ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ความหมายของนิทาน
ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน
ความสำคัญของนิทานพื้นบ้าน
การแบ่งประเภทนิทานพื้นบ้าน
องค์ประกอบของการเล่านิทาน
จุดประสงค์ในการเล่านิทาน
ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่เห็นเด่นชัด คือ เป็นเรื่องเล่าที่มีการดำเนินเรื่อง อย่างง่ายๆโครงเรื่องไม่ซับซ้อน วิธีการที่เล่าก็เป็นไปอย่างง่ายๆตรงไปตรงมา มักจะเริ่มเรื่องโดยการกล่าวถึงตัวละครสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นพ่อ-แม่ของพระเอกหรือนางเอก แล้วดำเนินเรื่องไปตามเวลาปฏิทิน ตัวละครเอกพบอุปสรรคปัญหา แล้วก็ฟันฝ่าอุปสรรคหรือแก้ปัญหาลุล่วงไปจนจบเรื่อง ซึ่งมักจะจบแบบมีความสุข หรือสุขนาฏกรรม ถ้าเป็นนิทานคติ ก็มักจะจบลงว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า .. ถ้าเป็นนิทานชาดกก็จะบอกว่าตัวละครสำคัญของเรื่องในชาติต่อไป ไปเกิดเป็นใครบ้าง ถ้าเป็นนิทานปริศนาก็จะจบลงด้วยประโยค คำถาม ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน กุหลาบ มัลลิกะมาส (2518, หน้า 99-100) ได้สรุปไว้ดังนี้
- เป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาร้อยแก้วไม่ใช่ร้อยกรอง
- เล่ากันด้วยปากสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อการเขียนเจริญขึ้น ก็อาจมีการเขียนขึ้นตามเค้าเดิมที่เคยเล่าด้วยปาก
- ไม่ปรากฏว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่าฟังมาจากผู้เล่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง ผิดกับนิยายสมัยใหม่ที่ทราบตัวผู้แต่ง แม้นิทานที่ปรากฏชื่อ ผู้แต่งเช่น นิทานของกริมม์ ก็อ้างว่าเล่าตามเค้านิทานที่มีมาแต่เดิมไม่ใช่ตนแต่งขึ้นเอง
เจือ สตะเวทิน (2517, หน้า 16) ให้คำอธิบายลักษณะสำคัญของนิทานพื้นเมือง ไว้ดังนี้
- ต้องเป็นเรื่องเก่า
- ต้องเล่ากันด้วยภาษาร้อยแก้ว
- ต้องเล่ากันด้วยปากมาก่อน
- ต้องแสดงความคิด ความเชื่อของชาวบ้าน
- เรื่องจริงที่มีคตินับอนุโลมเป็นนิทานได้เช่น มะกะโท ชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น
โดยนัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่าลักษณะที่สำคัญที่สุดของนิทานพื้นบ้านคือเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดกันมาด้วยปากและไม่ทราบว่าผู้ใดแต่ง