถูกลิดรอนโดยการครอบครองทะเลของมนุษย์โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือ คือ

  1. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขต
  2. อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป
  3. อนุสัญญาว่าการเขตประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากร
  4. อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง

สำหรับเสรีภาพแห่งท้องทะเลนั้น ได้ถูกบัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงซึ่งได้กำหนดเสรีภาพไว้ 4 ประเภทคือ

  1. เสรีภาพในการเดินเรือ
  2. เสรีภาพในการประมง
  3. เสรีภาพในการบิน
  4. เสรีภาพในการวางสายเคเบิ้ลและท่อใต้ทะเล

การที่อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงของอนุสัญญากรุง ค.ศ. 1958 ได้บัญญัติ 4 ประการ ก็น่าจะด้วยเหตุผลที่มนุษย์ ณ ช่วงเวลานั้นมีความสามารถที่จะทำกิจการหรือใช้ประโยชน์จากทะเลได้เท่านั้นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามกิจการที่ทุกรัฐ น่าจะมีสิทธิที่จะใช้ทะเลได้อย่างเท่าเทียมกัน ก็คงจะเป็นเสรีภาพในการเดินเรือ เสรีภาพในการประมงและเสรีภาพในการบิน แต่เนื่องจากเป็นเสรีภาพในทะเลหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่นอกเขตอำนาจรัฐและไม่มีใครอ้างสิทธิครอบครองได้ เพราะเป็นบริเวณที่ไกลจากฝั่งมาก รัฐที่จะใช้เสรีภาพทั้ง 3 นี้ได้เต็มที่ คงเป็นรัฐที่มีความสามารถทั้งทางเทคโนโลยีและเงินทุนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่เป็นมหาอำนาจทางทะเล เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น และรวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศเนเธอแลนด์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้นแทบจะไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมใช้เสรีภาพดังกล่าวได้เลย

ต่อมาเมื่อมีความเจริญทางเทคโนโลยี รวมทั้งความต้องการในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลหลวงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง ปี ค.ศ. 1960 ซึ่งเริ่มมีการประชุมเพื่อจัดทำร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลอีกฉบับในเวลาต่อมา เสรีภาพในการวางสายเคเบิ้ลและท่อใต้ทะเล จึงเป็นเสรีภาพที่มนุษย์รู้จักและใช้กันอย่างกว้างขวาง เพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่งสินค้าหรือแม้แต่ในครัวเรือน

ประเทศไทยในขณะนั้นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้มีโอกาสใช้เสรีภาพในทะเลหลวงครบทั้ง 4 ประการแม้ว่าจะเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นก็ตามที

ในที่สุดเมื่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 มีผลบังคับใช้เมื่อ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 หลังจากที่มีประกาศให้สัตยาบันครบ 60 ประเทศ ซึ่งในอนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดเสรีภาพในทะเลหลวงนั้นอีก 2 ประการซึ่งเป็นเสรีภาพที่เป็นผลมาจากกิจกรรมที่มนุษย์ สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลหลวงได้มากกว่าอนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958 นั่นเอง

ดังนั้น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 จึงกำหนดเสรีภาพไว้รวมเป็น 6 ประการคือ

  1. เสรีภาพในการเดินเรือ
  2. เสรีภาพในการบิน
  3. เสรีภาพในการประมง
  4. เสรีภาพในการวางสายเคเบิ้ลและท่อใต้ทะเล
  5. เสรีภาพในการทดลองวิทยาศาสตร์
  6. เสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและประภาคาร

จากเสรีภาพทั้ง 6 ประการข้างต้นนี้ มีเสรีภาพอีก 2 ประการ ที่ได้ถูกบัญญัติเพิ่มขึ้นมา แต่ก็เป็นเสรีภาพที่แลกกับการประกาศขยายและครอบครองบริเวณที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EXCLUSIVE ECONOMIC ZONE หรือ E.E.Z.) เป็นเสรีภาพที่น่าจะเป็นกิจกรรมของประเทศมหาอำนาจหรือประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วเท่านั้น เพราะเป็น 2 กิจกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงและเงินลงทุนมหาศาลด้วย จึงเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจะต้องรอไปอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถเข้าไปใช้เสรีภาพในทะเลหลวงครบทั้ง 6 ประการได้ในที่สุดไม่เว้นแต่ประเทศไทย

เมื่อพิจารณาดูเสรีภาพในทะเลหลวงตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 จะรู้สึกได้ว่า นี่เป็นการต่อสู้หรือชัยชนะของประเทศมหาอำนาจแน่นอน เพราะการมี 2 เสรีภาพนี้เพิ่มเติมขึ้นมาก็เพื่อรองรับศักยภาพของประเทศมหาอำนาจโดยแท้เพราะไม่ว่าตอนนี้หรือก่อนหน้านี้หรือในอนาคตก็คงจะไม่ใครได้ใช้เสรีภาพนี้แน่นอกจากประเทศมหาอำนาจ และอนุสัญญาฉบับนี้ยังได้มีการกำหนดเขตบริเวณพื้นที่ (THE AREA) ขึ้นมาโดยมีเจตนาที่จะปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวไว้เป็นมรดกตกทอดของมวลมนุษยชาติ (COMMON HERITAGE OF MANKIND) ทำให้การเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในบริเวณพื้นที่เป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที ดังนั้น หากสามารถกำหนดเสรีภาพในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและประภาคาร ก็อาจจะทดแทนการสูญเสียประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ได้ไม่มากก็น้อย



ปัจจุบันนี้จะมีข่าวการทดลองอาวุธในบริเวณมหาสมุทรอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีล่าสุดที่ประเทศรัสเซียได้ทดลองขีปนาวุธ และส่งผลให้เกิดลำแสงประหลาดขึ้นที่ประเทศนอรเวย์ ก็ด้วยการตีความว่าเสรีภาพในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในทะเลหลวงนั้น หมายความรวมถึงการทดลองอาวุธด้วยนั่นเองก็คงไม่ต้องสงสัยว่าประเทศใดบ้างที่จะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมนี้ในบริเวณดังกล่าว

ส่วนเสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและประภาคารนั้นก็คงไม่ต้องสงสัยว่าประเทศที่จะทำได้ก็ต้องเป็นมหาอำนาจอีกเช่นกัน ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็คงต้องรอไปก่อน

แต่สำหรับเสรีภาพในการเดินเรือกับเสรีภาพในการประมงดูจะเป็นเสรีภาพที่ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ล้วนได้ใช้ประโยชน์กันอย่างถ้วนหน้าเพียงแต่มากน้อยเท่านั้น ตัวอย่าง ไม่ไกลตัวก็คือประเทศไทยซึ่งแม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา (ด้อยพัฒนา? ในความรู้สึกของคนไทยบางคน) ก็ได้มีโอกาสเข้าไปใช้ได้อย่างเต็มภาคภูมิไม่เมิน รวมทั้งเสรีภาพในการบิน ด้วย

แต่อย่างไรก็ดีเสรีภาพทั้งหมดทั้งปวงนี้ยกเว้นเสรีภาพในการบินเท่านั้นได้กลายมาเป็นที่มาของปัญหาสภาวะแวดล้อมไปแล้วในเวลานี้ โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือ เสรีภาพในการประมงและเสรีภาพในการสร้างเกาะเทียมและประภาคารซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างมลภาวะให้กับทะเลหลวงอย่างมหาศาลทั้งสิ้น

การทำอุตสาหกรรมประมงรวมทั้งการขนส่งสินค้าทางทะเลได้มีการพัฒนา และมุ่งจะให้ได้กำไรมากที่สุดโดยไม่ได้คำนึงว่าการทำให้ได้มาซึ่งกำไรนั้นต้องทำร้ายทะเลหลวงอย่างไรบ้าง เช่น การใช้เรือซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ การทิ้งของเสียจากเรือหรือการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่เกิดในทะเล ดังนั้น มลภาวะจากกิจกรรมดังกล่าวจึงลงสู่ทะเลโดยตรง เช่นกัน โดยเฉพาะทะเลหลวงซึ่งถือว่าเป็นบริเวณทะเลที่มนุษย์ใช้ประโยชน์มากที่สุดในฐานะที่เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นแหล่งประมง รวมทั้งเป็นแหล่งควบคุมอุณหภูมิของโลกด้วย แต่เมื่อมนุษย์ทำร้ายทะเลหลวงโดยการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไม่ระมัดระวังจึงทำให้โลกต้องผจญกับภาวะโลกร้อนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อนนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญระดับโลกไปแล้ว และในปัจจุบันนี้ได้มีการประชุมเพื่อวางระเบียบและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ทะเลต้องพบภาวะมลพิษ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเตรียมพร้อมการสนองตอบและความร่วมมือเกี่ยวกับภาวะมลพิษน้ำมัน ค.ศ. 1990 (International Convention Oil Pollution Preparedness, Response and Cooperation, 1990) อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อป้องกันภาวะมลพิษจากเรือ ค.ศ.1973 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973) และอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแทรกแซงในทะเลหลวงในกรณีของความเสียหายจากภาวะมลพิษจากน้ำมัน ค.ศ.1969 (International Convention Relating to Intervention on the High Seas in Cases of Oil Pollution Casualties, 1969)

นอกจากนั้นยังมีอนุสัญญาฉบับล่าขึ้นอีกฉบับ คืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 และพิธีสาร ค.ศ. 1978 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, 1973 as Modified by the Protocol of 1978: MARPOL 73/78) ซึ่งเป็นอนุสัญญาซึ่งสร้างนั้นมาใช้บังคับกับการป้องกันมลภาวะในทะเลนี้เกิดจากเรือ ไม่ว่าจะเกิดโดยตั้งใจหรือจากอุบัติเหตุ รวมทั้งควบคุมการปล่อยน้ำมัน สารเคมีและวัสดุอันตรายในตู้สินค้า น้ำทิ้งและขยะ

การโดยสรุปก็คือ ทะเลซึ่งมีพื้นที่ถึง 71% ของผิวโลก ได้เป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นที่แสวงหาประโยชน์ได้ว่าจะเป็นทรัพยากรที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต โดยเฉพาะเป็นเส้นทางคมนาคมมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในที่สุดทะเลกลับต้องได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์จะต้องมาช่วยกันดูแลทะเลให้อยู่ในสภาพเดิมอย่างที่เคยเป็นมาและรักษาความเป็นเสรีภาพแห่งท้องทะเลไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ในเสรีภาพแห่งท้องทะเลต่อไปก่อนที่จะไม่มีทะเลไว้ให้ใช้

บรรณานุกรม

  • มัลลิกา พินิจจันทร์. กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2547.
  • อนุสัญญากรุงเจนีวา ค.ศ. 1958.
  • อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย